เมื่อถึงฤดูร้อน อาการอาหารเป็นพิษ หรือโรคท้องเสียเฉียบพลัน มักเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการ ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ จึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือน 10 เมนูอาหารที่ต้องระวังในช่วงฤดูร้อน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อันเนื่องมาจากสาเหตุของการกินอาหารและน้ำไม่สะอาด โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เมืองไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้วจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงต้องให้ระมัดระวังเรื่องการบริโภคอาหารและน้ำดื่มให้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี อาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง
ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) จากสถิติการรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบคนไทยป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วงหลักแสนคน (ปี 2561 จำนวน 1,342,975 คน ปี 2562 จำนวน1,189,659 คน และปี 2563 จำนวน 915,289 คน) จากสถิตินี้จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงทุกปี ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงการเลือกกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น มีพฤติกรรมการล้างมือที่บ่อยครั้ง
แต่ถึงอย่างไรก็ยังควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อในระบบทางเดินอาหารต่อไป โดยทางกระทรวงฯ ได้แนะนำให้คนไทยระมัดระวังอาหาร 10 เมนูในข่วงฤดูนี้เป็นพิเศษ นั่นก็คือ อาหารประเภทสุกๆ ดิบๆ เช่น จ่อม/ก้อย/ลาบดิบ , อาหารประเภทยำ , อาหารทะเล, ข้าวผัด/ข้าวผัดโรยเนื้อปู, ขนมจีน (อาหารหมัก), สลัดผัก, อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิ, ส้มตำ , ข้าวมันไก่ และน้ำแข็งที่ไม่สะอาด ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรกินโดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ ต้องกินที่ปรุงสุกใหม่ หากเป็นอาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และกินภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ หากมีรูป รส กลิ่น สีผิดปกติต้องไม่กินโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ในช่วงฤดูที่ต้องเสี่ยงกับโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร จึงจำเป็นต้องมีสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาท้องเสียอย่างง่ายๆ ไว้ติดบ้าน หรือพกติดตัวไว้เป็นประจำในกรณีที่ต้องเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ซึ่งเสี่ยงกับอาหารที่ไม่คุ้นเคย เพื่อป้องกันอาการท้องเสียเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้น โดยในปัจจุบันก็มีกลุ่มอาหารที่เป็นโพรไบโอติกส์ (Probiotics) หลายแบบที่สามารถช่วยแก้ปัญหาท้องเสียที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อรุนแรง ให้พวกเรามีทางเลือกในการดูแลตัวเองได้สะดวก ปลอดภัยและเหมาะกับคนทุกวัย
ขอบคุณข้อมูลจาก :
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ