'หัวใจ' ใครว่าไม่ต้องการการดูแล

'หัวใจ' ใครว่าไม่ต้องการการดูแล

โรคหัวใจจัดเป็นหนึ่งในโรคที่คุกคามชีวิตคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีการรายงานสถิติล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข (สิ้นสุดเดือนกันยายนในปี 2561) มีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงมากกว่า 430,000 คน นอกจากนี้ในรายงานชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 20,855 คน ต่อปี หรือเท่ากับการเสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน ซึ่งตัวเลขนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และจากสถิตินี้ยังส่งผลให้ ‘โรคหัวใจและหลอดเลือด’ กลายเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มโรคไม่ติดต่อรองจากอุบัติเหตุ (ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)

    ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตัน
           ภาวะไขมันในเลือดสูง
            ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตัน ซึ่งต้องระวังและป้องกัน
ในปัจจุบันแต่ละปีคนไทยมากกว่า 60,000 - 100,000 คน เสียชีวิตอย่างกระทันหันจากอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และคนไทยมากกว่า 39 ล้านคน กำลังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจในขณะนี้ ซึ่งสาเหตุหลักเนื่องจากการมีระดับไขมันในเลือดสูง
            สาเหตุหลักของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจคือ การมีระดับไขมันคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงผิดปกติ จนเกิดการสะสมและอุดตันที่ผนังหลอดเลือด ซึ่งแท้จริงแล้ว “ตับ” เป็นอวัยวะหลักในการสร้างไขมันคอเลสเตอรอล
ถึง 80% ที่เหลืออีก 20% เกิดจากการทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล ในขณะที่ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ส่วนใหญ่ได้มาจากการทานอาหารถึง 80% ได้แก่ กะทิ เนย ครีมต่างๆ 
             ภาวะไขมันในเลือดบางตัวสูงจะเป็นอันตราย (ไขมันชนิดร้าย) แต่ไขมันในเลือดบางตัวสูงกลับเป็นผลดีต่อร่างกาย (ไขมันชนิดดี) ไขมันชนิดร้ายที่เรารู้จักดี คือ คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) แอลดีแอล – คอเลสเตอรอล (LDL- Cholesterol) และไขมันชนิดดีที่เรารู้จักดี คือ เอชดีแอล – คอเลสเตอรอล (HDL-Cholesterol) ทางการแพทย์แนะนำว่าไม่ควรปล่อยให้โคเลสเตอรอลไม่ควรมีค่าเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรแอลดีแอล คอเลสเตอรอล มีค่าเกิน 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และไตรกลีเซอร์ไรด์ ควรตํ่ากว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในขณะที่ควรจะมีเอชดีแอล คอเลสเตอรอล มากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
              ปัจจุบันนอกจากยาที่ช่วยลดไขมันในเลือด แล้วมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มขึ้นถึงสารอาหารจากธรรมชาติหลายชนิด ที่เป็นทางเลือกในการลดไขมันในเลือดสำหรับผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดยังไม่สูงมากก่อนตัดสินใจใช้ยา ซึ่งสารอาหารจากธรรมชาติเหล่านี้ ได้แก่

    นํ้ามันปลา (Fish Oil)
         เป็นสารอาหารประเภทไขมัน ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันในกลุ่ม Omega-3 ซึ่งมีกรดไขมันที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ
         1. EPA (Eicosapentaenoic Acid) กรดไขมัน EPA มีส่วนช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ป้องกันไขมันอุดตันหลอดเลือด ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุในการเกิดโรคหัวใจและสมองอุดตัน นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบจากข้อเสื่อม ข้อรูมาตอยด์ โดยจะช่วยลดอาการปวดข้อ ทำให้ลดปัญหา
ผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารจากการทานยาแก้ปวดข้อ (NSAIDs) เป็นเวลานานๆ ได้
         2. DHA (Docosahexaenoic Acid) กรดไขมัน DHA มีบทบาทที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาสมองและสายตา ช่วยเสริมสร้างและป้องกันความเสื่อมของสมอง การเรียนรู้ และความจำ รวมถึงระบบสายตา ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
         ปัจจุบันมีการยืนยันผลการวิจัยทางการแพทย์ถึงประโยชน์ที่สำคัญของกรดไขมัน Omega-3 จากนํ้ามันปลาต่อร่างกายในการลดความเสี่ยงหรือป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้ โดยจะมีการระบุถึงความสำคัญของการรับประทานกรดไขมัน Omega-3 อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ จนกระทั้งเป็นเดือน หรือเป็นปี จะส่งผลที่ดีต่อร่างกายในการป้องกันของหลอดเลือดลดอัตราการตายจากภาวะหัวใจวาย รวมทั้งช่วยลดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ สูงถึง 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร นํ้ามันปลาก็ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ คือ ความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายสามารถใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้ นอกจากนี้ก็ยังมีรายงานถึงผลดีสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในระดับเริ่มต้น ซึ่ง Johns Hopkins Medical School ได้สรุปรวบรวมผลการศึกษาจาก 17 รายงานการศึกษาทางคลีนิคพบว่าการรับประทานนํ้ามันปลาประมาณ 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน (จากปริมาณ EPA+DHA) สามารถช่วยลดความดันล่าง (diastolic pressure) ได้ 3.5 มม.ปรอท และลดความดันบน (systolic pressure) ได้ถึง 5.5 มม.ปรอท และได้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อจำกัดอาหารเค็มร่วมด้วยโดยนํ้ามันปลาจะไม่มีผลกับความดันในผู้ที่มีความดันโลหิตปกติ

    คริลออยล์ (Krill oil)
         Krill Oil บริสุทธิ์จะอุดมไปด้วยกรดไขมัน Omega-3 ซึ่งประกอบไปด้วยกรดไขมัน EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) ที่อยู่ในรูปแบบจับกับสาร Phosphatidylcholine ธรรมชาติ ทำให้การย่อยและการดูดซึมกรดไขมัน Omega-3 ในร่างกายดีขึ้น นอกจากนี้ คริลล์ออย ยังอุดมไปด้วยกรดไขมัน Omega-6 และ Omega-9 รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระสีแดงที่ชื่อ Astaxanthin ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไลโคปีน (Lycopene) และเบต้า-แคโรทีน
จากสารสำคัญต่างๆเหล่านี้ จึงทำให้คริลล์ออยมีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด โดยการช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไขมันอุดตันเส้นเลือดหัวใจ โดยการช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    สารสกัดโพลีโคซานอล (Policosanol)
         สารสกัดจากธรรมชาติกลุ่มโพลีโคซานอล (Policosanol) ที่พบเฉพาะในไขเปลือกอ้อย (Saccharumofficinarum, L.) อุดมไปด้วยคุณค่าบริสุทธิ์ของสารอาหารจากธรรมชาติ และมีโครงสร้างทางเภสัชวิทยาคล้ายยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกลุ่มสแตนติน
       จากการทำการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มากกว่า 60 การวิจัย ในผู้ป่วยที่มีไขมันคอเลสเตอรอลสูงมากกว่า 3,000 คนทั่วโลก และผลการวิจัยเรื่องนี้ก็ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ American Heart Journal ถึงคุณประโยชน์ของสารสกัดโพลีโคซานอล (Policosanol) ในการลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดรวม และไขมันคอเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL-Cholesterol)ช่วยบำรุงตับให้สร้างไขมันโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-Cholesterol) ซึ่งมีหน้าที่นำพาไขมันที่สะสมและอุดตันตามผนังหลอดเลือดกลับไปทำลายที่ตับ ช่วยลดภาวะการอุดตันของเกล็ดเลือดได้ถึง 50% ป้องกันภาวะความหนาตัวของผนังหลอดเลือด และฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและตับ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ พบว่าสำหรับผู้ที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงประมาณ 200-239 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรควรรับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม และสำหรับผู้ที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงประมาณ 240-299 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรรับประทานวันละ 10-20 มิลลิกรัมหลังอาหารเย็น หรือก่อนนอน

    เลซิติน (Lecithin)
         เลซิติน เป็นสารประกอบระหว่างกรดไขมันจำเป็น ฟอสฟอรัส และวิตามิน บี สองชนิด ได้แก่ โคลีน (Choline) และ อิโนซิตอล (Inositol) เลซิตินเป็นสารที่พบมากในอาหารหลายชนิด เราสามารถพบเลซิตินได้ในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ สำหรับร่างกายมนุษย์พบมากที่สมอง ซึ่งมีเลซิตินเป็นส่วนประกอบถึง 30% ส่วนใหญ่เลซิตินที่จำหน่ายในปัจจุบันสกัดมาจากถั่วเหลือง
         เลซิติน มีส่วนช่วยให้ไขมันที่ทานเข้าไปแตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ เนื่องจากเลซิตินมีหน้าที่เป็นตัวทำละลายไขมันในกระแสเลือด ดังนั้นเมื่อเลซิตินผ่านไปในกระแสเลือด จึงช่วยละลายไขมันที่จับตามผนังหลอดเลือด มีผลในการควบคุมระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดและเพิ่มการไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้นช่วยป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ช่วยเสริมสร้างการทำงานของตับในการเร่งการเผาผลาญไขมัน ทำให้ตับทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น จากหลักฐานทางวิชาการพบว่า เลซิตินช่วยบำรุงตับ ป้องกันโรคตับแข็งและลดการเกิดนิ่วในถุงนํ้าดี ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ที่มีภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูง และสำหรับการบำรุงตับ ป้องกันโรคตับแข็ง ควรรับประทาน วันละ 1,200-3,600 มิลลิกรัม สำหรับลดไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรทานวันละ 3,600-7,200 มิลลิกรัม

    นํ้ามันกระเทียม (Garlic Oil)
         นํ้ามันกระเทียมมีหลายรายงานการศึกษาที่รายงานถึงผลการช่วยลดไขมันโคเลสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ โดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษา 220 คนรับประทานกระเทียมผงแห้ง 800 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือเทียบเท่านํ้ามันกระเทียม 2-5 มิลลิกรัมต่อวันหรือกระเทียมสด 2-5 กรัมต่อวัน) เป็นเวลา 4 เดือน พบว่าไขมันโคเลสเตอรอลลดลง 12% และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ 17%
         ที่มหาวิทยาลัย Munich University ในประเทศเยอรมันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไขมันคอเลสเตอรอล โดยใช้นํ้ามันกระเทียมเป็นยาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือด พบว่าผู้รับประทานอาหารไขมันตํ่า ไขมันคอเลสเตอรอลจะลดลง 10% และเมื่อได้รับกระเทียมร่วมด้วยจะช่วยให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลลดลงเพิ่มขึ้นอีก 10% สำหรับการลดไขมันในเลือดหรือลดความดันโลหิตสูงควรรับประทานวันละ 2-5 มิลลิกรัม

    โคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10)
         ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกลุ่มสแตตินเป็นกลุ่มยาลดไขมันที่มีการใช้กันมาก จากการวิจัยพบว่า ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มนี้ทำให้ปริมาณโคเอนไซม์ คิวเทนในร่างกายลดลง เนื่องจากขั้นตอนการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไขมันคอเลสเตอรอล จะยับยั้งการสร้างโคเอนไซม์ คิวเทนไปด้วย นำไปสู่การขาดโคเอนไซม์ คิวเทน ซึ่งอาการเริ่มแรกจะสังเกตได้จากการมีภาวะกล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรงปวดกล้ามเนื้อ หากรุนแรงจะมีผลกระทบกับอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ตับ ทำงานผิดปกติได้ ผลกระทบดังกล่าวจะพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยาปริมาณสูงผู้ที่ใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวอื่นๆ อยู่ก่อน และพบว่าเมื่อให้โคเอนไซม์คิวเทนเสริม วันละ 100-200 มิลลิกรัม จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้

    วิตามินอี ธรรมชาติ (Natural Vitamin E)
        ‘วิตามินอี’ เป็นสารต้านอนุมุลอิสระที่สำคัญที่สุดในการขัดขวางกระบวนการที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว โดยป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน เนื่องจากเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายได้ดีในไขมัน จะช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ  และป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้หลอดเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีรายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ พบว่าคนไข้ที่ได้รับวิตามิน อี ธรรมชาติ วันละ 400-800 หน่วยสากล จะช่วยลดการเกิดอาการโรคหัวใจวายเฉียบพลันถึง 77% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามิน อี

            โรคความดันโลหิตสูง
              ในปัจจุบัน ‘ความดันโลหิตสูง’ กลายมาเป็นปัญหาทางสุขภาพของคนทั่วโลกมากขึ้น และคาดว่าในปี ค.ศ. 2025 อัตราส่วนของการเกิดความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น 29% ของผู้ใหญ่ทั้งโลกหรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 1,560 ล้านคนสำหรับประเทศไทยสามารถพบในผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งความดันโลหิตสูงหมายถึง ภาวะที่ระดับความดันโลหิต 140/90 มม.ปรอท หรือมากกว่าซึ่งจะเป็นค่าบนหรือค่าล่างก็ได้
                โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นเมื่อรู้ตัวว่าเป็นส่วนมากจะไม่ได้รับการดูแลรักษาส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากไม่มีอาการ ทำให้คนส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจเมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงจะเริ่มสนใจและรักษาซึ่งบางครั้งก็อาจจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควรการควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดโอกาสเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

  ปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิต
ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังนี้

อายุ : ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ขณะอายุ 18 ปี ความดันโลหิต เท่ากับ 120/70 มม.ปรอท แต่พออายุ 60 ปี ความดันโลหิตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 140/90 มม.ปรอท แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้นเสมอไป อาจวัดได้ 120/70 มม.ปรอท เท่าเดิมก็ได้


ช่วงเวลาแต่ละวัน : ความดันโลหิตจะขึ้นลงไม่เท่ากันตลอดวัน ตัวอย่างเช่น ในตอนเช้าความดันโลหิตอาจลดลงเนื่องจากอัตราการเผาผลาญภายในเซลล์ (Metabolic rate) ลดลงและเพิ่มขึ้นตลอดวันจนสูงสุดช่วงบ่ายหรือตอนเย็น และต่ำลงในตอนกลางคืน

จิตใจและอารมณ์ : พบว่ามีผลต่อความดันโลหิตได้มากขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท ภายหลังการพักผ่อนความดันโลหิตก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้หรือเมื่อรู้สึกเจ็บปวดก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน

เพศ : พบว่าเพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง

พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม : ผู้ที่มีบิดาและมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัวแม้แต่สิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียด ก็ทำให้มีแนวโน้มการเป็นโรคความดันสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

สภาพภูมิศาสตร์ : ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท

เชื้อชาติ : พบว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว

    วิตามินและสารอาหารที่แนะนำในการดูแลหัวใจและภาวะความดันโลหิตสูง     

        1. โคเอนไซม์คิวเทน เป็นสารสำคัญในการสร้างพลังงานพื้นฐานของเซลล์ในร่างกายและโดยเฉพาะหัวใจ ช่วยลดอนุมูลอิสระที่จะทำลายไนตริก ออกไซด์ซึ่งมีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด ขนาดรับประทานที่แนะนำ คือ วันละ 100 มิลลิกรัม
         2. น้ำมันปลา ช่วยควบคุมระดับไขมันในหลอดเลือด ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ขนาดรับประทานที่แนะนำ พิจารณาจากปริมาณ EPA+DHA ต้องได้รับวันละ 3,000 มิลลิกรัม
         3. น้ำมันกระเทียม ช่วยควบคุมระดับไขมันในหลอดเลือด ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ขนาดรับประทานที่แนะนำ คือวันละ 2- 5 มิลลิกรัม

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้