“ความเครียด” คือ ต้นตอหนึ่งของปัญหาสุขภาพ หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดเป็นความเครียดสะสม ผลที่ตามมาคือความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ!!
โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่หลายคนมีปัญหารุมเร้า ทั้งความกังวลด้านสุขภาพ ต้องคอยระวังตัวกลัวจะติดโรคระบาด หรือความเครียดจากผลกระทบด้านเศษฐกิจ การเงินขาดสภาพคล่อง จึงไม่แปลกที่หลายคนจะพบว่าตนเองมีอาการ ปวดศีรษะ นอนหลับยาก รู้สึกมึนงง ขาดสมาธิ มีอารมณ์เศร้าบ่อยๆ หรือมีความรู้สึกเบื่อหน่ายจนไม่อยากทำอะไรเลย เพราะนี่คือสัญญาณว่าคุณกำลังมีความเครียดมากเกินไป และอาจถึงระดับที่ควรต้องปรึกษาจิตแพทย์
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ความเครียด” หากอยู่ในระดับที่สมดุลหรือพอประมาณก็มีข้อดี คือ ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ รอบตัวได้ดีขึ้น แต่หากเครียดมากเกินไปและไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้ ก็จะทำให้เกิดโรคทางจิตเวชที่ได้ เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า เป็นต้น
1⃣ โรคเครียด (adjustment disorder) คือ โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์หรือพฤติกรรม เช่น เศร้า วิตกกังวล ก้าวร้าวรุนแรง โดยเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังพบเจอกับสิ่งกระตุ้นหรือปัญหาที่ทำให้เครียด ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมากในจิตใจ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การทำงาน รวมถึงการเข้าสังคม
2⃣ โรคซึมเศร้า (depressive disorder) คือ โรคที่มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนั้กมีอาการเศร้า เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป รู้สึกตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินไป รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง อาจรุนแรงจนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ (โดยอาการจะเป็นนานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป)
หากคุณมีความสงสัยว่าตนเองมีระดับความเครียดที่มากผิดปกติหรือไม่ แนะนำให้ทำแบบประเมินความเครียด โดยคลิกที่นี่ :
เพื่อให้คุณสามารถประเมินอาการของตนเองและปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที