ไมเกรน (Migraine) อาการปวดหัวยอดฮิตที่เกิดขึ้นกับหลายคน โดยเฉพาะในวัยทำงาน ซึ่งต้องเผชิญกับความเครียดอยู่บ่อยครั้งและความเครียดนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว บางคนมีอาการปวดหัวบ่อยจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก สำหรับผู้ที่เผชิญกับอาการปวดหัวไมเกรน หลายคนคงอยากทราบว่าไมเกรนเกิดจากสาเหตุอะไรและไมเกรนสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง มารับทราบข้อมูลไปพร้อม ๆ กัน
ไมเกรน (Migraine) เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง หรือการทำงานที่ไม่ปกติของหลอดเลือดภายในสมองทำให้เกิดการหดเกร็ง นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่เชื่อว่าอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกายมากระตุ้นสมองให้เกิดอาการปวดหัวได้
1. นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
2. ความเครียดสะสม
3. วิตกกังวล
4. อยู่ในที่แสงจ้าหรือมีเสียงดัง
5. แพ้กลิ่น เช่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นบุหรี่
6. รับประทานของมัน ของหมักดอง
7. สภาพอากาศหนาวหรือร้อนจัด
1. ปวดหัวข้างเดียวหรือสองข้าง
2. ปวดหัวตุ๊บ ๆ เป็นจังหวะ
3. ปวดขมับ กระบอกตาและท้ายทอย
4. ปวดหัวจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
5. ทนแสงจ้าหรือเสียงดังไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน
1. กลุ่มที่มีอาการออร่า (แสดงอาการก่อนปวดหัว)
คือเป็นกลุ่มประเภทของอาการไมเกรนที่การมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม โดยแสดงผ่านอาการที่สังเกตได้ชัดเจน เช่น ตามองไม่เห็นชั่วคราว เห็นภาพบิดเบี้ยว ภาพเบลอ หรือจะเห็นแสงระยิบระยับก่อนอาการปวดหัวตามในระยะเวลาต่อมา ซึ่งในทางการแพทย์เรียกประเภทของอาการปวดนี้ว่า Classic Migraine ซึ่งเป็นประเภทที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกและตีบได้มากกว่าคนปกติถึง 27% โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี
2. กลุ่มที่ไม่มีอาการออร่า (ไม่แสดงอาการก่อนปวดหัว)
คือไม่มีอาการเตือนใดๆ นำมาก่อน มีเฉพาะอาการปวดหัวที่แสดงออกมาเท่านั้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า Common Migraine
ในปัจจุบันวิธีการรักษาของแพทย์สำหรับคนปวดหัวไมเกรนมีอยู่ 2 ประเด็นหลักคือ รักษาเพื่อบรรเทาปวดหัวขณะเกิดอาการและป้องกันไม่ให้เกิดรวมทั้งลดความถี่ในการเกิดให้น้อยลง
1. การบรรเทาปวดหัวขณะเกิดอาการไมเกรน
โดยปกติเมื่อเกิดอาการปวดหัวไมเกรน สามารถกินยาแก้ปวด พาราเซตามอล หรือกลุ่มยา NSAIDs เช่นไอบรูโพเฟน รวมทั้งยาต้านไมเกรนโดยเฉพาะ แต่ในบางคนที่อาการไม่รุนแรงมาก การรักษาอาการไม่จำเป็นต้องใช้ยาเสมออาจใช้การประคบเย็นหรือร้อนบริเวณศีรษะ หรือใช้วิธีการนอนหลับในการรักษา
2. การป้องกันและลดความถี่ของอาการไมเกรน
ในกรณีป้องกัน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ หรือการจัดการความเครียด ส่วนการป้องกันโดยเลือกรับประทานยาป้องกันไมเกรนซึ่งมีอยู่หลายชนิด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเพื่อให้เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของอาการแต่ละคน
นอกจากจะใช้ยาและวิธีที่บอกไปข้างต้นแล้ว การป้องกันและลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรนก็สามารถใช้แร่ธาตุที่มีชื่อว่า ‘แมกนีเซียม’ เข้าร่วมรักษาและป้องกันได้
เนื่องจากแมกนีเซียม (Magnesium) มีคุณสมบัติช่วยลดการหดเกร็งกล้ามเนื้อของหลอดเลือด หรือคลายการหดเกร็งของหลอดเลือด เมื่อร่างกายได้รับแมกนีเซียมเพียงพอในแต่ละวัน จึงมีส่วนช่วยป้องกัน และบรรเทาความรุนแรง รวมทั้งลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรนได้
เมื่อ ปี 2015 มีผลวิจัยของการใช้แร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) เพื่อรักษาอาการปวดหัวไมเกรนที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสารทางการแพทย์ The Journal of Headache and Pain โดยมีการทดลองแบ่งผู้ป่วยที่ปวดหัวไมเกรนซึ่งมีความถี่ของการปวดมากกว่าเดือนละ 3 ครั้ง จำนวน 130 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกใช้แร่ธาตุแมกนีเซียมในรูปแบบของอาหารเสริม (ร่วมกัน Co Q10 และ Riboflavin) เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ให้อาหารเสริมแบบหลอกๆ (ไม่มีแร่ธาตุใดๆ) เป็นเวลา 3 เดือน และติดตามผลอีก 4 สัปดาห์ ผลปรากฎว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับแมกนีเซียมมีความถี่และระดับการปวดลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับกลุ่มอาหารเสริมหลอก
อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแมกนีเซียมในการป้องกันไมเกรนที่ไม่มีอาการออร่า โดยแบ่งผู้ป่วยปวดหัวไมเกรนจำนวน 30 คน ช่วงอายุ 20-55 ปี ที่มีความถี่ในการปวดอยู่ที่ 2-5 ครั้ง/เดือน ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกรับประทาน แมกนีเซียม (Magnesium) วันละ 600 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน และอีกกลุ่มรับประทานยาหลอก ผลพบว่ากลุ่มที่รับประทานแมกนีเซียมสามารถลดความถี่และความรุนแรงของไมเกรนได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีการเก็บสถิติของคนที่มีปวดหัวไมเกรนเป็นประจำพบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีระดับแมกนีเซียมในร่างกายที่ต่ำกว่าคนปกติที่ไม่ปวด และยังมีการศึกษาชิ้นหนึ่งในต่างประเทศพบว่าการกินแมกนีเซียมเป็นประจำมีส่วนช่วยลดความถี่การปวดหัวลงได้ถึง 41.6 %
การศึกษาขนาดเล็กในคนวัยหนุ่มสาวที่เป็นไมเกรน พบว่าการเสริมสารสกัดจากใบแปะก๊วย 80 มก. (ร่วมกับคิวเท็น 20 มก. และแมกนีเซียม 300 มก.) วันละ 2 ครั้งพร้อมอาหาร เป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยป้องกันหรือลดความถี่ในการเกิดไมเกรนได้ ข้อมูลอ้างอิง (Source): https://medthai.com/ginkgo/ MEDTHAI
ถึงแม้การรับประทานแมกนีเซียม (Magnesium) เพื่อป้องกันและลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรนจะมีความปลอดภัยกว่าการใช้ยา แต่การรักษาไมเกรนก็ควรอยู่ในความแนะนำของแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ นอกจากจะรับประทานแมกนีเซียมเพื่อป้องกันอาการปวดหัวแล้ว ควรต้องทำร่วมกับวิธีอื่นๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้องหลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน ออกกำลังกายเป็นประจำ จึงจะช่วยให้อาการบรรเทาและลดความถี่ในการเกิดน้อยลง
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. ดร. นพ.จรุงไทย เดชเทวพร สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2. นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
3. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/105_1.pdf
4. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/515/ไมเกรน-แมกนีเซียม
5. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
6. chulalongkornhospital.go.th
7. www.researchgate.net (https://rb.gy/btwr2i)
8. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18705538/
9.https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/2514183X18823377