เคยไหม... ที่ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก พร้อมกับอาการโอดโอยเจ็บปวดเฉียบพลันจากการเป็นตะคริวบริเวณน่อง?
อาการตะคริว (Muscle Cramps) เกิดขึ้นจากหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อส่วนนั้นและกลายเป็นก้อนแข็งขึ้นอย่างฉับพลัน บางคนจะมีความเจ็บปวดทรมานมาก แต่ส่วนใหญ่อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อกล้ามเนื้อเริ่มคลายตัวอาการดังกล่าวก็จะเริ่มหายไป ซึ่งการเป็นตะคริวสามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย และสามารถเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลายมัดพร้อมกันก็ได้
การเป็นตะคริว นอกจากจะเกิดขึ้นขณะหรือหลังการเล่นกีฬาแล้ว ยังเกิดในระหว่างการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ใช้กล้ามเนื้ออย่างหนักได้ เช่น การยกของน้ำหนักมากๆ หรือใช้กล้ามเนื้อบริเวณหนึ่งบริเวณใดเป็นเวลานานๆ ได้เช่นกัน รวมทั้งการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับเวลากลางคืน หรือที่เรียกว่า การเป็นตะคริวตอนกลางคืน (Nocturnal Leg Cramps)
อาการตะคริวขึ้นตอนกลางคืนสามารถเกิดได้บ่อยในวัยกลางคืนและผู้สูงอายุ และส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณต้นขาหรือน่อง แต่สาเหตุที่แน่ชัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากอะไร แต่ข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดอาจจะมีสาเหตุมาจากอาการล้าของกล้ามเนื้อ และการทำงานของเส้นประสาทที่ผิดปกติเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังอาจจะมาจากสาเหตุ
1. เส้นประสาททำงานผิดปกติ
2. ในระหว่างวันดื่มน้ำน้อยเกินไป
3. ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน
4. มีการออกกำลังกายระหว่างวัน หรือในช่วงเย็นมากเกินไป
5. นอนในท่าเดิมหรือนอนท่าที่ไม่สะดวกเป็นเวลานาน จนเกิดการกดทับของกล้ามเนื้อ
6. ใช้กล้ามเนื้อขาระหว่างวันอย่างหนัก และผิดท่าทางนานเกินไป เช่น นั่งไขว่ห้างหรือยืนบนพื้นแข็งนานเกินไป
โดยอาการของตะคริวขึ้นตอนกลางคืน (Nocturnal Leg Cramps) ก็คือ การหดเกร็งของกล้ามเนื้อโดยเฉียบพลันสร้างความเจ็บปวดให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ โดยไม่มีความแตกต่างจากการเป็นตะคริวทั่วไป แต่ผู้ที่เป็นอาจจะรู้สึกเจ็บปวดทรมานมากกว่า เนื่องจากเป็นการเกิดขึ้นทันทีทันใดขณะไม่รู้ตัวตอนที่นอนหลับ
ในช่วงแรกเมื่อตะคริวขึ้นตอนกลางคืนอาจจะสร้างความเจ็บปวดมาก แต่ส่วนใหญ่อาการดังกล่าวจะหายไปเองหากกล้ามเนื้อบริเวณนั้นคลายตัว และเมื่อเกิดอาการก็สามารถบรรเทาได้ด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ กับวิธีดังต่อไปนี้
1. พยายามยืดกล้ามเนื้อในบริเวณที่เกิดตะคริว (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณน่อง) ด้วยการนั่งยองๆ คล้ายกับการแก้ไขอาการของนักกีฬาฟุตบอล หรือยืดกล้ามเนื้อด้วยการเหยียดขาให้ตรง หลังจากนั้นค่อย ๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัว
2. นวดเบาๆ บริเวณที่เกิดตะคริวเพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
3. บรรเทาด้วยการประคบร้อน หรือประคบเย็น
4. หลังจากอาการตะคริวหายไป อาจจะยังปวดบริเวณกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ สามารถรับประทานยาแก้ปวดร่วมได้
นอกจากนี้ในกรณีของคนที่มักจะเป็นตะคริวบ่อยๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รับประทานแร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium) เป็นประจำ เพราะแร่ธาตุชนิดนี้สามารถป้องกันและบรรเทาการเป็นตะคริวได้ (อ่านประโยชน์ของแมกนีเซียมได้ที่นี่)
ขอบคุณข้อมูลจาก
1. โรงพยาบาลเปาโล https://bit.ly/3GPSJfF
2. https://bit.ly/3mJDNb4 (www.pobpad.com)
3. https://www.webmd.com/sleep-disorders/leg-cramps
4. นพ. โชติวุฒิ ตันศิริสิทธิกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาประสาทวิทยา รพ. สมิติเวช สุขุมวิท https://bit.ly/3mGKOcx