เทรนด์สุขภาพประจำเดือน มีนาคม 2565

เทรนด์สุขภาพประจำเดือน มีนาคม 2565

การอดอาหารเพื่อต้องการลดน้ำหนัก วิธีที่หลายคนคิดไปเองว่าดี แต่จริงๆ แล้วมีแต่โทษ

     ประโยคที่ว่า “เอาเข้าให้น้อย เอาออกให้มาก” ตามที่นักโภชนการหรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักปฏิบัติ หากไม่ได้ศึกษาถึงรายละเอียดอย่างถ่องแท้แล้ว หลายคนคงคิดว่าคือการให้ ‘กินน้อยๆ หรือไม่ก็อดอาหาร แล้วออกกำลังกายให้มากขึ้น’ แต่นั่นคือความคิดที่ผิด และส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

    การอดอาหารต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ขาดสารอาหาร ส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน และระดับน้ำตาลในเลือดที่จะลดต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย หงุดหงิดง่าย และเจ็บป่วยบ่อย เนื่องจากขาดสารอาหารที่จำเป็น

     อีกทั้งทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานผิดปกติ สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยที่เชื่อถือได้ในต่างประเทศพบว่า ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีอดอาหารมักมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด และเครียดได้ง่ายกว่าปกติ เพราะเนื่องจากร่างกายขาดสารอาหาร ทำให้ระดับสารเคมีในสมองไม่สมดุล ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคตได้

     เห็นได้ว่าการอดอาหารไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของการลดน้ำหนักและดูแลรูปร่าง หากทำพฤติกรรมดังกล่าวต่อเนื่องไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายแต่อย่างใด ซ้ำยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคเรื้อรังตามมาในระยะยาว

     ซึ่งหัวใจสำคัญของการลดน้ำหนักและดูแลรูปร่าง คือการรับประทานอาหารแต่พอดี เลือกสารอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังเพื่อลดไขมันและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

negative effects of weight loss

ไม่ต้อง ‘อด’ ก็ ‘ลดน้ำหนัก’ ได้ ด้วย 5 วิธี

1.  รับประทานโปรตีนให้เพียงพอ 

     เพราะโปรตีน (Protein) เป็นสารอาหารสำคัญที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ช่วยซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกาย ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและป้องกันการสลายตัวของกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังช่วยให้อิ่มท้องและลดความอยากอาหาร อีกทั้งให้แคลอรีต่ำ ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน

2.  รับประทานผักผลไม้ในทุกมื้ออาหาร

     เนื่องจากเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น กระตุ้นการทำงานของลำไส้ และป้องกันอาการท้องผูก นอกจากนี้ในผักผลไม้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย

3.  ดื่มน้ำให้เพียงพอ

     การดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบการเผาผลาญ ลดปริมาณไขมันส่วนเกิน ทั้งยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น

 4.  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

     เพราะขณะนอนหลับร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่ชื่อโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งทำหน้าที่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และยังช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญไขมันให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยระยะเวลาการนอนที่เพียงพออยู่ที่วันละ 6-8 ชั่วโมง

5.  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

     การควบคุมปริมาณอาหารเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้มีรูปร่างที่เฟิร์ม กระชับและมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงได้ จึงต้องทำควบคู่กับการออกกำลังกายทั้งในรูปแบบคาร์ดิโอ(Cardio) และเวทเทรนนิ่ง(Weight Training) ที่ช่วยเผาผลาญไขมันและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ซึ่งควรออกกำลังกายวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก :

https://www.bangkokhospital.com/content/how-not-to-eat-fat

https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2441

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้