รู้หรือไม่... โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาเกือบ 10 ปีแล้ว WHO หรือองค์การสหประชาชาติได้เคยประเมินสถานการณ์ว่าในช่วงระหว่างปี 2544-2643 โลกจะถือว่าเป็น ‘ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ’ และมีการคาดการณ์คร่าวๆ ว่าจะมีจำนวนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 พันล้านคนในปี 2568 และจะเพิ่มเป็น 2 พันล้านคนภายในอีกไม่เกิน 25 ปี
แต่สำหรับสถานการณ์ในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยก็สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับสังคมผู้สูงอายุโลก เพราะเมื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้ภาพรวมด้านภาวะสุขภาพการเกิดโรคทั้งที่เป็นโรคติดต่อและไม่ติดต่อ รวมทั้งความผิดปกติจากการเสื่อมสภาพและถดถอยของร่างกายตามวัยเพิ่มมากขึ้น
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และทีมงานได้เคยมีการรายงานการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับ “การวิเคราะห์ภาวะสุขภาพ ภาระโรคและความต้องการบริการด้านสุขภาพในผู้สูงอายุ” โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยพบว่าในปี 2562 มีจำนวนผู้ป่วยสูงอายุชายที่มารับบริการในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 5.1 ล้านคน ส่วนโรคยอดนิยมอันดับหนึ่งที่มีผู้ป่วยเพศชายสูงวัยเป็นมากที่สุดก็คือโรคเบาหวาน โดยคิดเป็นร้อยละ 19.90 ตามมาด้วยในอันดับ 2 โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 5.83 อันดับ 3 โรคข้อเสื่อมร้อยละ 5.80 อันดับ4 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร้อยละ 3.75 อันดับ 5 โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 2.59 อันดับ 6 วัณโรคร้อยละ 2.64 อันดับ 7 หูหนวกร้อยละ 1.81 อันดับ 8 โรคมะเร็งตับร้อยละ 0.50 อันดับ 9 โรคสมองเสื่อมร้อยละ 0.48 และอันดับสุดท้ายก็คือ โรคมะเร็งหลอดลมและปอด ร้อยละ 0.01
ส่วนผู้สูงอายุเพศหญิง โรคเบาหวานก็เป็นโรคที่เป็นมากที่สุดเช่นกันโดยมีสัดส่วนร้อยละ 30.97 ส่วนอันดับที่ 2 คือโรคข้อเสื่อมร้อยละ 12.67 อันดับที่ 3 ต้อกระจกร้อยละ 8.32 อันดับที่ 4 โรคไตอักเสบและไตพิการร้อยละ 6.16 อันดับที่ 5 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร้อยละ 4.12 อันดับที่ 6 โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 4.07 อันดับที่ 7 โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 1.68 อันดับที่ 8 โรคหูหนวกร้อยละ 1.46 อันดับที่ 9 โรคสมองเสื่อมร้อยละ 0.61 และอันดับสุดท้ายก็คือ โรคมะเร็งตับ ร้อยละ 0.24
จากข้อมูลสถิติทางด้านสุขภาพโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบของประเทศไทยทำการบันทึกเอาไว้จึงทำให้ทราบว่า ความผิดปกติทางด้านสุขภาพที่นิยมเกิดขึ้นในผู้สูงอายุมีทั้งหมด 5 โรคหลักๆ ก็คือ
1. โรคเบาหวาน
‘เบาหวาน’ โรคยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนไทยสูงวัย จากสถิติเมื่อปี 2017 ประเทศไทยเคยติดอยู่ในอันดับ 4 ประเทศในแถบเอเชียที่มีผู้ป่วยโรคนี้มากที่สุดรองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ที่สำคัญสถิติช่วงอายุของคนที่เป็นโรคนี้มากที่สุดอยู่ในช่วงระหว่าง 70-79 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยของผู้สูงอายุ จากสถิติทางการแพทย์ระบุไว้ว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา และกว่าร้อยละ 68 ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ส่วนอีก 16% เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง
2. โรคหลอดเลือดสมอง
Stroke หรือที่รู้จักกันในชื่อของ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะของสมองขาดเลือดที่เกิดจากสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้เป็นปกติทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนส่งผลให้สมองตาย จากสถิติของโรคนี้ในประเทศไทยพบว่า ในจำนวนผู้ป่วย 100,000 คนจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 1,880 รายที่จะเสียชีวิตจากโรคนี้ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์อย่างทันท่วงที เพราะการรักษาอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยลดความรุนแรงจากภาวะสมองตาย ความพิการ และการเสียชีวิตได้
3. โรคข้อเสื่อม
จากสถิติของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อไม่นานมานี้พบว่า คนไทยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมกว่า 6 ล้านคน โดยบริเวณที่เสี่ยงกับการเป็นข้อเสื่อมมากที่สุดคือ ข้อเข่า เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อขนาดใหญ่มีหน้าที่ในการรับน้ำหนักร่างกาย อีกทั้งในชีวิตประจำวันต้องทำหน้าที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยอาการข้อเสื่อมที่สังเกตได้คือมีอาการปวดข้อ ข้อติดขัด มีเสียงดังกรอบแกรบบริเวณข้อเวลาเคลื่อนไหว บางคนมีอาการข้อบวมร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อม
4. โรคหัวใจขาดเลือด
หนึ่งในโรคยอดฮิตของผู้สูงอายุที่หมายถึง โรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือบางครั้งไม่มีไปเลี้ยงเลย ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ บางคนอาการรุนแรงทำให้เกิดภาวะของกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ซึ่งสาเหตุของโรคนี้ก็มาจากการแข็งตัวของหลอดเลือด เนื่องจากไขมันไปสะสมบริเวณผนังหลอดเลือดด้านใน ทำให้เลือดที่อยู่ด้านในไหลผ่านได้ไม่สะดวกเพราะหลอดเลือดแคบลง นอกจากนี้การอุดตันของลิ่มเลือดและเกร็ดเลือดก็เป็นสาเหตุของโรคนี้เช่นกัน โดยอาการที่สำคัญของโรคหัวใจขาดเลือดก็คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก อึดอัดบริเวณกลางหน้าอกหรือเบี่ยงมาทางซ้าย หายใจไม่สะดวก บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด เจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือคอร่วมด้วย
5. โรคสมองเสื่อม
เป็นภาวะทางสมองที่ส่งผลให้ความสามารถทางสติปัญญาลดลง ความคิดและความทรงจำผิดปกติ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่มักพบบ่อยมากในผู้สูงอายุ โดยแสดงอาการหลงลืม คิดช้า สับสน พูดและทำซ้ำๆ ซึ่งสาเหตุของโรคสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยโรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์จะเป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด
ในปี 2558 จากสถิติมีการพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 6 แสนคน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุคนไทยป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 1,177,000 คน โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนในการเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 5-8 ขณะที่ผู้ที่มีอายุ 80 ปีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50
ขอบคุณข้อมูลจาก
1. โรงพยาบาลสุขุมวิท
2. โรงพยาบาลศิครินทร์
3. โรงพยาบาลศิริราช ปิยราชการุณย์
4. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
5. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
6. www.medparkhospital.com/content/stroke
7. ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล