เช็คอาการโรคตาที่อาจเกิดขึ้นได้ในยุค New Normal

เช็คอาการโรคตาที่อาจเกิดขึ้นได้ในยุค New Normal

  เมื่อ COVID-19 คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั้งโลกให้ก้าวเข้าสู่สังคมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตยุคใหม่หรือที่เรียกว่า New Normal แน่นอนว่าวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เราใช้เวลาอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนมากขึ้น นี่จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่น่ากังวลว่าวิถีใหม่เช่นนี้อาจนำเราไปสู่การเป็นโรคที่เกี่ยวกับดวงตาโดยไม่รู้ตัว และยิ่งพฤติกรรมสำหรับคนที่อยู่ในวัยเรียนและวัยทำงานที่ต้องใช้สายตามากกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุของโรคตาที่จะแสดงอาการรุนแรงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ดังนั้นลองมาดูกันว่ากิจกรรมที่คุณทำอยู่ทุกวันเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตาหรือไม่...

    สาเหตุของโรคตา
          อายุ พันธุกรรม และโรคประจำตัว อาจเป็น 3 สาเหตุหลักของการเกิดโรคตาที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว สาเหตุของโรคตามักเกิดจากการใช้ชีวิตในแต่ละวัน โดยเฉพาะในวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มาทำร้ายดวงตา รวมถึงวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาการสื่อสารบนโลกออนไลน์ทำให้ต้องใช้สายตามากเป็นพิเศษ ซึ่งปัจจัยหลักที่มาทำร้ายดวงตาก็คือ แสงสีฟ้า
          แสงสีฟ้า (Blue light) เป็นหนึ่งในสามของแสงขาวจากแสง UV ที่สามารถมองเห็นได้และมีพลังงานสูง พบอยู่ในแสงที่มาจากหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ถือเป็นช่วงแสงที่มีความสว่างมากที่สุด จึงสามารถทะลุมาทำลายเซลล์จอประสาทตา ส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องจ้องจอเป็นเวลานานหรือใช้อุปกรณ์ที่มีแสงสีฟ้าท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ปิดไฟเล่นสมาร์ทโฟนตอนกลางคืน ยิ่งทำให้แสงสีฟ้าทำร้ายดวงตาได้มากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะตาล้า (Digital Eye Strain) และนำไปสู่ ‘โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม’ ได้ด้วย และหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานคลื่นแสงสีฟ้าจะก่อให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์ในดวงตาจนเสียหาย ทำให้เซลล์บริเวณค่อย ๆ เสื่อมลงและไม่สามารถมองเห็นได้เป็นปกติ

          นอกจากแสงสีฟ้าที่เป็นสาเหตุหลักของการทำร้ายดวงตา ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควรระวัง ดังนี้
            รังสียูวี คือรังสีที่มาจากแสงแดด หากกระทบต่อดวงตามากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อผิวหนังรอบดวงตา เยื่อบุตา อาจเกิดการอักเสบ ปวดและระคายเคืองตา ในระยะยาวจะทำให้เป็นต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
            บุหรี่ สารพิษที่อยู่ในควันบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อการมองเห็น มีผลวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่ออาการตาอักเสบมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และยังเสี่ยงตาบอดเนื่องจากหลอดเลือดตีบทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ
            เครื่องดื่มดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อให้เกิดอาการตาแห้ง และหากดื่มติดต่อกันเป็นเวลานานสารพิษจะสะสมในร่างกายและไปทำลายเส้นประสาทตาจนสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

      5 อาการเริ่มต้นของโรคตา

             รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ซึ่งอาการน้ำตาไหลนี้เกิดจากการที่ร่างกายกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา เป็นสัญญาณของภาวะตาแห้ง (Dry Eyes) ที่ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นแผลบริเวณกระจกตา ซึ่งหากมีอาการปวดศีรษะ ต้นคอ ไหล่ และหลังร่วมด้วย อาจเป็นอาการเบื้องต้นของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome: CVS)
            ตาพร่ามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว เป็นสัญญาณอันตรายของโรคจอประสาทตาเสื่อม (Age - Related Macular Degeneration: AMD) ซึ่งความน่ากลัวของโรคนี้คือจะไม่เจ็บปวดหรือแสดงอาการใด ๆ ในระยะแรก แต่เมื่อรุนแรงขึ้นจะมีอาการตาพร่ามัว มองเห็นภาพต่าง ๆ บิดเบี้ยวไปจากปกติ และสูญเสียการมองเห็นบริเวณกลางภาพเนื่องจากมีจุดดำเกิดขึ้นตรงกลางภาพที่มองเห็น
            เห็นภาพต่าง ๆ เป็นฝ้าขาว อาการอย่างหนึ่งของโรคตา คือ มองเห็นภาพไม่ชัดคล้ายกับมีหมอกหรือฝ้าขาวมาบดบังสายตา ทำให้โฟกัสภาพได้ไม่ดีเนื่องจากเลนส์ตาขุ่นมัว อาการเช่นนี้บ่งบอกว่าคุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคต้อกระจก
            เกิดก้อนเนื้อนูนขนาดเล็กที่เยื่อบุตาขาว หากสังเกตเห็นก้อนเนื้อนูนสีขาวที่เยื่อบุตา (โดยมากมักเกิดบริเวณหัวตา) ทำให้เกิดอาการคันตาหรือเคืองตา นั่นเป็นเพราะเยื่อบุตาเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดโรคต้อกระจกและอาจลุกลามไปยังแผ่นเนื้อบริเวณกระจกตาดำกลายเป็นต้อเนื้อได้
            มองเห็นแคบลง หากภาพที่คุณมองเห็นค่อย ๆ แคบลงจากด้านข้างมาสู่จุดกลางสายตา นั่นหมายความว่าคุณกำลังมีอาการของโรคต้อหินที่จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร นอกจากนี้อาจมีอาการปวดตาหรือตาแดงร่วมด้วย

       การดูแลดวงตาในยุค New Normal
          ดวงตา เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยในการมองเห็น ดังนั้นควรดูแลดวงตาให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งวิธีการดูแลดวงตา มีดังนี้
            หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคตา เช่น บุหรี่ รังสียูวี และแสงสีฟ้า แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรหาอุปกรณ์ในการป้องกัน เช่น แว่นกันแดด หรือแว่นกรองแสงสีฟ้า เป็นต้น
            หากมีความจำเป็นต้องใช้สายตา เช่น พนักงานออฟฟิศหรือนิสิตนักศึกษาที่ต้องจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ควรพักสายตาเป็นระยะ หรือใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ป้องกันภาวะตาล้าและตาแห้ง
            ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ดวงตาจะเสื่อมสภาพ อีกทั้งหากตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นก็จะสามารถรักษาได้ทัน
            ทานอาหารที่มีสารอาหารบำรุงดวงตา เช่น ไข่แดง บรอกโคลี ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แครอท ฟักทอง เป็นต้น
            เสริมความแข็งแรงของดวงตา ด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของลูทีน บิลเบอร์รี่สกัด และเบต้าแคโรทีน ซึ่งจะช่วยบำรุงสายตาร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์

     หมั่นตรวจเช็คสุขภาพดวงตาและดูแลดวงตาของคุณให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะการมองเห็นคือช่องทางในการเรียนรู้ที่จะอยู่คู่กับคุณไปตลอดชีวิต


     ด้วยความห่วงใยจาก iiCare_MEGA We care
  
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/8-eye-diseases-must-be-careful
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/april-2017/eye-diseases-care
https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/โรคตา/5โรคตาพบบ่อยในผู้สูงอายุ
https://www.thaihealth.or.th/Content/49786-โรคทางตา%20ภัยเงียบคนทำงานยุคดิจิทัล%20.html

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy