7 วิธีเสพข่าว COVID-19 อย่างไรไม่ให้เครียด

A-man-uses-smartphone

จัดการ 'ความเครียด' จากการเสพข่าวช่วงไวรัสระบาด

     ในปัจจุบัน ‘สื่อสังคมออนไลน์’ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter  หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นสื่อที่คนทั่วไปส่วนใหญ่เลือกใช้ในการเกาะติดสถานการณ์ข่าวสารต่างๆ ได้ง่ายและทันท่วงที  แต่การเสพข่าวในบางประเภทมากเกินไปก็อาจทำให้เราเกิดความเครียดขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัวได้ อย่างเช่น ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกตอนนี้ ดังนั้นเราจะมาค้นหาวิธีที่ว่าด้วยการเสพข่าวอย่างไรที่ทำให้ยังเกาะติดกับข่าวสารได้ตลอดเวลา แต่ไม่ทำให้เราเครียดจนเกินไป


กลยุทธ์กำจัดเครียดจากข่าว COVID-19

       เข้าใจความรู้สึกตัวเอง
           สิ่งแรกคงต้องเป็นการตั้งสติ และเข้าใจความรู้สึกตัวเองก่อนว่ามีความรู้สึกอย่างไร ใช้เวลาถามตัวเองว่าเราวิตกกังวล กับสถานการณ์ดังกล่าว หรือเครียดกับข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด วิธีหนึ่งในการสะท้อนความรู้สึกตัวเองออกมา อาจเป็นการตั้งสติทบทวนความคิด เขียนบันทึกบอกเล่าความรู้สึก หรือคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกตัวเองกับคนใกล้ชิด

       ทำชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ
           สำหรับคนทั่วไปก็ควรดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นปกติอย่างมีคุณภาพ ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และเลือกทำกิจกรรมที่ทำให้มีความสุข

       ติดต่อคนใกล้ชิด และไม่ข่มกัน
           การพูดคุย ดูแล และให้กำลังใจซึ่งกันและกันจากคนใก้ลชิดเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือมีอาการแล้วต้องกักตัวเอง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการกำลังใจ ไม่ข่มเหง หรือ บูลี่ (bully) ด้วยคำพูดถากถาง หรือแสดงอาการรังเกียจผู้ที่เพิ่งกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงต่าง

       หาข้อมูลที่เชื่อถือได้
           อย่างที่ทราบในปัจจุบัน ‘สื่อสังคมออไลน์’ มีข่าวให้ได้ติดตามมากมาย และเป็นยุคที่ใครก็สามารถสวมบทบาทผู้เผยแพร่ข่าวสารได้ทั้งนั้น จึงมีการสร้างกระแสปั่นป่วน หรือข่าวลวง (Fake News) ขึ้นมากมายโดยเฉพาะการแชร์ส่งต่อกันมา ซึ่งทำให้คนที่ได้รับสารเกิดความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ

     ดังนั้นจึงควรเลือกติดตาม ‘เฉพาะ’ แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น ข่าวสารจากองค์กรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยตรง เช่น WHO (องค์การอนามัยโลก) ที่สำคัญไม่ควรอ่านเพียงข่าวเดียวแล้วเชื่อในทันที ควรใช้ความคิดไตร่ตรองในการเลือกรับข้อมูลอย่างถูกต้องด้วย

       จำกัดการเสพข่าว และโลกโซเชียลบ้าง
           การติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของข่าวสารตลอดเวลา ข้อดีก็คือ ทำให้เราได้ข้อมูลอย่างทันท่วงที แต่การอ่าน ดู หรือฟังสื่อต่างๆ มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลมากเกินไป ดังนั้นการวางโทรศัพท์มือถือ พับเก็บหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือปิดทีวีบ้าง ถือว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ลดความตื่นตระหนก และคลายความกังวลลงไปได้ หรืออาจจะแบ่งเวลาในการติดตามข่าว โดยเลือกเฉพาะตอนกลางวัน เพราะในเวลากลางคืน เป็นช่วงที่ควรจะต้องพักผ่อนมากกว่าการติดตามข่าวสาร

       อัพเดทข้อมูล และความช่วยเหลือของหน่วยงาน
           ข่าวสารและข้อมูลที่มีประโยชน์จากหน่วยงานหรือองค์กรของตนเองเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องติดตาม เช่น การประกาศเลื่อนประชุมใหญ่ การขอสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ การจัดการด้านป้องกันโรคในหน่วยงาน ต่างๆ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตัว และวางแผนการทำงานได้ บางองค์กรอาจมีหน่วยจิตวิทยาให้ความช่วยเหลือ หากเกิดภาวะเครียดจากการเสพข่าวเหล่านี้ด้วย

       ปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันจากบุคลากรการแพทย์
           สิ่งสำคัญที่สุด คือการปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรการแพทย์ ในการดูแลป้องกันตนเอง เช่น การล้างมืออย่างถูกวิธี ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงเข้าไปในที่ชุมชน ซึ่งการปฏิบัติตามคำแนะนำนี้จะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรค และเมื่อทำได้อย่างเคร่งครัดและถูกต้องก็ไม่ต้องไปเครียดกับสถานการณ์

     ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีการที่ทำให้ทุกคนสามารถติดตามข่าว COVID-19  ได้ทันเหตุการณ์ แต่ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ที่สำคัญยังสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ด้วยความห่วงใยจาก MEGA we care

ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://services.unimelb.edu.au/counsel/resources/wellbeing/coronavirus-covid-19-managing-stress-and-anxiety

More-information-buttoncontact-specialist-for-information-button

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy