โรคหัวใจจัดเป็นหนึ่งในโรคที่คุกคามชีวิตคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยในปี 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มโรคไม่ติดต่อรองจากอุบัติเหตุโดยมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากถึง 4 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจโรคหัวใจสามารถแบ่งได้ 5 ประเภท ดังนี้
1. โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง
ถ้าความดันโลหิตสูงผิดปกตินานๆ หัวใจต้องทำงานหนัก ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นขนาดหัวใจโตขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้อาการ มักจะมีอาการเหนื่อยง่าย หอบเท้าบวมนอนราบไม่ได้นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยงอีกด้วย
2. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญได้แก่อายุที่มากขึ้นการสูบบุหรี่จัด ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้มีการตีบตันในหลอดเลือดเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งอาการของผู้ป่วยจะเจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยง่าย จุกแน่น เสียดหรือแสบร้อนในบริเวณทรวงอก เหงื่อออก ใจสั่น เป็นลมอาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือที่เรียกว่าหัวใจพิบัติ (Heart Attack) ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีถือเป็นภาวะวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
3. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ที่หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติเนื่องจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจหรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากโรคหัวใจหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือความผิดปกติอื่นๆ เช่น การส่งกระแสลัดวงจร มีแผลเป็นหรือก้อนไขมันทำให้หัวใจมีจุดที่สร้างกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอกอ่อนเพลีย หมดสติ หรือหัวใจวาย ขึ้นกับอัตราเร็วของหัวใจเต้น ระยะเวลาที่เกิดรวมทั้งสาเหตุ อย่างไรก็ตามถ้าหัวใจบีบตัวได้ปกติ โอกาสเกิดหัวใจวายก็น้อย
4. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เกิดเนื่องจากมีความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจในขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โรคหัวใจพิการที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการมีรูโหว่ที่ผนังกั้นภายในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่วหลอดเลือดออกผิดจากตำแหน่งปกติ เป็นต้น สามารถวิเคราะห์ความ ผิดปกติได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)
5. โรคหัวใจรูห์มาติค
พบในเด็กอายุ 7-15 ปี สัมพันธ์กับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเบต้าฮีโมไลติคสเตร็ปโตคอคคัสที่ลำคอ ซึ่งทำให้คออักเสบ ไข้สูงร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้ถ้าได้รับเชื้อโรคนี้ซ้ำอีกจะเกิดอาการอักเสบที่หัวใจ โดยเฉพาะที่ลิ้นหัวใจปวดบวมที่ข้อ และมีผื่นที่ลำตัว ในรายที่เป็นมากอาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ถ้ามีอาการอักเสบซ้ำหลายครั้งจะเกิดพังผืดขึ้นที่ลิ้นหัวใจจนเปิดไม่เต็มที่หรือปิดไม่สนิททำให้ลิ้นหัวใจตีบแคบลงหรือรั่ว