รู้หรือยัง... การป้องกันจอประสาทตาเสื่อมทำได้ด้วยตัวเอง

รู้หรือยัง... การป้องกันจอประสาทตาเสื่อมทำได้ด้วยตัวเอง

คุณเคยมีอาการแบบนี้หรือไม่ ?? มองเห็นภาพไม่ชัด ตามัว โดยเฉพาะตรงกลางของภาพที่มอง มองเห็นเป็นภาพดำๆ บังอยู่กลางภาพ ภาพที่มองอาจจะบิดเบี้ยว และจะยิ่งบิดเบี้ยวมากขึ้นถ้ามองในระยะที่ใกล้ มองเห็นเส้นเป็นคลื่นๆ  นอกจากนี้การมองเห็นในสภาวะแสงสลัวยังไม่ดี จำเป็นต้องอาศัยแสงสว่างในการมองเห็นมากกว่าปกติ  ถ้าพบอาการเหล่านี้ แสดงว่าคุณอาจเป็น 'โรคจอประสาทตาเสื่อม'

หนี่งในปัญหาโรคเกี่ยวกับดวงตา ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียการมองเห็นในอนาคตที่น่ากลัวอีกโรคหนึ่งก็คือ โรคจอประสาทตาเสื่อม ถือเป็นโรคตั้งต้นที่จะนำไปสู่ภาวะสูญเสียการมองเห็นในอนาคต มักเริ่มพบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป   และด้วยโลกยุคดิจิตอล ปัจจุบัน โอกาสที่จะพบโรคนี้ได้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย

     ก่อนที่เราจะรู้ว่ามีปัจจัยที่ทำให้จอประสาทตาเสื่อมมีอะไรบ้าง มารู้ก่อนว่าโรคจอประสาทตาเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ก็คือ จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) และ ชนิดเปียก (Wet AMD) โดยชนิดแห้งพบมากถึง 90%  อาการมักจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยลดลงอย่างช้า ๆ โดยพบว่าเกิดจากการเสื่อมสลายและบางลงของจุดภาพชัด (Macula) จากกระบวนการเสื่อมตามอายุ โดยไม่มีรอยแผลเป็นหรือมีเลือดออก

     ส่วนชนิดเปียก พบได้ 10-15% ซึ่งมักจะเป็นคนที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งนำมาก่อน อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง เกิดการหลอดเลือดที่ผิดปกติ เกิดการแตกหรือรั่วซึมจึงทำให้มีเลือดและของเหลวค้างอยู่ใต้จอประสาทตา ทำให้จุดภาพชัดบวมและเกิดการทำลายจอประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาบอดได้

   สาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม
         ทางการแพทย์ได้วิเคราะห์สาเหตุหลักๆ ที่มีอิทธิพลทำให้จอประสาทตาเสื่อมออกมาได้ทั้งหมด 5 ข้อ
1. อายุ
    แน่นอนว่าการเสื่อมถอยของดวงตาจนเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม มาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น

2. พันธุกรรม
    หากพบว่าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน ก็อาจส่งผลให้คนอื่นๆ เป็นได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ควรต้องได้รับการตรวจเช็คจอประสาทตาปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย

3. การสูบบุหรี่
    การสูบบุหรี่นอกจากจะส่งผลเสียกับระบบต่างๆ ในร่างกายแล้ว ยังทำให้เสี่ยงโอกาสการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้มากว่าคนปกติที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 4-6 เท่า เพราะบรรดาสารพิษที่อยู่ในบุหรี่จะทำลายเซลล์ของจอประสาทตาโดยตรง

4. ขาดสารอาหาร
    การที่เราไม่ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และขาดสารต้านอนุมูลอิสระหรือสารอาหารสำหรับบำรุงดวงตาบางชนิด โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นผลทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้

5. ดวงตาสัมผัสกับแสงเป็นประจำ
    แสงในที่นี้นอกจากแสงแดดที่มีรังสียูวีแล้ว ยังรวมถึงแสงสีฟ้า (Blue Light) ที่ส่งผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์, จอของสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ ดังนั้นการอยู่ในที่ซึ่งมีแสงจ้า หรือใช้ดวงตาเพ่งทำกิจกรรมในที่ซึ่งมีแสงน้อย ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ทั้งสิ้น

 5 ขั้นตอนป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม
         ถึงแม้ว่าโรคจอประสาทเสื่อมจะมีหลายสาเหตุเข้ามาเกี่ยวกับ รวมถึงปัจจัยทางด้านอายุ อีกทั้งยังไม่มีวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ก็วิธีที่จะสามารถชะลอโรคเพื่อยืดเวลา ลดความเสื่อมออกไปได้ ด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้

1.  สวมแว่นตากันแดดเวลาอยู่ในที่แสงจ้า และหลีกเลี่ยงใช้สายตาในที่มืด
     การสวมแว่นตากันแดดที่มีสารเคลือบป้องกันแสงยูวีเป็นประจำเวลาอยู่ในที่มีแสงจ้า สามารถที่จะช่วยป้องกันแสงยูวีทำลายจอประสาทตาได้ รวมถึงการลดพฤติกรรมการใช้สายตาในที่มืด เช่น อ่านหนังสือในที่ซึ่งมีแสงน้อย หรือเล่นโทรศัพท์ในขณะที่ปิดไฟ

2.  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
     เป็นความจริงที่การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สามารถส่งผลเสียต่อดวงตาได้ สารพิษในแอลกอฮอล์จะทำลายเส้นประสาทตา ส่งผลต่อการมองเห็น เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปลดการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตา ท้ายที่สุดก็จะเป็นโรคจอประสาทตาถาวร และพัฒนาไปสู่การเป็นต้อกระจก ต้อหิน ได้ในอนาคต

3.  งดการสูบบุหรี่
     นอกจากจะสร้างผลเสียกับระบบต่างๆ ของร่างกายแล้ว สารพิษในบุหรี่ยังทำลายเซลล์จอประสาทตา มีผลการวิจัยทางการแพทย์ในต่างประเทศพบว่า คนที่สูบบุหรี่จะเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้เร็วกว่าคนที่ไม่สูบสูงถึง 6 เท่า และเร่งให้เกิดโรคนี้เร็วขึ้นกว่าคนปกติถึง 10 เท่า

4.  หลีกเลี่ยงการทานอาหารประเภทไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
     การทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เช่น หมูติดมัน หนังไก่ หอยนางรม อาหารจำพวกแป้ง ฯลฯ นอกจากจะส่งผล ทำให้เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจแล้ว  ซึ่งจะนำไปสู่การเสี่ยงต่อการแตกของเส้นเลือดบริเวณจอประสาทตาได้ด้วย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้เพื่อสุขภาพที่ดีของดวงตา

5.  ทานผักและผลไม้ โดยเฉพาะผักใบเขียวเพื่อให้ได้สารอาหารที่จำเป็น
     มีข้อมูลจากจักษุแพทย์และนักโภชนาการให้ข้อมูลตรงกันว่า อาหารจำเป็นที่สามารถช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้จริง ก็คือ Lutein และ Zeaxanthin ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยให้ประสิทธิภาพการมองเห็นได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยกรองแสงสีฟ้ามากระทบดวงตาได้ ซึ่งพบมาในอาหารธรรมชาติจำพวกพืชผัก ผลไม้ที่มีสีเขียวเข้ม และสีเหลือง เช่น ผักคะน้า ผักปวยเล้ง ผักโขม และข้าวโพด นอกจากนี้ยังพบว่าการทาน 2 สารอาหารนี้เป็นประจำจะช่วยชะลอ และลดโอกาสของการเกิดต้อกระจกลงได้ นอกจากนี้สารอาหารประเภท Betacarotene ที่พบมากในอาหารจำพวกแครอท มันเทศหวาน แคนตาลูป ฟักทอง ยังเป็นตัวช่วยบำรุงสายตา และชะลอความเสื่อมของเลนส์ตาอีกด้วย

     ไม่เพียงเท่านั้นสารอาหารจำเป็นอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้แก่ Vitamin E ที่ช่วยปกป้องสายตาจากแสงแดด  พบมากในอาหารจำพวกถั่วอัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง และงา Vitamin C พบมากในอาหารจำพวกผักผลไม้ เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ ส้ม และสับปะรด ฝรั่ง มะละกอ โดยวิตามินชนิดนี้จะช่วยให้หลอดเลือดฝอยแข็งแรง และป้องกันจอประสาทตาเสื่อมได้

     ส่วน Omega-3 ที่เป็นกรดไขมันจำเป็นซึ่งพบมากในปลาแองโชวี ปลาทูน่า ปลากระพง ปลาแมคคอเรล ปลาแซลมอน ฯลฯ ก็ช่วยป้องกันจอประสาทตาเสื่อมได้เช่นกัน เพราะสารอาหารนี้เป็นกรดไขมันจำเป็นที่อยู่ในดวงตาของเรา จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา และชะลอภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้

   สารอาหารสำหรับป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมในรูปแบบของ ‘อาหารเสริม’ 
         ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่รวมเอาสารอาหารที่จำเป็นในการป้องกันโรคจอประสาทตาในรูปแบบของอาหารเสริมอยู่ในตลาดมากมาย และมีหลายคนใช้วิธีนี้เป็นทางเลือกในการรับสารอาหารสำคัญในการดูแลดวงตาเข้าสู่ร่างกาย  แต่การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพก็ต้องอาศัยความรู้ในตัดสินใจ เช่น ต้องดูมาตรฐานการผลิตที่ไว้ใจได้  มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องการันตีได้ว่า เราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในการบำรุงดวงตาและป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้อย่างถูกต้องให้กับร่างกาย

ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://medthai.com/โรคจอประสาทตาเสื่อม/
https://www.vichaiyut.com/th/health/question-healthy-alcohol https://www.rutnin.com/th/eye_knowledge/detail.32.1.html

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy