นอกจากฤดูฝนแล้ว ‘ฤดูหนาว’ ถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องดูแลสุขภาพให้มากเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่ร่างกายจะเจ็บป่วยจากสภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความชื้นจากฤดูฝนก็ยังคงอยู่ และเชื้อโรคต่างๆ ที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิที่ลดต่ำลง ถ้าร่างกายปรับตัวไม่ทันก็สามารถส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพากลุ่มผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งมีภูมิต้านทานน้อยกว่าวัยอื่นๆ
National Institutes of Health หรือ NIH ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้ความรู้กับคำถามที่ว่า ‘ทำไมเราถึงป่วยในฤดูหนาวได้ง่ายกว่าฤดูอื่นๆ’ ไว้ว่า “ในอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเชื้อโรคจะมีความแข็งแรงเป็นพิเศษโดยเฉพาะไวรัส เนื่องจากเชื้อโรคจะสร้างเกราะป้องกันตัวเองเพื่อให้สามารถแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งได้ง่าย แต่ในช่วงที่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเกราะของเชื้อไวรัสจะแปรสภาพ และมีความแข็งแรงน้อยกว่าในการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ที่อื่นได้ เมื่อเชื้อไม่แพร่กระจาย หรือแพร่กระจายได้น้อยลงโอกาสติดเชื้อ และร่างกายเจ็บป่วยก็จะลดลง”
1. ไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน โดยมีไวรัสที่ชื่อว่า Iinfluenza Virus เป็นต้นเหตุของโรค เป็นหนึ่งในโรคที่แพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว อาการของไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาวสั่น มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูก ไอแห้ง และบางรายมีอาการปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงร่วมด้วย แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถฉีดเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้แล้ว
และจำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนนี้ทุกปี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และเด็ก
2. ไข้หวัดธรรมดา
โรคยอดฮิตของฤดูหนาวที่มีอัตราคนป่วยมากที่สุด อาการของไข้หวัดธรรมดาจะมีความรุนแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ แสดงอาการผ่านการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ หากมีไข้เล็กน้อย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ซึ่งบางรายอาการไม่รุนแรงเพียงแค่ดื่มน้ำอุ่น รับประทานยาลดไข้ ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย และนอนพักผ่อนให้มากอาการก็จะหายไปในเวลาเพียงไม่กี่วัน
3. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
หลายคนเข้าใจผิดว่า โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน แต่แท้ที่จริงแล้วในฤดูหนาวก็เป็นฤดูกาลของโรคนี้ได้เช่นกัน และในระยะหลังก็มีผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้นทุกปีโดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุจนทำให้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ออกมารณรงค์และให้ความสำคัญกับโรคนี้เป็นพิเศษ โดยเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันคือ โรตาไวรัส (Rota virus)
อาการที่พบก็คือ มีไข้ อาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรง บางรายที่เสียน้ำมากจนเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการใดที่สามารถกำจัดการติดเชื้อหรือการติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากไปกว่าการระมัดระวังเรื่องการรับประทานที่ปรุงสุกใหม่ๆ การล้างมือด้วยสบู่ หรือน้ำยาทำความสะอาด ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายได้
4. ปอดบวม
อีกหนึ่งโรคร้ายแรงในระบบทางเดินหายใจที่เกิดได้บ่อยในฤดูหนาว โรคนี้เกิดจากถุงลมที่อยู่ในปอดติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียจนเกิดความผิดปกติที่เนื้อปอดทำให้มีปัญหาในการรับออกซิเจนได้น้อยลง ส่งผลกับการหายใจโดยตรง โดยโรคนี้จะแสดงผ่านอาการ แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ไอ มีเสมหะ มีไข้สูง ซึ่งหากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคปอดบวมต้องรีบมาพบแพทย์โดยด่วน
5. โรคหัด
นอกเหนือจากโรคท้องร่วงเฉียบพลันที่มักเกิดกับเด็กในช่วงฤดูหนาวแล้ว อีกหนี่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังด้วยก็คือ โรคหัด ซึ่งเกิดจากเชื้อ Rubeola Virus อาการที่แสดงออกมาของเด็กที่ติดเชื้อคคือ มีอาการไข้ ไอถี่ ตาแดง น้ำตาไหล มีตุ่มเล็กๆ สีแดงคล้ำขึ้นตามผิวหนัง และจะหายไปเอง ภายใน 7 วัน ซึ่งในปัจจุบันอาจจะต้องกังวลกับโรคนี้มากนัก เพียงต้องเฝ้าระวังให้มีโอกาสเกิดน้อยที่สุด เนื่องจากมีวัคซีนที่สามารถฉีดป้องกันได้
1. รับประทานโดยเน้นผักและผลไม้ให้หลากหลาย
โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผักคะน้า บล็อกโคลี่ ฝรั่ง ส้ม และกีวี่ เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณวิตามินซีและใยอาหารมากพอที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้
2. รักษาระดับน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
มีข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจะมีโอกาสป่วยเป็นหวัดได้นานกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ 1.5 เท่า และนอกจากนี้ยังเสี่ยงกับอาการข้างเคียงจากไข้หวัดได้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ
3. ควรล้างมือก่อนการปรุงอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร
เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียเฉียบพลัน รวมทั้งเชื้อโรคอื่นๆ เช่น COVID-19
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นยาวิเศษที่ปลอดภัยและทำได้ทุกวัย บางคนอาจจะคิดว่าการออกกกำลังกายในฤดูหนาวเป็นเรื่องยาก แต่ข้อดีของการออกกำลังกายมากกว่า 30 นาทีต่อวัน จะช่วยเรื่องการหมุนเวียนโลหิตและเพิ่มความแข็งแรงของเม็ดเลือดขาวให้สามารถต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้
5. นอนหลับให้เพียงพอ
การอดนอน นอนน้อย เป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงอย่างน่าตกใจ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลไหน เราก็ควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยในขณะที่นอนหลับร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
เข้าใจว่าในฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง แต่สำหรับบางคนอาจจะต้องหลีกเลี่ยงและลดปริมาณในการดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง รวมทั้งต้องงดสูบบุหรี่ เพราะสองพฤติกรรมนี้สัมพันธ์กับความเสื่อมถอยของภูมิคุ้มกันโดยตรง ยิ่งดื่มมากสูบมากร่างกายยิ่งเสี่ยงกับอาการป่วยได้ง่ายขึ้น
7. หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ และฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์
ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูหนาวการตรวจร่างกายควรต้องทำเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิศษ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ รวมทั้งควรได้รับวัคซีนที่จำเป็นตามที่แพทย์แนะนำ
ขอบคุณข้อมูลจาก
1. นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
2. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/how-to-boost-your-immune-system