ต่อไปนี้คงจะหมดข้อสงสัยว่า ‘ทำไมการมีสุขภาพที่แข็งแรง คือ สิ่งที่ทุกคนปรารถนาที่สุดในชีวิต’ เพราะจากวิกฤตไวรัสแพร่ระบาดพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่มีภูมิต้านทานน้อยหรือมีโรคประจำตัว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกคนเริ่มหันมาสนใจสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดและสมอง หัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวานที่ส่วนมากผู้ป่วยมักเป็นผู้สูงอายุ บุคคลเหล่านี้จะให้ความใส่ใจต่อสุขภาพของตนเป็นพิเศษ
โดยจากข้อมูลของกรมอนามัยโลก (WHO) พบว่า “8 ใน 10 รายของผู้เสียชีวิตจากโรค Covid-19 จะมีอย่างน้อยหนึ่งรายป่วยเป็นโรคเรื้อรังร่วมด้วย ซึ่งกว่า 95% ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และอีกกว่า 50% เป็นผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ” และเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคที่เป็น และเพื่อทำให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงและสุขภาพดียิ่งขึ้น ดังนั้นการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังจึงมีความสำคัญ และควรที่จะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทำอย่างไรผู้ป่วยโรคเรื้อรังจึงจะกลับมาแข็งแรง
พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่แม้เป็นเพียงโรคเดียว แต่โรคนี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคอีกมากมายตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคปลายประสาทตาและจอประสาทตาเสื่อม ฉะนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ยึดหลักการนอนให้สัมพันธ์กับนาฬิกาชีวิตที่ต้องนอนในเวลากลางคืนไม่เกิน 4 ทุ่ม นอนให้ครบ 8 ชั่วโมง ไม่นอนเวลากลางวันหรือนอนดึกจนต้องนอนชดเชยในช่วงกลางวันแทน เพราะหากมีพฤติกรรมเช่นนี้ จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมากขึ้น และทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนผิดปกติไป จึงส่งผลให้การทำงานของตับอ่อนแย่ลง ซึ่งตับอ่อนมีหน้าที่หลัก คือ การสร้างอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล เมื่อตับอ่อนทำงานแย่ลงแน่นอนว่าการควบคุมระดับน้ำตาลก็แย่ลงไปด้วยอาจเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้
การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอไม่เพียงแต่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเท่านั้น แต่ความดันโลหิตก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย เนื่องจากเกิดการสะสมโปรตีนและไขมันขณะที่เราไม่ได้นอน จึงทำให้โปรตีนและไขมันนี้เกาะที่เส้นเลือดจนหนาขึ้นนั่นเอง ดังนั้นควรนอนให้พอและเป็นเวลา เพราะจะช่วยลดเสี่ยงจากโรคที่เป็นอยู่และทำให้ร่างกายแข็งแรงเพราะเม็ดเลือดขาวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในร่างกายได้อย่างรวดเร็วส่งผลให้ภูมิต้านทานแข็งแรงตามมา
ทานอาหารที่มีประโยชน์
สาเหตุหลักของโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดและสมอง หัวใจ ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และสิ่งสำคัญในการทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นแม้ว่าจะเป็นโรคเหล่านี้อยู่คือ การควบคุมอาหารที่ทานให้เหมาะสม และลดการทานอาหารรสจัดโดยเฉพาะรสเค็มและรสหวาน เพราะการทานรสจัดทั้ง 2 แบบนี้ ไม่ดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้หลอดเลือดแดงอักเสบมากขึ้น
ดังนั้นควรเลือกทานอาหารที่รสไม่จัดจนเกินไป เน้นการทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ทานอาหารให้ครบทุกมื้อและครบหมู่ ถ้าจะทานข้าวก็ควรเลือกแบบที่ไม่ขัดสี เพราะมีใยอาหารสูง และอย่าลืมทานผลไม้ แต่ต้องระมัดระวังในการทานผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง คือ ทุเรียน กล้วย ละมุด ลิ้นจี่และลำไย โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานห้ามทานเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำตาลสูงขึ้นจนเป็นอันตรายได้
เมื่อควบคุมอาหารที่ทานได้อย่างเหมาะสมแล้ว การเสริมด้วยสารอาหารอย่างน้ำมันปลา (Fish oil) ที่มีการค้นคว้าและวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า กรดไขมัน EPA ในน้ำมันปลาจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายดีขึ้น ลดการเกาะของไขมันบนผนังหลอดเลือดก็ยิ่งเป็นการดูแลร่างกายให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้คุณสมบัติเด่นของน้ำมันปลาก็คือ เพิ่มการเผาผลาญไขมันของเซลล์ในร่างกาย จึงทำให้ลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตัน รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย
ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ
‘การออกกำลังกาย’ เป็นสิ่งที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญแนะนำกับทุกคนเสมอไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ก็ตามว่าให้ทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคเรื้อรังนี้อาจต้องมีคำแนะนำที่แตกต่างจากคนทั่วไป โดยวิธีการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิค (Aerobic exercise) เพื่อเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้ไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือดแดงน้อยลง และเพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะช่วยในการสูบฉีดเลือดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญการออกกำลังกายต้องทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 150 นาที และออกกำลังกายแต่ละครั้งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30-40 นาที
แต่ข้อแตกต่างเล็กน้อยสำหรับผู้ป่วยบางโรคอย่างโรคเบาหวาน อาจมีข้อห้ามบางประการ เช่น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดแรงกดลงบนฝ่าเท้าเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ โดยส่วนมากเมื่อเกิดแผลที่เท้าผู้ป่วยโรคเบาหวานจะไม่รู้สึกเจ็บทำให้ไม่รู้ว่าเป็นแผลและทิ้งแผลไว้จนทำให้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคนี้เป็นอย่างมาก ส่วนผู้ป่วยอีกโรคหนึ่งที่ต้องระมัดระวังเรื่องการออกกำลังกาย คือ โรคความดันโลหิตสูง
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแพทย์แนะนำให้ออกกำลังกายแบบต่อเนื่องและไม่หนักมาก เน้นการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เช่น การเล่นเวทเทรนนิ่ง (Weight Training) การใช้ยางยืดเป็นอุปกรณ์ช่วย และที่สำคัญผู้ป่วยโรคนี้ต้องวัดค่าความดันของตนเองทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย หากค่าความดันวัดได้มากกว่า180/110 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ห้ามออกกำลังกายเด็ดขาด
อย่าลืมนำ 3 วิธีทั้งหมดนี้นำไปปฏิบัติให้สม่ำเสมอ เพราะสามารถช่วยทำให้สุขภาพฟื้นกลับมาแข็งแรง นอกจากนี้เลิกสูบบุหรี่ และลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยิ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรงมากยิ่งขึ้น… ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/stroke
https://mgronline.com/qol/detail/9630000042167
https://www.thaihealth.or.th/Content/45511-เบาหวานกับการนอนหลับเกี่ยวกันไฉน.html
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28001
https://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services/heart-center-th/heart-articles-th/item/2104-aerobic-exercise-th.html
http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/422
https://www.thaihealth.or.th/Content/42811-เบาหวานกับการออกกำลังกาย.html
http://www.euro.who.int/en/health-topics/health-emergencies/coronavirus-covid-19/statements/statement-older-people-are-at-highest-risk-from-covid-19,-but-all-must-act-to-prevent-community-spread
http://www.thaiheartfound.org/category/details/exercise/409