“ยังไม่ได้นอนเลย เมื่อคืนทำงานถึงตีสี่”
“ไม่ได้หรอก... เพราะเดี๋ยวทำงานไม่ถึง KPI จะสู้คนอื่นไม่ได้”
“หยุดพักทำไม นี่ทำงานทุกวันมาสองเดือนแล้ว ไม่อยากอยู่เฉยๆ”
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ คนจำนวนมากมีความคิดว่า ‘การทำงานให้หนักขึ้น’ คือทางออกที่ดีที่สุดที่จะอยู่ให้รอดจากสภาพการณ์นี้ แต่รู้หรือไม่... อะไรที่มากไปหรือเกินพอดี ไม่เคยสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับใคร
จริงอยู่ที่ความขยันขันแข็ง ความตั้งใจในการทำงานคือ วิธีหนึ่งในการพิสูจน์ว่าการเป็นลูกจ้างมืออาชีพ หรือการเป็นคนทำงานที่มีคุณภาพได้ แต่นั่นอาจจะต้องแลกมาด้วยสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ผิดเพี้ยน จนมีโอกาสเกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อคนทำงานมีความคิดที่เรียกว่า Toxic Productivity
Toxic Productivity คือคำศัพท์ที่อยู่ในหมวดของเรื่องการทำงาน ซึ่งมีความหมายและใช้กับคนที่มีความคิดที่ว่า “ต้องการที่จะทำงานอยู่ตลอดเวลาผลักดันและรีดศักยภาพให้งานที่ตัวเองรับผิดชอบมีผลลัพธ์ที่ดีสูงสุด เพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นการทำงานหนักที่เกินพอดีจนมีผลเสียต่อชีวิต และสุขภาพ” โดยพฤติกรรมของคนทำงานที่เข้าข่าย Toxic Productivity พิจารณาได้จาก
- อยากทำงานตลอดเวลา หากหยุดพัก นั่งเฉย ๆ หรือทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน จะคิดว่าตัวเองไม่คุณค่า
- ยึดกับคุณค่าของตัวเองไว้ที่เรื่องการทำงานเพียงอย่างเดียว โดยไม่มองถึงสิ่งดีอื่นๆ รอบตัว รวมทั้งไม่สนใจคนรอบข้าง
- ไม่สนใจดูแลสุขภาพ และไม่สังเกตความผิดปกติเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง
- ทุ่มเททำงานหนัก โดยหวังประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น เพื่อลบความรู้สึกการไม่มีคุณค่าของตัวเองออกไป
- เสพติดความสมบูรณ์แบบ ต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง และให้คนอื่นสนใจ ทำงานเพียงอย่างเดียว เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นคนที่ขยัน
- เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และคิดว่าตัวเองยังทำงานไม่มากพอ ต้องทำให้มากขึ้น และหนักกว่าคนอื่น
เมื่อแนวคิดที่ต้องการจะทำงานอยู่ตลอดเวลา ต้องการประสบความสำเร็จ อยากให้ตัวเองมีคุณค่า และหวังที่จะให้คนอื่นยอมรับ โดยไม่สนใจสิ่งอื่นๆ รอบตัว ที่สำคัญละเลยการดูแลสุขภาพ อาจจะบอกได้ว่า Toxic Productivity คือหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้คนทำงานในยุคปัจจุบันเกิดความเครียดขึ้นได้แบบไม่รู้ตัว
จากสถิติที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้เก็บข้อมูลพบว่า ‘วัยทำงาน’ เป็นกลุ่มคนที่เกิดความเครียดได้สูง โดยเฉพาะคนทำงานที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 22-59 ปี โดยโรคเครียดจากการทำงานเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความคาดหวังที่สูงในการทำงาน ต้องการความสมบูรณ์แบบ ซึ่งสองสาเหตุนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Toxic Productivity
นอกจากนี้ความเครียดของคนทำงานอาจจะมีสาเหตุมาจากการมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ถูกใช้งานหนักเกินไป รวมถึงสภาพสังคมในที่ทำงาน ภาวะกดดันของหัวหน้างาน ฯลฯโดยอาการของโรคเครียดที่เกิดจากการทำงานสามารถแบ่งได้ 3 ระดับคือ
1. ความเครียดปกติ
เป็นความเครียดจากการทำงานที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งเป็นความเครียดในระดับเริ่มต้นที่คนส่วนใหญ่สามารถจัดการได้ เช่น เครียดจากปริมาณงานที่มากเป็นครั้งคราว ต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน อาจจะสร้างปัญหาให้สุขภาพได้เล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ แต่ความเครียดจะหายไปเมื่อได้พักผ่อน หรือแก้ปัญหาได้
2. เครียดจนเกิดอาการซึมเศร้า
เป็นภาวะเครียดที่แสดงออกให้เห็นได้ผ่านพฤติกรรมเช่น เบื่อหน่ายทั้งเรื่องงานกระทบไปยังเรื่องชีวิต มองโลกในแง่ร้าย
และโทษตัวเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นความเครียดในระดับที่ส่งผลกับสุขภาพมากขึ้น เช่น นอนไม่ค่อยหลับเรื้อรัง ปวดศีรษะเป็นประจำ สมองล้า
3. ความเครียดจนหมดไฟอย่างรุนแรง
เป็นความเครียดที่เรียกได้ว่าพัฒนามาจากความเครียดในระดับซึมเศร้า จนทำให้มีความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่เหมาะกับงาน
ที่ทำ มีความคิดอยากลาออก ไม่อยากไปทำงาน และเบื่อหน่ายขั้นสูงสุดจนมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และเมื่อใดที่คนทำงานมีความเครียดถึงขั้นนี้ ปัญหาสุขภาพจะมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น เริ่มมีปัญหาระบบทางเดินหายใจเนื่องจากสูบบุหรี่ และดื่มสุรามากขึ้น มีปัญหาระบบขับถ่าย ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เนื่องนอนดึก พักผ่อนน้อย ซึ่งเป็นระดับความเครียดที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ทันที
1. ออกกำลังกายเอาเหงื่อออก
เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียด หรือที่เรียกว่า Cortisol ออกมาจนร่างกายเสียสมดุล แต่เมื่อออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งสารที่เรียกว่า Endophin หรือฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ดังนั้นไม่ว่าจะทำงานหนักจนเกิดความเครียดขนาดไหน ก็ต้องหาเวลาออกกำลังกายบ้างอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3-5 วัน นอกจากจะช่วยลดความเครียดได้แล้ว ยังเป็นการเสริมภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมระบบต่างๆ ของร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย
2. ผ่อนคลายสมองด้วยกิจกรรมสันทนาการ
แม้ว่าจะทำงานหนักขนาดไหน การพาตัวเองออกมาจากความเครียดต่างๆ ชั่วครู่ ถือเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง การได้ทำกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายต่างๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ การเล่นเกมส์ หรือการทำกิจกรรมสันทนาการเป็นสิ่งที่ช่วยให้สมองปลอดโปร่งและสามารถกลับมาจัดการกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และความเครียดที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
3. รู้จักจัดสรรเวลาในชีวิตประจำวัน
คำว่า Work Life Balance ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับคนทำงานในยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการตกอยู่ในพฤติกรรมหรือความคิดในแบบ Toxic Productivity ด้วยซ้ำไป การจัดสรรเวลาการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวให้มีความสมดุลสามารถช่วยให้ทั้งความเครียดลดลง ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างส่งผลให้สุขภาพกาย และสุขภาพใจพัฒนาไปในทิศทางที่ดีพร้อมๆ กัน
4. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
คงเคยได้ยินประโยคว่า... การกินคือ ‘การสร้างความสุขให้ชีวิตอย่างหนึ่ง’ และนอกจากจะสร้างความสุขได้แล้วรู้หรือไม่ว่าการรับประทานอาหารบางประเภทยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย เพราะการเลือกรับประทานอาหารบางประเภท ร่างกายจะได้สารอาหารที่มีประโยชน์บางอย่างซึ่งจะช่วยทำให้ความเครียลดลงได้
การรับประทานข้าว แป้งหรือธัญพืชที่ไม่ขัดสี สามารถช่วยเพิ่มระดับของฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับได้ง่ายขึ้น หรือจะเป็นผลไม้อย่างกล้วย ส้ม ฝรั่ง ที่ช่วยลดอนุมูลอิสระในร่างกายเมื่อเกิดความเครียด ลดความดันโลหิต และช่วยลดฮอร์โมน Cortisol ได้ นอกจากนี้อาหารที่ช่วยคลดความเครียได้ก็อย่างเช่น ชาเขียว ผักโขม บรอกโคลี รวมถึงของหวานอย่าง ดาร์กช็อกโกแลต ซึ่งอาหารเหล่านี้ที่มีประโยชน์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ให้คุณค่าทั้งวิตามิน แร่ธาตุ เกลือแร่ และสารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกาย
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. https://bit.ly/30NaGez วิธีรับมือกับภาวะ Toxic Productivity
2. https://bit.ly/3DVcHmY เมื่อโลกเชิดชูคนที่ทำงานหนักกว่า คนอื่นจึงต้อง Productive ตลอดเวลา
3. โรคเครียดจากการทำงานเสี่ยงฆ่าตัวตาย (คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
4. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์