จากสถิติของแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญ หนึ่งในปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบขับถ่ายและทางเดินอาหารที่คนไทยมีแนวโน้มเสี่ยงที่เป็นมากขึ้นก็คือ โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) ซึ่งเป็นโรคที่มีสิ่งผิดปกติยื่นออกมาจากร่างกาย ส่วนที่ยื่นออกมาจะมีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อ และเกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก
สาเหตุของโรคริดสีดวงทวารหนักของคนไทยมากที่สุดในปัจจุบันเกิดจากปัญหาท้องผูกที่ส่งผลให้พฤติกรรมในการขับถ่ายอุจจาระต้องเบ่งถ่ายบ่อยๆ และเป็นเวลานานจากท้องผูกปกติก็กลายเป็นท้องผูกเรื้อรัง
ชีวิตประจำวันของบางคนก็อาจส่งผลเสียหรือทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น การกลั้นอุจจาระเป็นประจำ อาการท้องเสียเรื้อรัง รวมทั้งชอบใช้ยาระบายหรือยาสวนทวารบ่อยครั้งเมื่อเกิดปัญหาอุจจาระไม่ออก ซึ่งอาการของโรคริดสีดวงสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ โดยแต่ละระยะจะมีความรุนแรงไม่เท่ากัน แตกต่างกันที่อาการที่แสดงออกมา เช่น การบวมอักเสบ และขนาดของริดสีดวง รวมถึงอาการแทรกซ้อนต่างๆ
สนใจหัวข้อไหน... คลิกเลย
ลดอาการ 'ท้องผูก' ยิ่งลดโอกาสการเป็นริดสีดวงทวาร
พรีไบโอติก (Prebiotic) กากใยอาหารต่อต้านอาการท้องผูก
พรีไบโอติก (Prebiotic) คืออะไร?
ประโยชน์ของพรีไบโอติก (Prebiotic) ไม่ได้มีดีแค่ช่วยแก้ท้องผูก
ใครบ้างที่เหมาะกับการกินพรีไบโอติก (Prebiotic)
อย่างที่ทราบว่า ‘ท้องผูก’ คือหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการเป็นโรคริดสีดวงทวาร และสาเหตุหลักของอาการท้องผูกของคนไทยในปัจจุบันก็มาจากพฤติกรรมการกินอาหารในชีวิตประจำวันที่นิยมบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากกว่าการกินพืชผักและผลไม้ เช่น การกินหมูกะทะ อาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ต่างๆ รวมถึงการดื่มน้ำที่น้อยเกินไป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความรู้ไว้ว่าอาการท้องผูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้ง หรือความสม่ำเสมอในการขับถ่าย ตราบใดที่ยังสามารถขับถ่ายได้เป็นปกติ ไม่ต้องเบ่ง อุจจาระยังมีลักษณะนิ่ม และจับตัวเป็นก้อน ถึงแม้จะถ่าย 2-3 วันต่อครั้งก็ยังไม่ถือว่าระบบขับถ่ายผิดปกติ
แต่หากเมื่อใดที่การขับถ่ายแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานมากว่า 30 นาที เพื่อการเบ่งถ่าย หรือการขับถ่ายมีลักษณะเหมือนไม่สุด ปริมาณอุจจาระออกมาน้อย และมีลักษณะเป็นเม็ดแข็ง เกิดความอึดอัดไม่สบายและแน่นท้อง นั่นก็คือ สัญญาณของอาการของท้องผูกอย่างชัดเจน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ากว่า 50% ของผู้ที่ประสบปัญหากับอาการท้องผูกสามารถกลับมาขับถ่ายได้เป็นปกติ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น
1. ลดปริมาณการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ (ประเภทเนื้อแดง) ให้น้อยลง เช่น เนื้อวัว เนื้อวัว เนื้อแกะ เพราะอาหารประเภทนี้มีโปรตีนและไขมันสูง ส่งผลให้กับระบบย่อยอาหารต้องทำงานอย่างหนัก เสี่ยงกับภาวะย่อยยาก ดังนั้นผู้ที่ชื่นชอบการกินปิ้งย่างหรือหมูกะทะต้องระวังเป็นพิเศษ
2. ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์ (Fiber) ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณอุจจาระ และเป็นการกระตุ้นการเคลื่อนตัวภายในลำไส้ใหญ่ให้เร็วขึ้น
3. ในแต่ละวันควรดื่มน้ำในปริมาณที่มากพอ เพื่อช่วยให้อุจจาระมีความอ่อนนุ่ม ช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
4. พยายามออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นและในแต่ละวันควรลุกขึ้นเดินเพื่อขยับเขยื้อนร่างกาย อย่านั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
วิธีแก้ปัญหาของคนทั่วไปเมื่อเกิดอาการท้องผูกกว่า 80% เลือกการซื้อยาถ่ายหรือยาระบาย เพราะสะดวกสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าการกินยาถ่ายหรือยาระบายต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือกินทุกครั้งที่เกิดอาการจะส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายถาวร
นั่นก็คือร่างกายของเราจะคุ้นชินกับการขับถ่ายที่ได้รับการกระตุ้นจากยาเท่านั้น ไม่บีบรัดตัวเองและขับถ่ายตามธรรมชาติ หรือเรียกในภาษาทั่วไปก็คือ อาการดื้อยา เมื่อไม่กินก็จะขับถ่ายไม่ได้ หรืออาจจะต้องเพิ่มปริมาณในการกินยาให้มากขึ้นไปอีก ท้ายที่สุดก็เป็นโรคต่างๆ เกี่ยวกับการขับถ่ายตามมากมาย
พรีไบโอติก (Prebiotic) คือ สารอาหารที่ไม่มีชีวิต มีลักษณะเป็นเส้นใยอาหารที่จะไม่ถูกย่อยในกระเพาะอาหารโดยให้คุณค่าในการช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แลคโตบาซิลลัส และ บิฟิโดแบคทีเรีย ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่จะสามารถทนต่อน้ำย่อย กรด ด่าง ในกระเพาะและลำไส้ได้ จึงเกิดประโยชน์ในการหมักและย่อยอาหาร ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างเป็นปกติ หรือสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือพรีไบโอติก (Prebiotic) คืออาหารของจุลินทรีย์ชนิดดีหรือที่เรียกว่าโปรไบโอติก (Probiotic) ที่สามารถไปช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ชนิดดีให้มีมากในลำไส้นั่นเอง แต่ที่สำคัญในร่างกายของคนเราจะต้องมีทั้งพรีไบโอติก (Prebiotic) และโปรไบโอติก (Probiotic) อย่างเพียงพอถึงจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และระบบขับถ่าย
ในธรรมชาติสามารถพบพรีไบโอติก (Prebiotic) ได้ในผักและผลไม้ โดยเฉพาะผักหรือผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่าไฟเบอร์และอาหารกลุ่มแป้งที่ร่างกายย่อยไม่ได้หรือย่อยได้อย่างช้าๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง อะโวคาโด หัวหอม ธัญพืชประเภทถั่วเหลือง ฝรั่ง กล้วย แอปเปิ้ล และมะเขือเทศ เป็นต้น
คุณค่าของพรีไบโอติก (Prebiotic) ไม่ใช่แค่ช่วยป้องกันอาการท้องผูกเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น
1. ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย
เพราะพรีไบโอติกสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด macrophages ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินอาหารดีขึ้น
2. ป้องกันอาการท้องเสีย
โดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหารการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ จะช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ก่อโรค ลดโอกาสการติดเชื้อ
3. ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
เนื่องจากพรีไบโอติก (Prebiotic) ช่วยจับกับไขมันและน้ำตาลในทางเดินอาหาร ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้ช้าลง และเพิ่มการขับออกของโคเลสเตอรอล
4. เสริมสร้างการดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียม
จุลินทรีย์ในลำไส้จะผลิตกรดไขมันสายสั้นที่มีความเป็นกรด ซึ่งจะช่วยดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก
5. ช่วยเรื่องการควบคุมน้ำหนัก
ใยอาหารจากพรีไบโอติก จะถูกหมักด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้เกิดเป็นกรดไขมันสายสั้น เช่น บิวทิเรท ซึ่งจะกระตุ้นการหลั่ง GLP-1 (Glucagons like peptide) ไปในกระแสเลือด ทำให้สมองรับรู้ความรู้สึกอิ่ม และสบายท้อง
6. ช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้
เนื่องด้วยความเป็นใยอาหารของพรีไบโอติก สามารถช่วยดูดซับสารพิษและสารก่อมะเร็งในทางเดินอาหารไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และยังทำให้อุจจาระมีกากใยและนิ่ม สะดวกต่อการขับถ่าย
พรีไบโอติก (Prebiotic) ไม่ได้เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาท้องผูกเท่านั้น ยังเหมาะกับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องผูกเรื้อรัง คนที่มีความผิดปกติในการขับถ่าย เช่น ถ่ายเหลวบ่อย หรือติดเชื้อในทางเดินอาหารง่ายกว่าคนทั่วไป รวมทั้งคนที่ต้องการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้เด็กทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ก็สามารถกินได้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. www.pobpad.com
2. www.bumrungrad.com