เทรนด์สุขภาพประจำเดือน สิงหาคม 2564

เทรนด์สุขภาพประจำเดือน สิงหาคม 2564

แพทย์แนะนำ ! 5 วิธีลดโอกาสการเป็น โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม  Computer Vision Syndrome (CVS)

     คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท๊บเล็ท สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาในอาการเหล่านี้ เช่น ทำให้ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ หรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย หากมีอาการที่กล่าวข้างต้นอาจบ่งบอกว่าอาจอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า “Computer Vision Syndrome (CVS)”

โรคสายตาของคนทำงานยุคใหม่ “Computer Vision Syndrome (CVS)”

     Computer Vision Syndrome (CVS) คือ เป็นกลุ่มของอาการทางตาและการมองเห็น ที่มีผลมาจากการใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการใช้งานอันที่จริงแล้ว เวลาทำงานกับคอมพิวเตอร์นั้น ดวงตาของคนเราจะถูกใช้งานแตกต่างจากการอ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ไม่ว่าจะเป็นระยะการมองหรือมุมที่ต้องก้มขณะที่อ่าน และบ่อยครั้งที่พบว่าตัวอักษรบนหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นมีความชัดเจนไม่เพียงพอ รวมทั้งความเข้มหรือความสว่างของหน้าจอซึ่งถูกปรับตั้งไว้ไม่เหมาะสมในขณะใช้งาน ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนทำให้เราต้องใช้สายตามากกว่าปกติในขณะที่ใช้คอมพิวเตอร์และส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าจากการใช้งานดังกล่าวเป็นระยะเวลานานได้

สาเหตุของอาการเหล่านี้ เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น

• ภาวะแสงในขณะทำงานไม่เพียงพอ
• แสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
• ตำแหน่งของหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือการจัดท่านั่งที่ไม่เหมาะสม
• ภาวะสายตาที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะสายตายาวหรือสายตาเอียง

อาการของ Computer Vision Syndrome จะประกอบด้วย

• อาการปวดบริเวณรอบดวงตา
• ปวดศีรษะ
• ตาพร่ามัว
• ตาฝืดแห้ง
• อาจมีอาการปวดคอและไหล่ร่วมด้วยซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นชั่วคราวและหายไปเมื่อได้พักจากการใช้คอมพิวเตอร์

วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภาวะcomputer vision syndromeได้แก่

1. กะพริบตาให้บ่อยขึ้น : การนั่งจ้องหน้าจอนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จะทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20 – 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 – 8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งได้ ดังนั้นจึงควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาก็ได้เช่นกัน

2. ปรับความสว่างในห้องทำงาน และหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม : โดยลดแสงสว่างจากภายนอก หรือแสงจากในห้องทำงานที่สว่างมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สบายตาได้ และปรับเพิ่มความแตกต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นจอภาพเพื่อให้อ่านง่าย และปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา    

3.พักสายตาทุก ๆ ชั่วโมง : โดยยึดหลัก “20 – 20 – 20” คือการละสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุตทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้ 

4.ปรับระดับการมองจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม : โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำลงจากระดับสายตาประมาณ 4-5นิ้ว

5. ใส่แว่นแก้ไขสายตาที่เหมาะสม : เนื่องจากการมีสายตาที่ผิดปกติ แล้วต้องเพ่งหน้าจอนานๆ อาจทำให้ปวดกระบอกตาได้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ประชุมออนไลน์จนดึกดื่น และไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ที่บ้านไปอีกนานเท่าไหร่ แนะนำดูแลสุขภาพตัวเอง จัดตารางการทำงาน และชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม

‘ดวงตา’ เป็นอวัยวะที่บอบบาง ซับซ้อน ละเอียดอ่อน และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว คลิกดูเเลดวงตา สารอาหารที่ช่วยบำรุงดวงตา 


ขอบคุณข้อมูลจาก : 
1.  กรมการแพทย์
2.  http://theworldmedicalcenter.com/th/new_site/health_article/detail/?page=โรคสายตาของคนทำงานยุคใหม่-“computer-vision-syndrome-cvs

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้