โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยและไปพบแพทย์ บางครั้งก็จะได้รับยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อมารับประทาน แต่ในบางคนเมื่อรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแล้วกลับเกิดอาการท้องเสียขึ้นมาแทน ซึ่งถือเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้หลายคนมีความสงสัยว่าอาการท้องเสียแบบนี้ถือว่าผิดปกติมั้ย ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อมีผลต่อการท้องเสียด้วยหรือไม่ แบบนี้เราจะจัดการอาการท้องเสียอย่างไรดี มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัส ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยทุกครั้งเมื่อแพทย์หรือเภสัชกรสั่งยาชนิดนี้ มักจะกำชับให้รับประทานยาติดต่อกันจนกว่าจะยาจะหมด แต่ในบางคนเมื่อรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแล้วกลับมีอาการท้องเสียขึ้นมาแทน ซึ่งถือเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น
โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีเชื้อแบคทีเรียดีอาศัยอยู่ หรือบางคนอาจจะคุ้นชินคำว่า จุลินทรีย์ชนิดดีที่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคและเชื้อก่อโรคบางชนิด เมื่อร่างกายได้รับยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาในกลุ่มคลินดามัยซิน ยากลุ่มเพนนิซิลลิน ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน และยากลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน ซึ่งยากลุ่มเหล่านี้จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสมดุลของแบคทีเรียธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ส่งผลให้ปริมาณเชื้อแบคทีเรียธรรมชาติในลำไส้ลดลงทำให้เชื้อแบคทีเรียก่อโรคอย่างเชื้อ Clostridium difficile เจริญเติบโตมากขึ้นและหลั่งสารพิษทำลายผนังลำไส้และทำให้ลำไส้อักเสบ จึงทำให้มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดมวนท้อง หรือมีเลือดปนในอุจจาระได้
การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเป็นประจำยังส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น เชื้อดื้อยา อาจกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์ ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น สุดท้ายอาจจะไม่มียารักษาได้ ในบางรายอาจมีการแพ้ยากรณีที่แพ้ไม่รุนแรงจะมีผื่นคันตาและปากบวม หรือบางรายที่มีอาการแพ้รุนแรงอาจหายใจติดขัด ผิวหนังไหม้หรือเกิดภาวะช็อกได้ นอกจากนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อพร่ำเพรื่อยังเป็นการทำลายเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียดีที่คอยควบคุมความสมดุลของลำไส้ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของอาการท้องเสียอีกด้วย
อาการท้องเสียหลังจากการกินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ส่วนใหญ่มักดีขึ้นและหายได้เองหลังหยุดใช้ยา หากรู้สึกอ่อนเพลียและมีอาการไม่รุนแรงสามารถจิบน้ำผสมผงเกลือแร่ (ORS) โดยจิบบ่อยๆ รับประทานอาหารประเภทอ่อน รสไม่จัด และย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำแกงจืด เป็นต้น รวมถึงเสริมโปรไบโอติก ยีสต์ (Probiotic Yeast) ทันทีเพื่อปรับสมดุลลำไส้ให้กลับมาขับถ่ายได้ตามปกติและเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดี ซึ่งเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย เป็นธรรมชาติ และกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
โปรไบโอติกส์ ยีสต์ (Probiotic Yeast) คือจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงในการรักษาอาการท้องเสียเฉียบพลันและเรื้อรังได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน หรือภาวะลำไส้อักเสบจากการได้รับยาปฏิชีวนะ โปรไบโอติกส์ ยีสต์ จะทำหน้าที่ต่อต้านจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายซึ่งเป็นสาเหตุของการก่อโรค โดยช่วยให้ลำไส้ต่อสู้กับเชื้อโรคหรือลดการอักเสบและความเสียหายต่อลำไส้นั้นเอง คลิกอ่าน ประโยชน์ของโปรไบโอติก ยีสต์ (Probiotic Yeast)
อย่างไรก็ตามการรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ควรใช้ยาให้ถูกโรคมากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการรักษา สิ่งสำคัญไม่ควรหาซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
ขอบคุณข้อมูล
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ : https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/antibiotic-associated-diarrhea/
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย : https://www.pidst.or.th/A743.html