เทรนด์สุขภาพประจำเดือนเมษายน 2564

เทรนด์สุขภาพประจำเดือนเมษายน 2564

     ปัญหาไขมันในเลือดสูงมีหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือ ปัญหาไตรกลีเซอไรด์สูง

     ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันที่ร่างกายรับได้มาจาก 2 ช่องทาง คือ จากอาหารที่กินในแต่ละวัน  และจากการที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเองโดยธรรมชาติจากตับของคนเรา ซึ่งไขมันชนิดนี้สามารถจะเพิ่มขึ้นจากอาหารที่เรากินเข้าไป โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมันสูง ขนมหวาน และเมื่อกินอาหารจำพวกนี้เข้าไป ร่างกายจะดูดซึมและส่งผ่านไปยังเซลล์ต่างๆ ที่ต้องการพลังงาน แต่หากมีปริมาณไตรกลีเซอไรด์มากเกินไป ร่างกายจะส่งไปเก็บที่เนื้อเยื่อไขมันในส่วนต่างๆ จนทำให้มีร่างกายที่อ้วนและน้ำหนักเพิ่มขึ้น

     ในภาวะปกติร่างกายจะขจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากเลือดโดยใช้เวลาเพียงไม่เกิน 2-3 ชั่วโมงหลังจากกินอาหารเข้าไป ซึ่งระดับของคนที่มีค่าไตรกลีเซอไรด์ปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 150 มิลลิกรัม หากแต่ถ้าไปตรวจเลือดหลังอดอาหารมาแล้ว 8-12 ชั่วโมง พบว่าค่าในเลือดสูงเกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่าร่างกายมีปัญหา และเข้าสู่ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูง

     คนอ้วน หรือผู้ที่มีปัญหาน้ำเกินมาตรฐานส่วนใหญ่มักมีปัญหาไตรกลีเซอไรด์สูง เช่นเดียวกับคนที่ชอบกินของหวานมากเกินไป น้ำตาลในเลือดที่สูงก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์ได้เช่นกัน  จึงควรต้องลดหรือเลี่ยงอาหารหวาน และอาหารประเภทข้าว แป้ง น้ำตาล ยิ่งโดยเฉพาะพวกที่ดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ต้องจำกัดปริมาณในการกินอย่างเข้มงวด นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงได้เช่นกัน รวมทั้งการกินยาบางอย่าง เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

     ผลเสียของการมีค่าไตรกลีเซอไรด์สูงมากๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพก็คือ เสี่ยงการเป็นตับอ่อนอักเสบ โดยมีอาการปวดบริเวณกลางท้องอย่างรุนแรง บางคนปวดมากจนทะลุไปถึงด้านหลัง และในระยะยาวทำให้หลอดเลือดแข็ง จึงเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดหัวใจ

     ส่วนวิธีการลดไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในระดับปกติอย่างง่ายๆ ก็คือ ต้องควบคุมการกินอาหารในแต่ละมื้อไม่ให้มากเกินไป ลดการกินอาหารจำพวกข้าว แป้ง น้ำตาล และอาหารหวานทุกชนิด รวมถึงน้ำหวาน และน้ำอัดลม อีกทั้งต้องคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ใครที่รู้สึกอ้วนก็ลดน้ำหนักลงด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่ออาทิตย์
ครั้งละ 30-45 นาที

     นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ทานสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการลดไตรกลีเซอไรด์โดยตรงร่วมด้วย นั่นก็คือ ‘น้ำมันปลา’ (Fish Oil) เพราะกรดไขมัน Omega-3 ในน้ำมันปลาสามารถช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจวายเฉียบพลัน และเส้นเลือดในสมองแตกได้อีกด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก :  ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร หัวหน้าสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้