Coenzyme Q10 ประโยชน์ที่มีมากกว่าการบำรุงผิว

Coenzyme Q10 ประโยชน์ที่มีมากกว่าการบำรุงผิว

โคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) สารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์มากกว่าการบำรุงผิว

     'โคเอนไซม์ คิวเทน' พบได้ในทุกเซลล์ของร่างกายที่มีชีวิต และมีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยโคเอนไซม์ คิวเทน เป็นสารที่มีคุณสมบัติละลายในไขมัน โดยจะอยู่ที่ส่วนเยื่อหุ้ม (membrane) ของไมโตคอนเดรีย ที่ทำหน้าที่ในการผลิตพลังงานพื้นฐานของเซลล์ สามารถพบโคเอนไซม์ คิวเทน มากในอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูง เช่น หัวใจ สมอง ตับ ไต กล้ามเนื้อ การมีระดับ โคเอนไซม์ คิวเทนในร่างกายเพียงพอ จะทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานเป็นปกติอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากความสำคัญในการสร้างพลังงานพื้นฐานของเซลล์ต่างๆ แล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายอีกด้วย

  สนใจหัวข้อไหน... คลิกเลย

  ภาวะที่พบว่ามีปริมาณโคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) ลดลง

  ผลการศึกษาทางการแพทย์ถึงประโยชน์ของโคเอนไซม์ คิวเทน

  ผู้ที่เหมาะสมในการบริโภค

  คำแนะนำในการเลือกซื้อโคเอนไซม์ คิวเทน

  ขนาดรับประทานที่แนะนำ

 

ภาวะที่พบว่ามีปริมาณโคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) ลดลง

       การใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มสแตติน ผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคเอดส์ โรคไต โรคเหงือก โรคสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน

       ภาวะที่ร่างกายมีความเครียด เช่น ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ขาดอาหาร มีการติดเชื้อ การออกกำลังกายมากเกินไป

       วัยที่เพิ่มขึ้น พบปริมาณโคเอนไซม์ คิวเทน สูงสุด เมื่ออายุ 20 ปี หลังจากนั้น ปริมาณจะลดลงได้รับจากมื้ออาหารน้อยเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์

ผลการศึกษาทางการแพทย์ถึงประโยชน์ของโคเอนไซม์ คิวเทน

ประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

     จากความสำคัญของ โคเอนไซม์ คิวเทน ในการสร้างพลังงานของเซลล์ และการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องและชะลอการเสื่อมของเซลต่างๆ ทั่วร่างกาย จึงมีการนำมาใช้ เพื่อประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยพบว่าช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้น อาการของโรคหัวใจดีขึ้น ความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงลดลง

ประโยชน์ต่อสมอง 

     จากการศึกษาพบว่า ระดับโคเอนไซม์ คิวเทนในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน มีปริมาณ โคเอนไซม์ คิวเทน ในสมองลดลง เมื่อให้โคเอนไซม์ คิวเทน แล้วช่วยให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น

ประโยชน์ในการลดผลข้างเคียงของยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มสแตติน

     จากการวิจัยพบว่า ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มดังกล่าว ทำให้ปริมาณโคเอนไซม์ คิวเทนในร่างกายลดลง นำไปสู่อาการกล้ามเนื้อแขน ขาอ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ หากรุนแรงจะมีผลกระทบทำให้หัวใจ ตับทำงานผิดปกติ ซึ่งผลดังกล่าวจะพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยาปริมาณสูง ผู้ที่ใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวอื่น ๆ อยู่ก่อน

ประโยชน์ด้านอื่นของโคเอนไซม์ คิวเทน

     นอกจากมีประโยชน์ต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด สมอง และช่วยลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดไขมันคลอ เลสเตอรอลกลุ่มสแตตินแล้ว โคเอนไซม์ คิวเทน ยังชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น นักกีฬาออกกำลังกายได้นานขึ้น ลดอาการเหนื่อย อ่อนเพลียเรื้อรัง ลดภาวะเหงือกอักเสบ ป้องกันอันตรายที่เกิดจากรังสียูวี และชะลอการเกิดริ้วรอยของผิวเราได้อีกด้วย

ผู้ที่เหมาะสมในการบริโภค

       ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มสแตติน

       ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และหรือไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย

       ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ

       ผู้ที่มีภาวะการทำงานของสมองผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ , ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
     
       ผู้ที่มีภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง

       ผู้ที่ต้องการเสริมเพื่อป้องกันโรคจากความเสื่อมต่าง ๆ ของร่างกาย

คำแนะนำในการเลือกซื้อโคเอนไซม์ คิวเทน

     เนื่องจากโคเอนไซม์ คิวเทน ละลายได้ดีในไขมัน และโคเอนไซม์ คิวเทน ที่ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้ได้ดี จะต้องอยู่ในรูปแบบที่ละลายในน้ำมันและน้ำ เช่น รูปแบบที่เรียกว่า อีมัลชัน ในแคปซูลนิ่ม ที่ร่างกายจะดูดซึมได้ดีกว่า โคเอนไซม์ คิวเทน ที่อยู่ในรูปผงในแคปซูลชนิดแข็งหรือเม็ดแข็ง (tablet)

ขนาดรับประทานที่แนะนำ

       ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน ขนาดที่แนะนำให้ทาน ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

       ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรืออ่อนเพลียเรื้อรัง ขนาดที่แนะนำให้ทาน ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

       ผู้ที่ใช้ยาลดไขมันคลอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน (ที่มีโรคเบาหวาน และ/หรือความดันโลหิตสูงร่วมด้วย) ขนาดที่แนะนำให้ทาน ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

       ผู้ที่มีภาวะการทำงานของสมองผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์, ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หรือผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดที่แนะนำให้ทาน ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

      ผู้ที่ต้องการเสริมเพื่อป้องกันโรคจากความเสื่อมต่าง ๆ ของร่างกาย หรือเป็นโรคเหงือกอักเสบ ขนาดที่แนะนำให้ทาน ครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

More-information-buttoncontact-specialist-for-information-button

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้