ความสูง คือหนึ่งในพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก ซึ่งโดยปกติส่วนสูงของเด็กใน ช่วงอายุ 2-7 ปี ความสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5-6 เซนติเมตร และช่วงอายุ 8-15 ปี ความสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7-8 เซนติเมตร แต่ด้วยปัจจัยและสาเหตุต่างๆ อาจทำให้เด็กบางคนมีส่วนสูงที่ต่ำกว่ามาตรฐานได้ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่สามารถช่วยดูแลพัฒนาการต่างๆ ของลูก โดยเฉพาะความสูงได้ด้วย 4 วิธีเพิ่มความสูงที่ทำแล้วเห็นผลจริง
สนใจหัวข้อไหน...คลิกเลย
สาเหตุ/ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูงของเด็ก
วิธีเช็กความผิดปกติด้านความสูงของเด็ก
4 วิธีเพิ่มความสูงให้เด็กได้ตามมาตรฐาน
เคล็ดลับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความสูง
กรรมพันธุ์ : คือปัจจัยสำคัญ เนื่องจากความสูงคือ 1 ในการถ่ายทอดทางลักษณะจากบรรพบุรุษ แต่ในบางกรณีแม้คุณพ่อคุณแม่มีความสูงตามมาตรฐาน แต่อาจเด็กที่มีแนวโน้มด้านความสูงผิดปกติได้จากปัจจัยอื่นอีก
โภชนาการ : อาหารมีส่วนสำคัญกับเด็กในวัยเจริญเติบโต เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการสารอาหารจำเป็น โดยเฉพาะสารอาหารกลุ่มโปรตีน และแคลเซียม สำหรับพัฒนาการของกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาท ภาวะขาดโภชนาการจึงส่งผลกระทบต่อความสูงของเด็กอย่างมาก
สุขภาพ : โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคทางเดินอาหาร หรือภาวะขาดโกรทฮอร์โมน และภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
ฮอร์โมน : คือตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยเฉพาะโกรทฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเด็กให้เป็นปกติตามวัย ซึ่งหากเกิดความผิดปกติขึ้น ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็กอย่างมาก
โดยทั่วไปความสูงของเด็กผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หรืออยู่ในช่วงอายุ 10-11 ขวบ และจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่อเข้าสู่อายุ 16 ปี ขณะที่เด็กผู้ชายจะโตช้ากว่า โดยจะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านช่วงวัยรุ่นไปได้สักพักหนึ่ง หรือช่วงประมาณ 12-15 ปี และจะหยุดเจริญเติบโตเมื่ออายุ 18 ปี หรือบางคนอาจสามารถสูงขึ้นได้ถึงอายุ 20 ปี ทั้งนี้ช่วงความสูงเฉลี่ยของผู้ชายจะอยู่ที่ 160-180 ซม. ส่วนผู้หญิงจะอยู่ที่ 150-170 ซม. ดังนั้นหากต้องการทราบว่าเด็กมีการเจริญเติบโตที่ปกติหรือไม่ สามารถตรวจเช็กได้ด้วยการเปรียบเทียบความสูงของเด็กกับเกณฑ์มาตรฐานต่อปี
1. กินอาหารที่มีประโยชน์
เพื่อช่วยเพิ่มความสูงให้เด็ก นอกจากการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว พ่อแม่ควรเน้นให้ลูกกินโปรตีนและแคลเซียมมากเป็นพิเศษ โดยสามารถเลือกกินแบบควบคู่กัน เช่น ปลาที่สามารถกินทั้งก้าง หรือปลาแห้ง นอกจากนี้สามารถเสริมโปรตีนด้วยถั่วและธัญพืช เช่น อัลมอนด์, ถั่วเหลือง, งาดำ, และถั่วแดง เป็นต้น
2. เลือกเครื่องดื่มให้ถูกประเภท
เป็นที่รู้กันว่า นมสดคือเครื่องดื่มที่อุดมด้วยแคลเซียมสูง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้มวลกระดูกแล้ว ยังมีส่วนช่วยเพิ่มความสูงได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้ลูกดื่มนมทุกวัน นอกจากนี้ควรระวัง อย่าให้เด็กดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำหวานอื่นๆ มากเกินไป
3. เข้านอนตรงเวลา
เพราะการนอนหลับเกี่ยวข้องกับระดับของโกรทฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กที่ร่างกายผลิตได้เองขณะนอนหลับสนิท ทั้งนี้ควรนอนไม่เกิน 3 ทุ่ม เนื่องจากการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วยให้โกรทฮอร์โมนถูกหลั่งออกมาได้เต็มที่ จึงเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสูงให้เด็ก
4. ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ
เด็กๆ สามารถเพิ่มความสูงได้ด้วยการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาชนิดต่างๆ โดยให้เน้นกีฬาที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ทุกส่วน เช่น ว่ายน้ำ, บาสเกตบอล, โหนบาร์, กระโดดเชือก, หรือแทรมโพลีน ซึ่งเป็นการกระตุ้นกระดูกและข้อต่อกระดูกให้ยืดตัวขึ้น รวมถึงเพิ่มความยาวของกระดูกสันหลัง
แม้การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายจะเป็นวิธีเพิ่มความสูงที่ได้ผล แต่พ่อแม่ควรเลือกชนิดของกีฬาและรู้ถึงวิธีการเล่นที่ถูกต้องด้วย โดยกีฬาที่เหมาะสำหรับการเพิ่มความสูงนั้น มีดังนี้
กระโดดเชือก : เล่นทุกวัน วันละ 10-15 นาที
ว่ายน้ำ : ว่ายไป-กลับในสระเป็นเวลา 1-2 ชม. โดยควรพักทุกๆ 10-15 นาที และเล่นสัปดาห์ละ 1-2 วัน
แทรมโพลีน : เล่นทุกวัน วันละ 20 นาที
โหนบาร์ : เล่น 3 เซต เซตละ 10 ครั้ง พักไม่เกิน 1 นาที ทำประจำอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
บาสเกตบอล : เล่นสัปดาห์ละ 3 วัน วันละอย่างน้อย 40 นาที
ขอบคุณข้อมูลจาก
Medica Centers
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
ปลูกลูกรัก
โรงพยาบาลพญาไท