ตับ (Liver) เป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย และเป็นอวัยวะสำคัญซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกายให้มีความสมดุล อยู่ตรงชายโครงขวาใต้กระดูกซี่โครง หน้าที่ของตับที่มีต่อร่างกายมีหลายอย่าง เช่น ช่วยย่อยสารอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่แรกของตับ โดยเป็นการดึงเอาสารอาหารที่ถูกย่อยจากทางเดินอาหารมาเปลี่ยนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สะสมอาหาร ซึ่งเป็นกระบวนการหลังจากที่ตับเปลี่ยนสารอาหารที่ถูกย่อยมาแล้วส่งไปต่อยังไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตับยังมีหน้าที่สะสมสารอาหารต่างๆ เอาไว้ในร่างกายเพื่อใช้ในเวลาที่ต้องการ เช่น การเก็บน้ำตาลกลูโคสไว้ในตับ และเมื่อร่างกายต้องการพลังงานตับจะปล่อยกลูโคสออกไปให้ร่างกายได้ใช้เพื่อเป็นพลังงาน
ไม่เพียงเท่านั้น ตับยังทำหน้าที่หลักในการกำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย ขับถ่ายของเสียออกมาในรูปแบบของน้ำดีส่งผ่านไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น แต่น้ำดีที่ว่านี้บางส่วนของน้ำดีจะเป็นของเสียแล้ว แต่ในบางส่วนของน้ำดีจะเป็นตัวช่วยย่อยไขมันในลำไส้เพื่อดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเคมาเพื่อใช้ในร่างกายด้วย
คนไทยจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของตับ ไม่ว่าจะเป็น โรคไขมันพอกตับ โรคตับอักเสบชนิดต่างๆ หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็งตับ ซึ่งถือเป็นชนิดของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด ดังนั้นการดูแลตับให้แข็งแรงจึงเป็นวิธีที่จะสามารถหลีกเลี่ยงโรคร้ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับอวัยวะชิ้นสำคัญชิ้นนี้ได้
1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
จากสถิติพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือโรคอ้วน มีความสัมพันธ์กับการมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตับ โดยเฉพาะโรคไขมันพอกตับ โดยเชื่อว่าโรคดังกล่าวเป็นอาการแสดงทางตับของภาวะอ้วนลงพุง ดังนั้นการลดน้ำหนักอย่างน้อยให้ได้ 5-10% สามารถช่วยลดการเกิดภาวะการสะสมของไขมันที่ตับได้
2. ลดหรือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัว
อาจจะเรียกได้ว่าอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงมักจะมาพร้อมกับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เมื่อรับประทานบ่อยๆ จะส่งผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอล และไขมันตัวร้าย (LDL-cholesterol) ในเลือดสูงขึ้น และเสี่ยงกับการเป็นโรคอ้วน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้ โดยอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อย่างเช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป (ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง) น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เนย รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องมันเนย
3. เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง
การเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง นอกจากจะช่วยในเรื่องการขับถ่าย และปรับสมดุลภายในระบบทางเดินอาหารแล้ว อาหารที่มีไฟเบอร์ยังดีต่อสุขภาพของตับ ซึ่งควรรับประทานเป็นประจำ ซึ่งอาการที่มีไฟเบอร์ และมีประโยชน์ต่อร่างกายได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย รวมถึงผักใบเขียว และผลไม้
4. ลดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน
WHO องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณการบริโภคน้ำตาลเอาไว้ที่ 6 ช้อนชาต่อวัน แต่จากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทยมีอัตราการบริโภคน้ำตาลพุ่งสูงถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติถึง 4 เท่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับสุขภาพของตับ เนื่องจากความหวานของน้ำตาลฟรุกโตสสามารถเปลี่ยนเป็นไขมัน
ไตรกลีเซอไรด์ และไปสะสมที่ตับได้ และยังเป็นการช่วยให้แบคทีเรียสามารถการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการอักเสบของตับ
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน
'อะฟลาทอกซิน' เป็นเชื้อราอันตรายที่ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งอาหารที่พบเชื้อชนิดนี้มากก็อย่างเช่น ถั่วลิสงตากแห้ง พริกป่น ปลาเค็ม ฯลฯ ซึ่งสารดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เสี่ยงเกิดภาวะตับแข็ง และลุกลามจนกลายเป็นมะเร็งตับได้
6. ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
ในปริมาณมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือดื่มในปริมาณมากเป็นสาเหตุหลักของโรคตับหลายชนิด เช่น โรคตับแข็ง ตับวาย รวมถึงมะเร็งตับ เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำร้ายเซลล์ตับ และไปกระตุ้นให้เกิดการสะสมของไขมันในบริเวณตับ นอกจากนี้ยังไปกระตุ้นให้จะเกิดการอักเสบ และเกิดการสะสมของพังผืดในตับ จนทำให้เนื้อตับมีความแข็งไม่อ่อนนุ่ม ส่งผลให้การทำงานของตับลดลง เสี่ยงกับอาการตับวาย และนำไปสู่มะเร็งตับได้ระยะเวลาไม่นาน ดังนั้นผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ควรต้องมีการจำกัดปริมาณการดื่มในแต่ละครั้ง และไม่บ่อยจนเกินไป
7. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
การดื่มน้ำบ่อยๆ นอกจากจะช่วยด้านสุขภาพองค์รวมของร่างกายแล้ว การดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือประมาณ 1.5-2 ลิตร ต่อวันจะเป็นการช่วยให้ตับทำงานได้อย่างสมดุล ซึ่งหากแต่ละวันดื่มน้ำไม่มากพอส่งผลถึงการทำงานของตับในการกำจัดสารพิษและทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่การดื่มน้ำต้องเลือกน้ำที่สะอาดปราศจากสารปนเปื้อนต่างๆ ด้วย
8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ข้อดีของการออกกำลังกายมีมากมาย สุขภาพของตับที่ดีก็เช่นกัน การออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาทีต่อวัน หรือประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะมีส่วนช่วยการลดระดับไขมันแอลดีแอล (LDL-C) หรือไขมันเลว ซึ่งมีผลต่อโรคอ้วน โรคไขมันในเลือด และความดันโลหิตสูงซึ่งมีความสัมพันธ์กับสุขภาพตับ ที่สำคัญและยังเป็นเพิ่มระดับไขมันเอชดีแอล (HDL-C) ชนิดดีอีกด้วย
9. รับประทานยาเท่าที่จำเป็น
หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรจะต้องปรึกษาแพทย์ ที่สำคัญไม่ควรซื้อยาต่างๆ มารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดมีผลต่อตับโดยตรง เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้บางชนิด หรือยารักษาวัณโรค
10. ตรวจสุขภาพตับเป็นประจำทุกปี
การตรวจสุขภาพตับอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งถือเป็นการลดความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับตับไม่ให้ลุกลามร้ายแรง รวมถึงการตรวจติดตามค่าเอนไซม์ของตับเป็นระยะ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. โรงพยาบาลเปาโล
2. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
3. ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคตับ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
4. ผศ. นพ. มล.ทยา กิติยากร สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล