เทรนด์สุขภาพประจำเดือนสิงหาคม 2565

เทรนด์สุขภาพประจำเดือนสิงหาคม 2565

ภาวะวูบหมดสติ (Syncope) สัญญาณเตือนของหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตที่ผิดปกติ

     ภาวะวูบหมดสติ คืออาการสูญเสียความรู้สึกตัวและการทรงตัวชั่วคราว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะวูบหมดสติเฉียบพลันระหว่างขับรถว่าส่วนใหญ่มาจากโรคหัวใจและเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งโรคดังกล่าวยังเป็น 1 ใน 9 ของกลุ่มโรคอันตรายที่ถูกระบุว่า คนที่เป็นโรคนี้ไม่ควรขับรถ เพราะสามารถวูบหมดสติขณะขับรถได้ง่าย

รู้ให้ชัดลักษณะเฉพาะอาการวูบหมดสติ (Syncope)

     เป็นการสูญเสียการรับรู้สติ โดยมีลักษณะคือ

  1. หมดสติอย่างเฉียบพลัน
  2. เกิดขึ้นชั่วขณะในเวลาอันสั้น
  3. สามารถฟื้นคืนสติได้ด้วยตัวเอง

สาเหตุของภาวะวูบหมดสติ

     1. โรคหัวใจต่างๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะช้าหรือเร็วเกินไป หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ ฯลฯ โดยทั้งหมดมีผลกระทบต่อการสูบฉีดเลือด และการไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ 

     2. สมองและระบบประสาททำงานผิดปกติ มักพบขณะที่ไอหรือจามอย่างรุนแรงหรืออยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน และไม่ถ่ายเท

     3. ความดันโลหิตต่ำจากร่างกายขาดน้ำ เช่น ท้องเสียอย่างรุนแรง เสียเหงื่อมากเกินไปหรือมีการเสียเลือดมาก เช่น ผู้หญิงที่ประจำเดือนมามาก มีเลือดออกในอวัยวะภายใน

     4. การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิตสูง ยารักษาต่อมลูกหมากยาต้านอาการซึมเศร้า และยาเบาหวาน

อาการเบื้องต้นก่อนหมดสติ

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มึนศีรษะ รู้สึกโคลงเคลง
  • มวนท้อง
  • ตาพร่ามัวหรือเห็นแสงวูบวาบ
  • เหงื่อแตก
  • ตัวเย็น

อาการที่แสดงออกขณะหมดสติ

  • ไม่รู้สึกตัว
  • ทรงตัวไม่อยู่
  • มีอาการเกร็งที่มือ เท้า และตาค้างชั่วขณะ
  • ปลายมือและเท้าเย็น
  • เหงื่อออกที่ใบหน้า
  • ใบหน้าและปากซีด

**ระยะเวลาที่หมดสติ พบได้ตั้งแต่ 30 วินาที – 5 นาที ขึ้นอยู่กับสุขภาพพื้นฐานเดิมและอายุของผู้ป่วย**

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเวชธานี และ โรงพยาบาลวิภาวดี

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

     1. นอนราบกับพื้นเรียบและปลอดภัย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการเป็นลม

     2. ไม่ควรมุง หรืออยู่ในพื้นที่แออัด ควรให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

     3. ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง เพื่อป้องกันลิ้นตก

     4. ให้สังเกตลักษณะอาการของคนที่หมดสติว่าเป็นอย่างไร เช่น หน้าซีด ปากเขียว เหงื่อแตก ตัวเย็น เพื่อให้ได้ทราบถึงสาเหตุของการเป็นลม

     5. เรียกรถฉุกเฉิน หรือรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด

วิธีการป้องกันภาวะวูบหมดสติทำได้อย่างไร

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง หัวใจ และระบบไหลเวียนเลือด เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ หรือธัญพืช
  • ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อให้เลือดไม่เหนียวข้น และทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
  • ลดการรับประทานของทอด ของมัน เพื่อลดโอกาสการเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลโดยตรงต่อหลอดเลือดสมองและหัวใจ
  • งดสูบบุหรี่ และลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารพิษในบุหรี่ส่งผลเสียต่อระบบการไหลเวียนโลหิต และมีผลต่อการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • พักผ่อนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สมอง หัวใจ และระบบต่างๆ ในร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
  • เสริมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง และระบบไหลเวียนเลือด

สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจและสมอง

     สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจและสมอง สามารถเสริมสารอาหารควบคู่ไปเป็นสิ่งที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ โดยเฉพาะสารอาหาร 2 ชนิด ได้แก่ โคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) และ สารสกัดใบแปะก๊วย (Gingko) เพราะเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง หัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิต

โคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) ดีอย่างไรต่อหัวใจ

     โคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) คือแหล่งสร้างพลังงานพื้นฐานของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะหัวใจ ปกติแล้วร่างกายสามารถสังเคราะห์สารอาหารชนิดนี้ได้เอง แต่เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายสังเคราะห์ได้น้อยลง และมีโอกาสการเป็นโรคหัวใจก็มีโอกาสมากขึ้น ดังนั้นการเสริมโคเอนไซม์ คิวเทน อย่างเพียงพอ สามารถช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจให้ดีขึ้น

ใบแปะก๊วย ช่วยเรื่องระบบไหลเวียนเลือดได้

     ใบแปะก๊วย (Gingko) สมุนไพรที่ขึ้นชื่อและเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ นิยมใช้ดูแลสุขภาพมาอย่างยาวนาน โดยในใบแปะก๊วย มีสารประกอบสำคัญในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่ช่วยกระตุ้น และเพิ่มอัตราการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ทำให้เลือดและออกซิเจนสามารถไปเลี้ยงสมอง และหัวใจได้ดี จึงลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดอุดตตันและสมองขาดเลือดได้

     สำหรับผู้ที่เคยวูบหมดสติ มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยเป็นถึง 3 เท่า ดังนั้นไม่ควรไว้วางใจ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของระบบในร่างกายและนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ หากเคยมีอาการวูบหมดสติมาก่อน จึงควรพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุภาพเพื่อหาสาเหตุและประเมินอาการเบื้องต้น ก่อนเข้ารักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้