ยาแก้แพ้ เป็นยาที่ถูกนำมาใช้รักษาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อากาศ แพ้ขนสัตว์ แพ้ละอองเกสรดอกไม้ ผื่นคัน และลมพิษ ในปัจจุบันยาแก้แพ้ในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อ มีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากจะเลือกรับประทานยาแก้แพ้ สิ่งสำคัญเราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาแก้แพ้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยต่อตนเอง …
สนใจหัวข้อไหน...คลิกเลย
เลือกซื้อยาแก้แพ้อย่างไร ให้มีปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
โรคภูมิแพ้มีผลต่อระบบใดในร่างกาย ?
ทำไมยาแก้แพ้ ถึงควรมีไว้ติดบ้าน
ปฏิบัติตัวอย่างไร ให้ห่างไกล “ภูมิแพ้”
ยาแก้แพ้ (antihistamines) เป็นกลุ่มยาต้านสารฮีสตามีน มีคุณสมบัติในการยับยั้งตัวรับสารฮิสตามีนที่เป็นต้นเหตุของอาการแพ้ เช่น ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้อาหาร และภูมิแพ้ทางดวงตา โดยยาแก้แพ้ สามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่มคือ
ยาแก้แพ้แบบง่วง ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 (First generation antihistamine)
เป็นยาแก้แพ้แบบดั้งเดิม เช่น คลอเฟนิลามีน ไดเฟนไฮดรามีน ไฮดรอกไซซีน และไดเมนไฮดริเนต ยากลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้มีอาการง่วงซึม นอกจากมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงแล้ว ยาชนิดนี้ยังมีฤทธิ์ต้านระบบประสาทชนิดโคลเนอร์จิก ทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง เสมหะและน้ำมูกเหนียวข้น ท้องผูก ปัสสาวะขัดในผู้ชาย ซึ่งยากลุ่มนี้ไม่สามารถควบคุมอาการแพ้ได้ตลอดทั้งวันจึงต้องรับประทานยาวันละหลายครั้ง
ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 (Second generation antihistamine)
เป็นยาแก้แพ้ชนิดใหม่ถูกพัฒนามาจากรุ่นเก่าเพื่อลดข้อบกพร่อง ซึ่งยาแก้แพ้ชนิดใหม่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถดูดซึมเข้าสู่สมองได้น้อยกว่าแบบกลุ่มเก่า จึงไม่ทำให้มีอาการง่วงซึมหรือมีอาการง่วงซึมน้อยในผู้ใช้ยาในบางราย โดยยากลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ประมาณ 24 ชั่วโมง เพราะสามารถจับกับตัวรับฮีสตามีนได้แน่นและนานขึ้น ทำให้ควบคุมอาการแพ้ได้ตลอดทั้งวัน และไม่ส่งผลเสียในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะแตกต่างจากยารักษาภูมิแพ้กลุ่มเก่าจึงทำให้สามารถรับประทานยาเพียง 1-2 เม็ดต่อวันได้ โดยกลุ่มยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง ได้แก่ ลอราทาดีน (loratadine) เซทิริซีน (cetirizine) เป็นต้น
ในปัจจุบันยาแก้แพ้ในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อและส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากจะเลือกรับประทานยาแก้แพ้ควรพิจารณาถึงประโยชน์และข้อดีในการรักษาอาการแพ้ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมกับตัวเองให้มากที่สุด
เลือกซื้อยาแก้แพ้จากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต โดยมีเภสัชกรประจำอยู่ในร้าน
เลือกยาแก้แพ้ที่มีส่วนประกอบและสรรพคุณที่เหมาะสม
ตรวจสอบภาชนะบรรจุยาให้อยู่ในความเรียบร้อย ไม่ฉีดขาด และมีเอกสารกำกับยาครบถ้วน
สังเกตวันหมดอายุของยาที่แจ้งไว้บนฉลาก วัน /เดือน /ปี ที่ผลิตยา
เลือกยาแก้แพ้ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคภูมิแพ้ได้ดี เพื่อควบคุมอาการแพ้ได้ตลอดทั้งวันและไม่ส่งผลเสียในการดำเนินชีวิตประจำวัน
เลือกยาแก้แพ้ในรูปแบบแคปซูลนิ่มเพื่อการออกฤทธิ์ที่เร็วขึ้น จึงไม่ต้องรอการแตกตัวของยา และไม่จำเป็นต้องรับประทานหลายเม็ด
เลือกยาแก้แพ้ในกลุ่มที่ 2 ที่มีลอราทาดีน (loratadine) และเซทิริซีน (cetirizine) ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีผลข้างเคียงน้อยทำให้ไม่ส่งผลเสียในการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถใช้ตอนกลางวันหรือตอนทำงานได้ ไม่ทำให้มีอาการง่วงซึม แต่อาจมีอาการง่วงซึมเล็กน้อยในผู้ใช้ยาบางราย
ไม่รับประทานยาร่วมกับสุราหรือสิ่งที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะยิ่งทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์กดประสาท และทำให้ง่วงซึมมากกว่าเดิม
ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับ ร่วมถึงหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในการให้นมบุตร
ผู้ที่รับประทานยาแก้แพ้ควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร หรือการขับขี่ยานพาหนะต่าง ๆเพราะยาแก้แพ้บางชนิดอาจทำให้มีอาการง่วงซึม หรือสามารถเลือกใช้ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแทน เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เซทิริซีน (Cetirizine) เพื่อความปลอดภัยที่ดีกว่า
โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย โดยแบ่งตามอวัยวะที่เป็น ได้แก่ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง โรคภูมิแพ้อาหาร และโรคภูมิแพ้ทางดวงตา
ภูมิแพ้ทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้อากาศ มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะจมูกและหลอดลมเป็นส่วนมาก เมื่อร่างกายสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานานจะเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้เกิดอาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล คันคอ คันจมูก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว ไอมากตอนกลางคืน โดยส่วนมากมักจะมีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ และอาการหนักขึ้นในช่วงฤดูหนาว
ภูมิแพ้ทางผิวหนัง มักเกิดกับผู้ที่มีผิวหนังที่ไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี หรือแม้แต่การรับประทานอาหารบางชนิดแต่ในบางรายอาจเกิดได้จากความเครียด ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งอาการจะแสดงออกทางผิวหนัง เช่น ผดผื่นขึ้นตามใบหน้าและลำตัว ผิวหนังแห้ง และคันตามผิวหนัง
ภูมิแพ้อาหารและยา เกิดจากปฏิกิริยาที่ไวต่ออาหารหรือยาที่รับประทานเข้าไป จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้าอาหารและยาบางชนิด มักมีอาการทันทีเช่น บวมริมฝีปาก คันคอ คัดจมูก หอบหืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก ในบางรายอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ ความดันโลหิตต่ำ หรือจนถึงเสียชีวิต
ภูมิแพ้ทางดวงตา เกิดจากการอักเสบของเยื่อตาขาวและใต้หนังตา ทำให้มีอาการ คันตา ตาแดง ตาบวม น้ำตาไหล ส่วนใหญ่มักมีอาการช่วงได้รับสารกระตุ้น เช่น ไรฝุ่น ควัน ละอองเกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยถึงมีอัตราสูงขึ้น 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน และส่วนใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศถึง 30% ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นไม่ใช่เพียงแค่สภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล แต่ยังมีปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น มลภาวะจากอุตสาหกรรม การจราจร หรือแม้กระทั่งฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้กำเริบไม่ว่าจะเป็น ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้อาหาร และภูมิแพ้ทางดวงตา
แน่นอนว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อาการภูมิแพ้ได้ และไม่สามารถรู้ด้วยว่าอาการภูมิแพ้จะกำเริบตอนไหน แต่เราสามารถที่จะป้องกันและเตรียมความพร้อมกับโรคภูมิแพ้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการเตรียมยาแก้แพ้ไว้ในบ้านก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีอาการ ซึ่งปัจจุบันมีการ WFH กันมากขึ้นหากอาการภูมิแพ้กำเริบเราก็สามารถเลือกรับประทานยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแทน เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เซทิริซีน (Cetirizine) ซึ่งผลข้างเคียงน้อยทำให้ไม่ส่งผลเสียในการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถใช้ตอนกลางวันหรือตอนทำงานได้ ไม่ทำให้มีอาการง่วงซึม และนี่คือเหตุว่าทำไมยาแก้แพ้ ถึงควรมีไว้ติดบ้าน …
หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ : เช่น ฝุ่น ควัน ไรฝุ่น มลพิษ เกสรดอกไม้ หรืออาหารบางชนิด
สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือ สวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องออกจากบ้านหรืออาคาร
ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่ให้เหมาะสม: โดยเฉพาะดูแลเรื่องไรฝุ่นที่เป็นปัญหาพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดภูมิแพ้ทางผิวหนังและทางเดินหายใจ
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ : เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและสร้างเซลล์ในระบบภูมิต้านทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ : เพื่อให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง
รับประทานอาหารที่ช่วยสร้างภูมิต้านทาน: รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน โดยเฉพาะวิตามินซี วิตามินดี Zinc โปรไปโอติกส์ และโปรตีน เป็นต้น
ติดเครื่องฟอกอากาศเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น
สุขภาพจะแข็งแรงได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา ดังนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: ไขข้อข้องใจ...ทำไมกินยาแก้แพ้แล้วไม่หายสักที