Search

อาการชา อย่ารอช้าต้องรีบแก้ไข

อาการชา
อาการชา ปลายมือ


เคยมีบางครั้งที่เกิด อาการชา เช่น ชาปลายมือปลายเท้า หรือรู้สึกยิบๆ ซ่าๆ เหมือนเข็มทิ่ม หรือเสียวคล้ายถูกไฟช็อต แม้จะเป็นแค่ชั่วคราวแต่ก็ทำให้เกิดความรำคาญได้ และอาการชาอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท หากปล่อยทิ้งเอาไว้นานๆ อาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้

อาการชา คืออาการแบบไหน

อาการชา เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทหรือการกดทับของเส้นประสาทบริเวณต่างๆ โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนในร่างกาย มีอาการความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หรือเย็นน้อยกว่าปกติหรือไม่มีความรู้สึกอะไรเลย แต่สำหรับบางคนอาจมีรู้สึกซ่าๆ ที่ปลายมือ ปลายเท้าคล้ายถูกไฟช็อต หรือมีอาการยุบยิบเหมือนมีเข็นทิ่มตามปลายมือและปลายเท้า ในบางครั้งอาจเป็นแล้วหายไป แต่สามารถกลับมาเป็นได้อีกและมีอาการอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอาการชาเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคหรือเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่ตามมา หากทิ้งเอาไว้อาจทำให้เกิดการสูญเสียของเส้นประสาทอย่างถาวรและการรักษาหรือฟื้นฟูต้องใช้เวลานานกว่าปกติ

สาเหตุของ อาการชา จากระบบเส้นประสาทส่วนปลาย

  1. การกดทับของเส้นประสาทในแขนขา
    การนั่งท่าเดิมนานๆ ทำท่าทางซ้ำๆ หรือมากเกินไป เช่น การนั่งไขว้ขา การใช้มือและนิ้วทำงานคอมพิวเตอร์หรือเล่นโทรศัพท์ตลอดทั้งวัน การถือของหนัก รวมไปถึงนักกีฬาที่ต้องใช้มือหรือข้อมือเป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการอ่อนแรง หรือมีกล้ามเนื้อในลีบได้หากถูกกดทับนานๆ
  2. ได้รับอุบัติเหตุ
    การเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่เส้นประสาทโดยตรง ส่งผลให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตามขึ้นกับตำแหน่งของเส้นประสาทที่ได้รับความเสียหายอีกด้วย โดยมักจะมีอาการชาแบบสูญเสียความรู้สึกและอ่อนแรงร่วมด้วย
  3. โรคทางพันธุกรรม
    ซึ่งเกิดจากเส้นประสาทหรือปลอกประสาทส่วนปลายเสื่อม โดยผู้ป่วยมักมีประวัติคนในครอบครัวที่มีอาการเกี่ยวกับปลายประสาท และมักมีอาการผิดรูปของเท้าหรือมือร่วมด้วย
  4. เกิดภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ
    เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวาน หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
  5. ร่างกายขาดวิตามิน
    การขาดวิตามินในผู้ป่วยที่ดื่มสุราอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ซึ่งอาจทำให้ได้รับสารอาหารและวิตามินไม่ครบถ้วนจนร่างกายขาดสารอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินบี
  6. การได้รับยาหรือสารบางอย่าง
    ยาและสารเคมีบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง ทำให้เส้นประสาทอักเสบ เช่น ยาฆ่าเชื้อได้แก่ Metronidazole, Ethambutol, Amiodarone, Colchicine เป็นต้น
  7. หลอดเลือดแดงและดำอุดตัน
    ทำให้การไหลเวียนของหลอดเลือดแดงที่นำไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทส่วนปลายลดลง และหลอดเลือดดำไม่สามารถนำเอาเลือดและของเสียกลับออกไปได้ มีความดันสูงเกิดขึ้นในแขนและขา จนเกิดอาการชาที่บริเวณนั้น และยังส่งผลให้เกิดการรบกวนการลำเลียงของเม็ดเลือดแดงที่มาเลี้ยงเส้นประสาท ทำให้มีอาการซีดลงอีกด้วย โดยมักมีอาการแขน ขา บวม สีคล้ำ ชา ปวด อ่อนแรง และไม่สามารถคลำหาชีพจรได้
  8. โรคกล้ามเนื้อ
    โดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทหรือการไหลเวียนเลือดไปยังเส้นประสาท อาจทำให้มีอาการชาร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ

5 โรคที่เกี่ยวข้องกับ อาการชา

  1. โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)
    ปกติแล้วเส้นประสาทจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสมองกับอวัยวะต่าง ๆ หากเส้นประสาทมีปัญหาจะส่งผลให้อวัยวะส่วนนั้นทำงานผิดปกติไปด้วย ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า หรือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้
  2. โรคเรย์นอด (Raynaud’s Disease)
    เกิดจากการที่หลอดเลือดแดงเล็กของนิ้วเกิดการหดตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเจอความเย็นหรือความเครียด ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีซีดลง รู้สึกเย็นหรือไร้ความรู้สึก เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงปลายนิ้วไม่ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า
  3. โรคเอ็นอักเสบที่ข้อมือ (De quervain’s Tenosynovitis)
    เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือด้านหลังทางฝั่งนิ้วโป้ง เกิดจากการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็น ทำให้เกิดการกดทับและหดตัวของเส้นเอ็นภายใน
  4. โรคเบาหวาน (Diabetes)
    ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการอักเสบของเส้นประสาทจนเกิดความเสียหายของเส้นประสาทบริเวณมือและเท้า ทำให้มีอาการชาที่ปลายนิ้วบริเวณนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าได้
  5. โรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ
    เกิดจากพังผืดบริเวณข้อมือมีขนาดใหญ่และหนามากขึ้น ทำให้มีการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือทำให้ช่องที่ให้เส้นเอ็นผ่านขณะงอหรือเหยียดนิ้วแคบลง ส่งผลให้มีอาการปวดและชาตามนิ้ว เพราะเส้นประสาทถูกกดทับ มักเกิดจากผู้ที่ใช้ข้อมือซ้ำๆ ติดต่อกันหลายวันและใช้งานมากเกินไป เช่น การงอข้อมือ การแอ่นข้อมือ ซึ่งอาชีพที่เสี่ยงจะเป็นโรคนี้ได้แก่ ชาวไร่ชาวสวน ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือกีฬาที่ใช้ข้อมือมาก เป็นต้น

การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้า

กรณีอาการชาไม่รุนแรง
หากมีอาการชาแบบซ่าๆ เป็นระยะ ให้สะบัดข้อมือข้อเท้า พยายามขยับมือเท้าบ่อยๆ หรือปรับเปลี่ยนท่าทางก็สามารถช่วยให้อาการหายได้ เพื่อไม่ให้เส้นประสาทเกิดการกดทับ หรือเกิดพังผืดที่เส้นประสาท หรืออาจรับประทานวิตามินบีเสริมเพื่อเติมสารอาหารให้ร่างกายไม่ขาด

กรณีอาการชารุนแรงและต่อเนื่อง
รักษาอาการชาปลายมือปลายเท้าด้วยยาต้านการอักเสบของเส้นประสาท ร่วมกับการงดทำกิจกรรมหรือใช้งานมือ แขน และเท้าที่หนักเกินไป หากอาการชายังไม่ดีขึ้น ต้องเข้าไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาดารผ่าตัดเอ็นที่กดทับเส้นประสาทออก

กรณีเป็นผลข้างเคียงจากโรคอื่น
หากผู้ป่วยมีอาการชา ที่เป็นผลพวงจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน ผู้ป่วยควรลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และเสริมด้วยวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างกลุ่มวิตามินบี ได้แก่ B1 B2 B12 และกรดโฟลิค เพื่อบำรุงระบบประสาท มีส่วนช่วยในการสร้างสื่อประสาท และซ่อมแซมเส้นประสาท ส่งผลให้อาการชาปลายมือปลายเท้าลดลง รวมถึงการรับประทานกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระร่วมด้วย

วิธีดูแลตนเองเมื่อมีอาการชาปลายมือปลายเท้า

1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นไปตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ

2. หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานหรือกิจกรรมที่อยู่ในท่าและตำแหน่งเดิมเป็นเวลานานๆ  และควรปรับเปลี่ยนท่าในการทำงานให้เหมาะสม เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากการทำงานหรือการเคลื่อนไหวซ้ำๆ

3. ควรหยุดพักจากการทำงานที่อยู่ในท่าเดิมหรือการทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นระยะทุก 30 นาที - 1 ชั่วโมง เป็นการปรับเปลี่ยนท่าให้ร่างกายได้มีการขยับและเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ลดความตึงของกล้ามเนื้อ

4. งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป

5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารที่ทำให้เกิดอาการชาปลายนิ้ว การรับประทานอาหารเสริมเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยป้องกันการขาดสารอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน และควรเลือกอาหารเสริมอย่างถูกต้องเหมาะสม เชื่อถือได้ และอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ

6. หากมีอาการชาปลายมือปลายเท้าที่รุนแรงขึ้นจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจรักษาโดยทันที

อาการชาปลายมือปลายเท้า อาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้ง แต่อย่านิ่งนอนใจไป เพราะอาการชาอาจลุกลามและเพิ่มความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคต่างๆ ที่จะตามมา ค่อยสังเกตอาการของตัวเองและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ป้องกันอาการชา ด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงระบบประสาท

  1. กลุ่มวิตามินบี
    วิตามินบี (Vitamin B) เป็นวิตามินที่สามารถละลายน้ำได้ เป็นกลุ่มวิตามินที่สำคัญต่อการบำรุงระบบประสาท ถ้ากลัวว่าการรับประทานอาหารจะได้รับวิตามินบีไม่เพียงพอ การรับประทานวิตามินเสริมเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินที่เพียงพอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ง่ายและสะดวกต่อผู้ที่ไม่มีเวลา โดยวิตามินบีที่มีส่วนสำคัญช่วยบำรุงเส้นประสาท ได้แก่ วิตามิน B1 B6 และ B12

    วิตามิน B1 หรือ ไทอามีน (Thiamine) ทำหน้าที่สร้างเยื่อหุ้มเพื่อปกป้องเส้นประสาทสำหรับรับ-ส่งกระแสประสาทผ่านระบบสังเคราะห์สารสื่อประสาท หากร่างกายขาดวิตามิน B1 จะมีสัญญาณเตือน เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกเหนื่อยง่าย เป็นผลมาจากเกิดการถูกทำลายเส้นประสาท จึงส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายถูกรบกวนกระบวนการทำงาน อย่างระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และยังรวมไปถึงระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติและลดการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มักจะพบบ่อยในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานแต่ไม่ควบคุม และทำให้เกิดโรคเส้นประสาทตามมา

    – วิตามิน B6 หรือ ไพริด็อกซีน (Pyridoxine) มีส่วนช่วยในการขนส่งน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย หากร่างกายขาดวิตามิน B6 จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เนื่องจากร่างกายไม่สามารถเอาน้ำตาลกลูโคสมาเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดทำลายระบบประสาทจนเกิดโรคเส้นประสาทได้ นอกกจากนี้หากร่างกายขาดวิตามิน B6 เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การเกิดโรคปลายประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย

    – วิตามิน B12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin) ถือได้ว่าเป็นวิตามินที่สำคัญมากต่อระบบประสาทเป็นอย่างมาก เพราะวิตามิน B12 ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างและเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท หากร่างกายขาดวิตามิน B12 เป็นเวลานาน จะส่งผลให้เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มและป้องกันเส้นประสาทเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโรคเส้นประสาทขึ้นได้
  2. กลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
    ในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะพบมีสารอนุมูลอิสระในร่างกายเยอะ จึงทำให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เร็วขึ้น มากกว่า 20% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ในระยะแรกจะพบปลายประสาทเสื่อม ปวดชาตามปลายมือปลายเท้า ระยะต่อมาจะทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ ไต และการย่อยอาหารผิดปกติ กลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระจะรักษาระบบประสาทอักเสบที่ต้นเหตุ ช่วยป้องกันหรือลดภาวะอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน โดยกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระที่เกี่ยวกับการรักษาอาการชาและระบบประสาทอักเสบ ได้แก่ วิตามินอี แอลฟ่าไลโปอิคแอซิด สังกะสี โครเมียม คอปปเปอร์ แคโรทีนอยด์ เป็นต้น

หากปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเลิกสูบบุหรี่ การลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และหันมาดูแลสุขภาพ โดยเริ่มต้นจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ แม้แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน หากมีการรักษาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพียงเท่านี้ก็สามารถลดอาการชาปลายมือปลายเท้า และช่วยป้องกันการทำลายของระประสาทได้…ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ภาวะนอนไม่หลับ

อยากนอน แต่นอนไม่หลับ

ภาวะนอนไม่หลับ

การนอนไม่หลับ ปัญหาสุขภาพวัยสูงอายุ

บำรุงสมองเสริมความจำ

ใบแปะก๊วยกับคุณประโยชน์ทางการแพทย์