ในปัจจุบันคนไทยจำนวนมากป่วยจากโรคร้ายแรงอันเนื่องมาจากสาเหตุของการติดอาหารเค็ม และอาหารที่มีโซเดียมสูงมีมากกว่า 22 ล้านคน โดยแบ่งเป็นโรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน คิดเป็น 23.5% โรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน หรือ 1.1 % โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคน หรือ 1.4% และโรคไต 7.6 ล้านคน หรือ 17.5 % ส่วนสถิติการเสียชีวิตอยู่ที่ปีละ 20,000 หมื่นคน (ข้อมูลจาก : เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงสาธารณสุข)
โดยค่ามาตรฐานในการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียม องค์การอนามัยโลก (WHO) ควรจะต้องได้รับไม่เกิน 2,000 มก. หรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน แต่คนไทยกลับได้รับต่อวันมากกว่าค่าที่กำหนดถึง 2 เท่า และจากการสำรวจยังพบว่าคนไทยที่อาศัยอยู่ในภาคใต้จะมีอัตราการรับประทานเค็มมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลก)
จากสถิติที่น่าวิตกเกี่ยวกับสุขภาพของคนไทยในประเทศต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม จึงได้มีการกำหนดแนวทางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดการรับประทานอาหารเค็ม และอาหารที่มีโซเดียมสูง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต
1. เลือกการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป
กุญแจที่สำคัญที่สุดของการลดเค็มก็คือ การเลือกรับประทานอาหารแปรรูปให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะในอาหารแปรรูปที่ต้องการถนอมอาหารให้อยู่ได้นานล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่เต็มไปด้วยโซเดียมในปริมาณสูง ไม่ว่าจะเป็น แฮม เบคอน ไส้กรอก ผักดอง อาหารกระป๋อง อาหารรมควัน ดังนั้นการไม่รับประทานหรือลดปริมาณการรับประทาน เท่ากับเป็นการลดรับโซเดียมและลดเค็มไม่ให้เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป
2. ลดการปรุงแต่งรสชาติอาหาร
โดยเฉพาะคนที่ชอบเติมน้ำปลา พริกน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ น้ำจิ้มต่างๆ รวมทั้งผงชูรส และผงปรุงรสควรต้องลดปริมาณในการปรุงแต่งให้น้อยลงจากเดิม 1 ช้อนก็ให้เหลือประมาณ ½ ช้อน หรือ 50%
3. ตรวจสอบฉลากอาหารก่อนซื้อ
สังเกตและตรวจสอบฉลากอาหารจะทำให้เริ่มเปรียบเทียบอาหารที่จะซื้อได้ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น อาหารบางอย่างโฆษณาว่าเป็นของว่างเพื่อสุขภาพที่ให้ปริมาณโปรตีนสูง แต่กลับพบกว่าปริมาณของโซเดียมก็สูงมากเช่นกัน ซึ่งการซื้อแต่ละครั้งต้องรู้จักพิจารณาอย่างถี่ถ้วนให้มากขึ้น ซึ่งในเรื่องค่าสูงสุดของปริมาณโซเดียมที่ต้องแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารต้องไม่เกิน 2,000 มก.