เทรนด์สุขภาพประจำเดือน กันยายน 2564

เทรนด์สุขภาพประจำเดือน กันยายน 2564

โรคสมองเสื่อม (Dementia) อาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ของคนทั่วโลกอีกต่อไป


อีก 9 ปีทั่วโลกจะมีคนเป็นโรคสมองเสื่อมถึง 78 ล้านคน!!

     จากการเก็บสถิติล่าสุดของ Global Dementia Observatory จากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO โรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อมได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกของคนทั่วโลกแล้ว และในขณะที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก การเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะของโรคนี้ในหลายๆ ประเทศกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม

     องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีในปัจจุบันประมาณ 55 ล้านคนจะพุ่งสูงขึ้นถึง 78 ล้านคนภายในอีก 9 ปีข้างหน้านี้ (ค.ศ. 2030) และจะเพิ่มเป็น 139 ล้านคนภายในปีค.ศ. 2050 และจากการคาดการณ์ในตัวเลขนี้ยังสามารถประมาณค่าใช้จ่ายในการใช้ต่อสู้กับโรคสมองเสื่อมทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปีค.ศ. 2030 (จากในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์) 

     ทั้งนี้โรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะพบการเสื่อมถอยความสามารถของสมอง เช่น สูญเสียความจำ สมาธิ ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดช้า หรือจำเรื่องที่เป็นปัจจุบันไม่ได้ มีอาการหลงลืม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ส่วนในประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัว จากการรวบรวมสถิติของกรมสุขภาพจิตในปี 2015 หรือ 6 ปีที่แล้ว พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์​ ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งประมาณ 600,000 คน นออกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 จะมีคนไทยป่วยเป็นอัลไซเมอร์ถึง 1,177,000 คน​ โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนในการเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 5 -8 และเมื่อมีอายุ 80 ปีสัดส่วนของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ขยับสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 50 และสิ่งสำคัญประการต่อมาก็คือ การรับมือกับการดูแลคนสูงวัย โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอนามัย

     ผู้ที่เผชิญกับโรคสมองเสื่อม นอกจากจะสูญเสียความจำ สมาธิ และสติปัญญาแล้ว จากการสังเกตของแพทย์ที่ให้การรักษาพบว่าเกือบทุกคนจะมีอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและจิตใจอย่างน้อยร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไม่สนใจสิ่งรอบตัว มีภาวะซึมเศร้า มีปัญหาด้านการกินอาหาร มีปัญหาด้านการนอน อารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย มีอาการหลงผิด ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจพฤติกรรมต่างๆ ได้ มีพฤติกรรมแปลกๆ ทำอะไรซ้ำๆ และมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน

     ถึงแม้โรคดังกล่าวจะไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกก็แนะนำการลดโอกาสเสี่ยงและชะลอการเกิดโรคนี้ออกไปได้ เช่น การเลือกบริโภคอาหารที่ดีซึ่งมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ลดการรับประทานของทอด ของมัน ของหวาน งดการสูบบุหรี่ และจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านนี้ก็ถือเป็นการควบคุมโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไปโดยปริยาย ซึ่งก็มีส่วนช่วยลดการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

     นอกจากนี้สารอาหารบางอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รับประทานเป็นประจำก็คือ ‘ใบแปะก๊วย’ เพราะมีสารสำคัญที่เรียกว่า เทอร์ปีน แลคโตน (Terpene Lactone) ที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง เพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือดให้นำพาออกซิเจนและสารอาหารจำเป็นอื่นๆ ไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดสมอง จึงสามารถแนะนำให้ผู้สูงวัยรับประทานเป็นประจำได้


ขอบคุณข้อมูลจาก : 


1.  https://www.voathai.com/a/who-tens-millions-people-dementia-lack-care/6210344.html
2.  องค์การอนามัยโลก (www.who.int)
3.  กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้