วิตามินดี (Vitamin D) สิ่งที่ร่างกายต้องการ

วิตามินดี (Vitamin D) สิ่งที่ร่างกายต้องการ

   สนใจหัวข้อไหน... คลิกเลย

  รู้หรือไม่... คนไทย 45.2% มีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอ

  สาเหตุให้คนไทยขาดวิตามินดี (Vitamin D)

  วิตามินดี (Vitamin D) มีดีมากกว่าเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม

   ใครควรได้รับวิตามินดี (Vitamin D) เสริม?

  การเลือกรับประทานวิตามินดี (Vitamin D)

  ขนาดที่แนะนำให้รับประทาน


รู้หรือไม่... คนไทย 45.2% มีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอ

     วิตามินดี (Vitamin D) เป็นวิตามินที่ถูกสร้างขึ้นได้เองในร่างกาย ผ่านการกระตุ้นจากรังสี UVB ในแสงแดด โดยคนไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า ตนเองได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ จึงไม่น่ามีปัญหาการขาดวิตามินดีในร่างกาย แต่ความเป็นจริงคือ คนไทยมักมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดด เพื่อลดปัญหาการเกิดผิวหนังอักเสบ รอยแดง รอยดำ จุดหมองคล้ำ และการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยมีสีผิวเข้ม มีเม็ดสีเมลานินในชั้นผิวหนังมาก ข้อดีคือ เม็ดสีเมลานินจะปกป้องผิวหนังจากการทำลายของแสงแดด ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง แต่ข้อเสียคือ เม็ดสีเมลานินเหล่านี้จะลดการกระตุ้นการสร้างวิตามินดีในร่างกาย เนื่องจากลดการส่องผ่านของรังสี UVB เข้าสู่ชั้นผิว ปัญหาการขาดวิตามินดีจึงเป็นปัญหาที่สามารถพบได้ในคนไทยเช่นเดียวกัน จากการศึกษาปัญหาการขาดวิตามินดีในคนไทย โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า 'คนไทยมากถึง 45.2% มีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา'

สาเหตุให้คนไทยขาดวิตามินดี (Vitamin D)

1.  พฤติกรรมหลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดด
     การกางร่ม การใส่เสื้อคลุมเพื่อบดบังการได้รับแสงแดดโดยตรง ทำให้ร่างกายได้รับรังสี UVB ในปริมาณความเข้มที่ไม่เพียงพอต่อการสร้างวิตามินดี เป็นเหตุให้ร่างกายขาดวิตามินดีได้

2.  การทาครีมกันแดด
     ครีมกันแดดสามารถป้องกันรังสี UVB ได้ 100% ปกป้องการทำลายชั้นผิวหนัง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ชั้นผิวหนังไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดการสร้างวิตามินดีด้วย

3.  อายุที่เพิ่มขึ้น
     ความสามารถในการสร้างวิตามินดีของชั้นผิวหนังจะลดลงสวนทางกับอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินดี

4.  การใช้ชีวิตในออฟฟิศ หรือรถยนต์ตลอดทั้งวัน
     รังสี UVB ไม่สามารถส่องผ่านชั้นกระจก หรือฟิล์มติดรถยนต์ได้ ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในออฟฟิศ หรือรถยนต์ตลอดทั้งวัน จึงเสี่ยงที่จะขาดวิตามินดี เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับการกระตุ้นการสร้างวิตามินดีจากรังสี UVB ได้

5.  สีผิวเข้ม
     คนผิวเข้มมีแนวโน้มที่จะสร้างวิตามินดีได้น้อยกว่าคนผิวขาว เนื่องจากเม็ดสีผิวเมลานินจะป้องกันการส่องผ่านของรังสี UVB คนที่มีสีผิวเข้มจึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาการได้รับแสงแดดที่นานกว่าคนผิวขาว เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างวิตามินดีได้เพียงพอต่อความต้องการ




วิตามินดี (Vitamin D) มีดีมากกว่าเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม

     ในทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับว่า วิตามินดีมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ ผู้ที่ขาดวิตามินดีจะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้ แต่ปัจจุบันมีการพบบทบาทอื่นๆ ของวิตามินดี โดยวิตามินดีจะออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมน จึงทำให้วิตามินดีมีบทบาทที่หลากหลายต่อร่างกาย ไม่เฉพาะแต่การเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม จึงเรียกได้ว่า 'วิตามินดีเป็นสารอาหารทีมีชื่อเป็นวิตามิน แต่มีความสำคัญคล้ายฮอร์โมน' บทบาท อื่นๆ ของวิตามินดี ได้แก่   

1.  ป้องกันการลื่นล้ม
     วิตามินดี (Vitamin D) จำเป็นต่อการยืด และหดของมัดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา ทำให้มัดกล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ตอบสนองต่อการก้าวเดิน และการทรงตัวได้ดี จากการศึกษาในคนไข้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มคนไข้ที่มีอัตราการลื่นล้มสูง พบว่า การรับประทานวิตามินดีปริมาณสูง สามารถลดโอกาสการลื่นล้มอันเนื่องจากกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงได้ 22%  ซึ่งจะป้องกันปัญหาการแตกหักของกระดูกภายหลังการลื่นล้มได้ โดยลดการแตกหักของกระดูกสะโพกได้ 30% และกระดูกบริเวณอื่นๆ ได้ 14%




อ้างอิงจาก A pooled analysis of vitamin D dose requirement for fracture prevention, N ENGL J MEDD 367;1. July 5,201
 
2.  ป้องกันโรคกระดูกพรุน
     โรคกระดูกพรุน คือโรคที่กระดูกมีความเปราะบาง ทนต่อแรงกระแทกได้น้อย และเกิดการแตกหักได้ง่าย ซึ่งจะทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง หรือเสียชีวิตได้ จากการศึกษาในกลุ่มคนไข้ที่กระดูกสะโพกแตกหักพบว่า 20% ของคนไข้เสียชีวิตใน 1 ปีแรก เนื่องจากเกิดโรคแทรกซ้อนในช่วงเวลาที่ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และอีก 50% ของคนไข้ไม่สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม4 คนไข้จึงมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ต้องการการดูแลจากญาติ และผู้ดูแลมากขึ้น การป้องกันโรคกระดูกพรุนสามารถทำได้โดยการรับประทานวิตามินดีปริมาณสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ รักษาสมดุลแคลเซียมในร่างกาย และลดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก จึงสามารถป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ 
3.  ป้องกันโรคกระดูกอ่อน
     โรคกระดูกอ่อนเป็นโรคทางกระดูกที่มีความคล้ายคลึงกับโรคกระดูกพรุน คือ กระดูกมีความเปราะบางเหมือนกัน แต่มีสาเหตุในการเกิดโรคที่แตกต่างกัน เรามักพบเจอปัญหาโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ แต่สำหรับโรคกระดูกอ่อนมักพบเจอในผู้ที่ขาดวิตามินดี และแคลเซียม โดยสามารถเกิดได้ในเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงาน คนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อแขน และขาทั้งสองข้าง ผู้ที่มีอาการของโรคกระดูกอ่อนจำเป็นต้องได้รับวิตามินดีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และกล้ามเนื้อ    
4.  ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิต้านทาน
     วิตามินดี (Vitamin D) มีบทบาทต่อการทำงานของระบบภูมิต้านทานในร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวตอบสนองต่อเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดการแบ่งตัวของไวรัสและแบคทีเรีย และลดการสร้างสาร cytokine
5.  ควบคุมการเจริญของเซลล์ในร่างกาย
     วิตามินดี (Vitamin D) มีบทบาทต่อการควบคุมการเจริญของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์ที่ลำไส้ เต้านม และต่อมลูกหมาก ทำให้การเจริญของเซลล์ต่างๆ ดำเนินไปอย่างปกติ 
6.  ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย
     วิตามินดี (Vitamin D) มีบทบาทในกระบวนการสร้างอินซูลินที่ตับอ่อน ทำให้ร่างกายสามารถสร้างอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายได้ 
7.  ควบคุมความดันโลหิตในร่างกาย
     วิตามินดี (Vitamin D) จะลดการสร้างสารเรนิน (Renin) ที่ไต เพื่อช่วยในการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย  



     จากบทบาทของวิตามินดี (Vitamin D) ที่มีมากกว่าเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมทำให้วิตามินดีเป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกายอย่างยิ่ง ผู้ที่ขาดวิตามินดีมักพบปัญหาการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคกระดูกอ่อน โรคกระดูกพรุน กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคมะเร็ง


ใครควรได้รับวิตามินดี (Vitamin D) เสริม?

1.  ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
     ทั้งชายและหญิง มีความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน และเสี่ยงต่อการลื่นล้มได้ง่าย เนื่องจากกล้ามเนื้อแขนขาไม่แข็งแรงจากภาวะการขาดวิตามินดี 
2.  ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
     ฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลง ทำให้กระบวนการสลายแคลเซียมเกิดมากขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน (อ่านเรื่องความจำเป็นของผู้หญิงวัยทองกับวิตามินดีแบบละเอียดได้ที่นี่) 

3.  ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี
     เนื่องจากร่างกายได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ เช่น กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ผู้ป่วยพักฟื้น  
4.  ผู้ที่ต้องการบำรุงกระดูก
     ป้องกันโรคกระดูกพรุน ควรรับประทานวิตามินดีปริมาณสูงร่วมกับการรับประทานแคลเซียมเสริม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคกระดูกพรุน


การเลือกรับประทานวิตามินดี (Vitamin D)

     การเลือกทานวิตามินดี (Vitamin D) ควรเลือกรูปแบบ วิตามินดี 3 หรือ Cholescalciferol ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่สร้างขึ้นในร่างกาย โดยร่างกายจะเปลี่ยนวิตามินดี 3 ให้อยู่ในรูปออกฤทธิ์ หรือ Active form ในเวลาที่ร่างกายมีความต้องการเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ วิตามินดี 3 เป็นรูปแบบวิตามินดีที่สะสมในร่างกายตามธรรมชาติ จึงให้ความปลอดภัยในการรับประทาน การรับประทานวิตามินดีเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน และปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการขาดวิตามินดี จำเป็นต้องรับประทานในปริมาณสูง 1,000 IU ต่อวัน จึงสามารถเพิ่มระดับวิตามินดีในกระแสเลือดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้


ขนาดที่แนะนำให้รับประทาน

     แนะนำให้รับประทานวิตามินดี 3 (Vitamin D3) ขนาด 1,000 IU ครั้งละ 1 (เช็คให้ชัวร์... ว่าใครบ้างที่ต้องรับประทานวิตามินดีได้ที่นี่) 
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก

1.  มหาวิทยาลัยมหิดล (https://1th.me/No2D)

2.  โรงพยาบาลกรุงเทพ (https://1th.me/8KC1I)

3.  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (https://1th.me/p1jSL)

4.  คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (https://1th.me/Eunjb)

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้