Search

เล็บแข็งแรงและผมนุ่มสวยด้วยแร่ธาตุ Zinc

ปัญหาเล็บ
zinc ประโยชน์

เส้นผม และเล็บ ถือเป็นส่วนหนึ่งของผิวหนังประกอบด้วยเซลล์ของหนังกำพร้าที่กลายรูป และเต็มไปด้วยสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นผิวหนังที่ตายแล้ว และไม่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง หากไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ หรือขาดการบำรุงอย่างเหมาะสมอาจทำให้เล็บเปราะ หักง่าย หรือเล็บเหลืองไม่น่ามอง รวมไปถึงผมที่เสีย และขาดหลุดร่วงง่ายจากการทำสี ยืด หรือดัดด้วยสารเคมี

สาเหตุของปัญหาสุขภาพเส้นผมและเล็บ

ปัญหาเล็บไม่แข็งแรง และผมขาดหลุดร่วงง่ายอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ การสูญเสียความสมดุลของฮอร์โมน โรคภัยไข้เจ็บ ความเครียด และการดูแลเส้นผมที่ไม่ถูกวิธี การขาดสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ เช่น

  • กลุ่มวิตามินบี วิตามินซี หรือวิตามินอี ที่เป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีส่วนช่วยบำรุงเส้นผม และเล็บให้แข็งแรง
  • กลุ่มแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสีหรือซิงค์ที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างของผมและเล็บ เป็นต้น

อาการที่บ่งบอกว่าร่างกายขาด Zinc

การที่ร่างกายขาดซิงค์หรือแร่ธาตุสังกะสีเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายอย่างที่สังเกตได้
เช่น บาดแผลหายช้า ภูมิคุ้มกันลดลงส่งผลให้ติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น เบื่ออาหาร การรับรู้รสชาติอาหารลดน้อยลง มีอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขาดสมาธิ เหม่อลอย เป็นต้น อีกทั้งยังส่งผลให้เล็บ และเส้นผมมีความอ่อนแอลง โดยสามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ความผิดปกติของเล็บ เช่น เล็บเปราะแตกหักง่ายกว่าปกติ เล็บเป็นจุดสีขาวหรือที่เรียกว่าดอกเล็บ เล็บผิดรูปเป็นแบบโค้งงอ หรือเป็นลอน ลูบเล็บแล้วไม่เรียบ ไม่ลื่น เล็บมีสีผิดแปลกไป เป็นต้น อ่านต่อ 5 พฤติกรรมทำเล็บเปราะ หักง่าย
  • เส้นผมอ่อนแอ เช่น ผมแห้งไม่มีชีวิตชีวา ผมแตกปลาย ผมขาดง่าย ผมหงอกก่อนวัย สีผมเปลี่ยนเป็นสีขาว หรือสีเทา ผมร่วงมากกว่า 50-100 เส้น/วัน ซึ่งสังเกตจากผมบางลงเป็นหย่อมๆ หรือบางลงทั่วทั้งศีรษะ

Zinc หรือสังกะสีจำเป็นต่อผมและเล็บอย่างไร

แร่ธาตุสังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุจำเป็นที่ร่างกายต้องใช้ในขบวนการทางเคมีมากมาย โดยมีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์กรดนิวคลิอิก (Nucleic acid) และโปรตีนเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 200 ชนิด โดยเป็นแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม และเล็บ ดังนี้

  1. มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเคราตินในเส้นผม ทำให้เส้นผมแข็งแรง
  2. ช่วยควบคุมการทำงานของต่อมไขมันบนหนังศีรษะ และป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผมได้
  3. มีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเล็บ และผิวหนังรอบ ๆ โคนเล็บให้แข็งแรงขึ้น

Zinc มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?

1. แก้ปัญหาผมร่วง

ผู้ที่มีปัญหาผมร่วงส่วนใหญ่จะตรวจพบปริมาณแร่ธาตุสังกะสีในเลือดน้อยกว่าปกติ จากการศึกษาในผู้ที่มีปัญหาศีรษะล้านที่ทำการรักษาด้วยแร่ธาตุสังกะสีในรูปแบบซิงค์ซัลเฟต (Zinc Sulphate) 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน (เทียบเท่ากับปริมาณแร่ธาตุสังกะสีอิสระที่ควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 50-80 มิลลิกรัม) ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าแร่ธาตุสังกะสีช่วยให้เส้นผมงอกใหม่เพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน และสามารถลดหลุดร่วงได้หลังการรักษา
คนที่มีปัญหาผมหลุดร่วงจึงควรเสริมซิงค์ เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของเส้นผม และช่วยให้เส้นผมแข็งแรงมากขึ้น

2. ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น

เนื่องจากซิงค์มีส่วนสำคัญในขบวนการสร้างกรดนิวคลีอิค (Nucleic acid) ทั้งดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) โดยเฉพาะในระยะที่ร่างกายต้องการสร้างเซลล์ใหม่ เช่น หลังผ่าตัด ร่างกายเกิดบาดแผล หรือการอักเสบ เป็นต้น

3. ช่วยเสริมภูมิต้านทาน ป้องกันหวัดและลดระยะเวลาการเป็นหวัด

ซิงค์ช่วยในการปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยควบคุมการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดทีลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) ให้ทำงานป้องกันเชื้อโรคแปลกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. เสริมสร้างฮอร์โมนเพศชาย ช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิ

ซิงค์มีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์ และปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชาย จากการศึกษาพบว่า การรับประทานซิงค์หรือแร่ธาตุสังกะสีวันละ 24 มิลลิกรัมต่อเนื่อง 45-50 วันช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชายรวมถึงจำนวน และการเคลื่อนไหวของอสุจิได้อย่างชัดเจน จึงช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรสำหรับผู้ชายที่มีบุตรยากได้

5. ลดสิวและสมานแผล

ซิงค์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของปริมาณไขมันในผิวหนัง จึงช่วยลดปัญหาการเกิดสิวอุดตันจากไขมัน และช่วยให้เซลล์สามารถนำวิตามินเอไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ส่งผลให้เซลล์ผิวที่ถูกสร้างขึ้นใหม่มีสุขภาพดี และทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิวได้ด้วย

Zinc อาหาร

แหล่งอาหารที่ให้ Zinc และปริมาณที่ควรได้รับ

เนื่องจากร่างกายของเราไม่สามารถสร้างซิงค์ขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องบริโภคจากอาหารเท่านั้น ซึ่งแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่มีซิงค์หรือสังกะสีในปริมาณสูง ได้แก่ หอยนางรม เนื้อแดงปลา อาหารทะเล ถั่วและธัญพืช รวมถึงซิงค์ในรูปแบบอาหารเสริม โดยปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือ

  1. วัยผู้ใหญ่
    – ผู้ชาย : ประมาณ 11.6 มิลลิกรัม
    – ผู้หญิง : ประมาณ 9.7 มิลลิกรัม
    – ผู้หญิงตั้งครรภ์ : ประมาณ 11.3 มิลลิกรัม
    – ผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร : ประมาณ  12.6 มิลลิกรัม
  2. วัยเด็ก
    – อายุ 6–11 เดือน : ประมาณ 2.7 มิลลิกรัม
    – อายุ 1–8 ปี : ประมาณ 4.4–6.3 มิลลิกรัม
    – เด็กผู้ชายอายุ 9–18 ปี : ประมาณ  9.5–12.9 มิลลิกรัม
    – เด็กผู้หญิงอายุ 9–18 ปี : ประมาณ  9.0–9.8 มิลลิกรัม

วิธีการดูแลเส้นผมและเล็บด้วยตัวเองง่ายๆ

นอกจากการรับประทาน Zinc และโภชนาการที่ครบถ้วนแล้ว การดูแลเส้นผม และเล็บจากภายนอกก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นเดียวกัน โดยการดูแลรักษาความสะอาด การบำรุงผมและเล็บด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

  • หมั่นทำความสะอาดผมและเล็บอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้เกิดการสะสมเชื้อโรค
  • สระผมผมอย่างนุ่มนวล ไม่เกา หรือขยี้แรงๆ เพื่อลดการขาดหลุดร่วง
  • หลีกเลี่ยงการหวีผมแรงๆ หรือหวีผมขณะเปียก และควรเลือกใช้หวีปลายห่าง เพื่อลดการดึงเส้นผม
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี เช่น ย้อมสีผม ดัดผม บ่อยๆ หรือการใช้ไดร์ร้อนเป่าผมบ่อยๆ
  • ดูแลเล็บด้วยการใช้แปรงขนนุ่มกับสบู่ถูเบาๆ โดยเฉพาะบริเวณซอกเล็บแล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น จากนั้นทาครีมบำรุงมือ และเล็บนวดประมาณ 3-5 นาทีทุกวันหลังอาบน้ำ
  • รับประทานสารอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผม และเล็บโดยเฉพาะซิงค์หรือแร่ธาตุสังกะสี
อ้างอิง

-

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ผมร่วง

“ผมร่วง ผมบาง” ต้องแก้อย่างตรงจุด !!

ปัญหาเล็บ

เล็บแข็งแรงและผมนุ่มสวย... ด้วยตัวช่วยที่ชื่อ Zinc

ปัญหาเล็บ

5 พฤติกรรมทำเล็บเปราะบาง หักง่าย