"เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ใครก็ตามที่เป็นโรคในกลุ่มนี้แล้วเสี่ยงกับการเสียชีวิต"
"เป็นกลุ่มโรคที่เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย"
"เป็นภัยเงียบที่กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคในกลุ่มนี้... บางคนเสียชีวิตกะทันหัน นี่คือความน่ากลัวของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs"
ทางการแพทย์โรค NCDs หรือชื่อเต็มว่า Non-Communicable Diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือเป็นโรค
ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคใดๆ และไม่ใช่โรคติดต่อที่จะสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ผิด ซึ่งเป็นโรคที่มีการสะสมอาการอย่างช้าๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งแสดงอาการรุนแรงออกมา และส่วนใหญ่จะมีอาการเรื้อรังของโรคตามมา
1. โรคเบาหวาน
เป็นโรคเรื้อรังอีกโรคหนึ่งที่ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมในการรับประทานอาหารหวานจัด เป็นโรคที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะไตวายได้อนาคต
2. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
เป็นโรคที่เสี่ยงกับการเสียชีวิต เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่อาจจะไม่มีสัญญาณใดๆ เตือนมาก่อน พอมีอาการก็จะแสดงออกมารุนแรงในทันที เสี่ยงต่อการหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากในคนไทย
3. โรคหลอดเลือดสมอง
ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย นอกจากจะเกิดกับคนที่มีอายุมากกว่า 45ปีขึ้นไปในปัจจุบันยังพบในคนวัยทำงานมากขึ้น และกลุ่มคนเหล่านี้มักมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และยังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
4. โรคความดันโลหิตสูง
เป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุที่ชี้ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูงเกิดจาก น้ำหนักตัวที่เกินค่ามาตรฐาน พันธุ์กรรม การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
5. โรคถุงลมโป่งพอง
โรคยอดนิยมของคนสูบบุหรี่ ซึ่งโรคถุงลมโป่งพองสามารถที่จะพัฒนาเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในอนาคต โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก และหายใจมีเสียงวี้ด
6. โรคมะเร็ง
เป็นอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตคนไทยแต่ละปีในอันดับต้นๆ และมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุมีจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การได้รับสารเคมี พฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร โดยโรคมะเร็งอาการจะแสดงออกช้ากว่าโรคอื่นๆ แต่หากแสดงออกมาแล้ว มักจะเป็นระยะที่เข้าขั้นวิกฤต
7. โรคอ้วนลงพุง
ในปัจจุบันคนไทยต้องประสบกับโรคอ้วนมากถึงเกือบ 20 ล้านคน และทั้งหมดมีความเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนการเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ได้มากขึ้น
หนึ่งในปัจจัยความเสี่ยงทางพฤติกรรมของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) คือการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้คนในคุยปัจจุบันคุ้นชินกับการนั่งหรือนอนอยู่กับที่อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพระยะยาวอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งทั้ง 3 โรคที่ว่านี้คือ 3 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่บั่นทอนสุขภาพของคนไทยอย่างมาก
การบริโภคอาหารและโภชนาการที่ไม่ดีเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก พฤติกรรมการกินที่ส่งผลเสียไม่ว่าจะเป็นอาหารแคลอรี่สูง ไขมันอิ่มตัว ของทอด ของมัน โซเดียม และน้ำตาลที่เติมเข้าไป อาหารแปรรูป การรับประทานผักและผลไม้ในปริมาณน้อย นับเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางโภชนาการ และโรคอ้วนจำนวนมาก รวมทั้งโรคหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน
ข้อมูลเหล่านี้ตรงกับงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีเป็นปัจจัยความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตทั่วโลก ซึ่งนับได้ว่าก่อให้เกิดโรคร้ายได้มากกว่าการสูบบุหรี่ หรือโรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวสามารถป้องกันและจัดการได้ด้วยตัวเอง
1. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นภัยของสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนไทย 43 รายเสียชีวิต จากสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 380,000 ราย หรือร้อยละ 76%
จากอัตราการตายทั้งหมดในแต่ละปี
2. โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ 2 โรคร้ายแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นับเป็น 2 โรคที่เป็นสาเหตุสูงสุดของการเสียชีวิตในประเทศไทย โดยมีผู้เสียชีวิต 118,000 และ 114,000 รายตามลำดับ
3. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในครัวเรือนให้สูงขึ้นเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองโดยตรงแล้ว ยังมีผลโดยอ้อมอีกมหาศาล
4. นอกจากโรคเรื้อรังจะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัวสูงขึ้น โรคอันตรายเหล่านี้ก็ยังส่งผลให้จำนวนประชากรวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง ก่อให้เกิดผลิตภาพแรงงานที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยต่อคน
5. ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) แสดงให้เห็นว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นภัยร้ายที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในประเทศไทยสร้างภาระทางเศรษฐกิจให้สังคมไทยสูญเสียกว่า 280,000,000 บาท
6. โรคเรื้อรังก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจทั้งหมด 198,512 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการสูญเสียแรงงานในระบบ
7. งานวิจัยครั้งล่าสุดจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ยังแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 37.5 ของประชากรไทยอายุมากกว่า 15 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนอีกด้วย (BMI > 25 กก./ตร.ม.)
8. โรคร้ายยังส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก่อนจะส่งผลถึงชีวิต
เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่สะสมมาเป็นเวลา การลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคนี้ก็ต้องปรับที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือที่เรียกว่า Lifestyle Modificdation
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานผักและผลไม้
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน ของทอด และอาหารปิ้งย่าง
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง
4. จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
5. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก และผ่อนคลายความเครียด
6. ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
หลายคนอาจจะสงสัยว่า... ทำไมในปัจจุบันการป้องกันและลดความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs แพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องของการรับประทานอาหารเป็นอันดับแรก นั่นก็เป็นเพราะว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ทุกโรคมีจุดเริ่มต้นมาจากการับประทานอาหารทั้งสิ้น
เทรนด์ในการดูแลสุขภาพและลดโอกาสการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ด้วยอาหารที่เรียกว่า Plant-Based Whole Food เป็นหนึ่งในแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับความสนใจและนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีผลการวิจัยที่ยืนยันว่าสามารถที่ช่วยป้องกันและพลิกผันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ให้หายได้
อาหารจากพืชมีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกายสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ทารกวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุหรือแม้แต่นักกีฬา ผู้ที่รับประทานอาหารจากพืชจะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด เบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง มะเร็งบางชนิด และโรคอ้วน ซึ่งโรคเหล่านี้ก็คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ทั้งสิ้น
อาหารแบบพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (low fat, plant-based whole food) คืออาหารที่ถูกเลือกใช้ทำวิจัยรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ด้วยอาหาร เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น เป็นลักษณะของอาหารที่มีแต่พืช ไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย นมหรือไข่ก็ไม่มี เน้นส่วนที่มีไขมันต่ำ และไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหาร ทั้งนี้มีรายละเอียดในแง่ของคำนิยาม ดังนี้
1. พืชเป็นหลัก (plant-based) หมายถึงอาหารพืชทุกชนิด รวมทั้งผลไม้ ผักต่างๆ ถั่ว นัท ธัญพืชไม่ขัดสี และหัวพืชใต้ดิน
2. แบบไขมันต่ำ (low fat) หมายถึงการไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหารหรือราดบนอาหาร และในงานวิจัยที่เข้มงวดจะหมายความรวมการควบคุมปริมาณของพืชที่มีไขมันสูงเช่นอะโวกาโด ถั่ว นัท ด้วย คือลดการใช้น้ำมันไม่ว่าจะเป็นไขมันแบบอิ่มตัวหรือไม่อิ่มตัว โดยลดลงไปเหลือไม่เกิน 10% ของแคลอรีทั้งหมด
3. แบบธรรมชาติ (whole food) หมายถึง อาหารที่คงความใกล้เคียงกับสภาพที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีผ่านกระบวนการสกัด ขัดสี หรือกระบวนการปรุงแต่งเก็บถนอม
มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (low fat PBWF) สามารถรักษาผู้ที่เป็นโรคหัวใจและรักษาโรคเบาหวานให้หายได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดอาการปวดข้อในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ดีกว่าอาหารทั่วไป และเหมาะผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะเห็นผลลัพธ์ที่ดีมากและยังดีต่อสุขภาพระยะยาวด้วย อาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (low fat PBWF) จึงจัดเป็นอาหารสุขภาพอย่างแท้จริง (ขอบคุณข้อมูลจาก : นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตศัลยแพทย์โรคหัวใจ)
1. เริ่มต้นในปริมาณที่ไม่มาก อย่าเปลี่ยนการรับประทานจากอาหารที่คุ้นเคยในทันที เพราะร่างกายรวมถึงแบคทีเรียในลำไส้ต้องการเวลาในการปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เช่นนั้นแบคทีเรียที่ช่วยย่อยกากเส้นใยจากอาหารจำพวกพืชจะไม่ทำงาน หรือทำงานไม่ปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด และจะทำให้ไม่อยากรับประทานอาหารในแบบนี้อีกเลย
2. เมื่อเริ่มคุ้นชินกับอาหาร Plant-Based Whole Food แล้ว หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนพืชให้มากขึ้น และอาหารที่ควรเลือกรับประทานก็ควรเป็นแบบเมนูทำง่าย หรือทำแล้วสามารถแช่แข็งไว้อุ่นรับประทานได้หลายๆ เมนู เช่น สลัดผัก ข้าวผัดสาระพัดผักแบบไม่ใช้น้ำมัน หรือแซนด์วิชโฮลวีตเนยถั่ว เป็นต้น
3. อย่าบังคับตัวเองมากไป หากล้มเหลวก็เริ่มรับประทานใหม่จนร่างกายคุ้นชิน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา และต้องมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลง
4. สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร Plant-Based Whole Food หรือนักโภชนาการ หากมีข้อสงสัย
ขอบคุณข้อความจาก :
1. ไทยรัฐออนไลน์
2. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
3. นายแพทย์ สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตศัลยแพทย์โรคหัวใจ
4. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)