สนใจหัวข้อไหน...คลิกเลย
คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือ โรค CVS คืออะไร
สาเหตุของคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
ใครที่ต้องดูแลสุขภาพของ 'ดวงตา' เป็นพิเศษ
ท่าบริหารดวงตาแก้ปัญหาอาการตาล้า
Computer Vision Syndrome หรือ โรค CVS ที่รู้จักกันในชื่อ ‘โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม’ เป็นภาวะปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง ระคายเคืองตา เจ็บตา รวมไปถึงปวดศีรษะและปวดไหล่ พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และอาการเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ หากจ้องหน้าจอในที่ที่มีแสงน้อย หรือมีท่าทางที่ไม่เหมาะสมขณะใช้คอมพิวเตอร์
ขณะทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บแล็ตต่างๆ ดวงตาของเราต้องปรับโฟกัสภาพใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะต้องเคลื่อนไหวไปมาตามบรรทัดตัวหนังสือที่อ่าน ต้องเลื่อนดูเนื้อหาบนหน้าจอสลับไปมาและตอบสนองต่อภาพที่เปลี่ยนตลอดเวลา เพื่อให้สมองประมวลผลภาพเหล่านั้น ในระหว่างนี้ทำให้กล้ามเนื้อดวงตาจึงต้องทำงานอย่างหนัก
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากต่างประเทศพบว่าการใช้สายตากับอุปกรณ์ดิจิตอลเสี่ยงทำให้ตาแห้ง และระคายเคือง เนื่องจากขณะจ้องหน้าจอ ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือบนจอดิจิตอล คนเราจะกะพริบตาลดลงน้อยกว่าปกติถึง 50% จากที่เคยกะพริบตาประมาณ 15 ครั้งต่อนาที ซึ่งการกะพริบตาจำเป็นต่อดวงตาอย่างมาก เพราะจะช่วยให้น้ำตาไหลออกมาหล่อเลี้ยงดวงตา ช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นและไม่ระคายเคือง
‘ตาล้า’ หรือ asthenopia โดยจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตา ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา แสบตา ตาพร่ามัว และบางครั้งมองเห็นภาพซ้อน มักจะเกิดจากการทำงานที่ต้องใช้สายตามากขึ้นในสภาพแสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บแล็ตต่างๆ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายตาใช้สายตาในการเพ่งมากขึ้น เพราะการทำงานในยุคปัจจุบันจะใช้คอมพิวเตอร์ หรือใช้สายตามองจอเป็นหลัก
ซึ่งอาการปวดเมื่อยล้าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณดวงตาเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงใบหน้า กราม และขมับ เมื่อกล้ามเนื้อมีการเกร็งตัวมากเกินจากความตึงเครียด จึงทำให้มันอาการแบบลุกลาม ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายเกิดความอ่อนล้า อ่อนเพลีย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และอาจทำให้มีผลเสียกระทบต่อการทำงานได้อีกด้วย
อาการตาล้า เป็นเพียงภาวะหนึ่งไม่ได้อยู่ถาวรและมักจะหายเองได้เมื่อคุณปล่อยให้สายตาได้พัก แต่ถ้าหากปล่อยให้มีอาการตาล้าบ่อยๆ โดยไม่ได้รับการดูแล อาจทำให้ส่งผลต่อดวงตาในอนาคตจะมีสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับดวงตาที่เป็นอันตรายได้ เช่น ต้อลม กระจกตาอักเสบ กระจกตาขุ่น วุ้นตาเสื่อม และร้ายแรงจนถึงโรคจอประสาทตาเสื่อม
1. เมื่อต้องจ้องหน้าจอที่มีแสงสีฟ้าหรือใช้สายตาเป็นเวลานานๆ ควรพักสายตาอย่างน้อย 20 วินาที ทุก ๆ 20 นาที
2. กะพริบตาบ่อยๆ จะช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น
3. ปรับแสงให้เหมาะสมกับการทำงาน หลีกเลี่ยงการใช้สายตาในที่มืดหรือแสงน้อย
4. การใช้คอมพิวเตอร์ควรให้สายตาอยู่ห่างจากหน้าจอในระยะ 20-26 นิ้ว รวมทั้งปรับแสงและระดับของหน้าจอให้เหมาะกับการมองเห็น
5. การทำบริหารดวงตาเมื่อเกิดอาการตาล้า เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตาและเป็นการพักสายตาในเวลาเดียวกัน
ตั้งหน้าและคอให้ตรง ลืมตา กรอกลูกตามองไปทางซ้ายสุดและทางขวาสุดสลับกัน โดยไม่ต้องหันคอตาม ทำต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ครั้ง
ตั้งหน้าและคอให้ตรง เหลือบลูกตามองขึ้นไปด้านบนสุดและมองลงมาล่างสุด โดยไม่แหงนหน้าและก้มหน้า ทำต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ครั้ง
ตั้งหน้าและคอให้ตรงกรอกลูกตาหมุนเป็นวงกลม วนซ้ายต่อเนื่องกัน 10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนวนขวาต่อเนื่องกันอีก 10 ครั้ง
มองออกไปไกลๆ หรือมองพื้นที่สีเขียว โดยการละสายตาออกจากหน้าจออย่างน้อย 6 เมตร จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อตาและเป็นการปรับโฟกัสของเลนส์สายตาอีกด้วย
หลับตาทั้งสองข้าง ใช้นิ้วชี้วางเหนือหัวคิ้วแต่ละข้าง จากนั้น ค่อยๆ กดนวดเบาๆ เริ่มตั้งแต่คิ้วไล่ไปรอบๆ ดวงตา ท่านี้จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่อยู่รอบนอกของดวงตาได้
การบริหารดวงตาด้วยท่าบริหารที่ถูกวิธีเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยผ่อนคลายดวงตา เพื่อให้กล้ามเนื้อดวงตาแข็งแรงและทำให้ดวงตากลับมาพร้อมใช้งานในทุกๆ วัน...ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.laservisionthai.com/health-corner/การบริหารสายตา-คลายความอ่อนล้า
https://www.shopback.co.th/blog/li-health-บริหารดวงตา/
https://www.essilor.co.th/vision/eye-problems/eye-strain
http://www.rutningimbel.com/2018/th/conditions/detail.49.1.0.html