อายุ 45 ใครว่าเป็นโรคสมองเสื่อมไม่ได้

อายุ 45 ใครว่าเป็นโรคสมองเสื่อมไม่ได้

 สมองเสื่อม โรคนี้ต้องขยาย
        … อายุ 45 ก็เป็นโรคสมองเสื่อมได้เเล้วหรือ?
        ในอดีตสถิติของโรคสมองเสื่อมจะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นส่วนใหญ่ และพบในชายมากกว่าหญิงเเต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนที่จะเสี่ยงเป็นโรคนี้กลับมีอายุที่ลดน้อยลง จากผลสำรวจทางการเเพทย์พบว่าคนที่มีอายุ 30-65 ปี เป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้นถึง 6.9 % ส่วนคนที่มีอายุตั้งเเต่ 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม 5-8 % เเต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ถึง 20 % หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญ คือ การอุดตันของหลอดเลือดในสมอง รองจากโรคอัลไซเมอร์ เเละวัยชรา สาเหตุที่ทำให้อายุเฉลี่ยของคนที่มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมมีอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ส่วนหนึ่งมาจากการมีวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย ทานของทอดของมัน ส่งผลให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลเเละไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง จึงเสี่ยงเป็นโรคไขมันในเลือดสูง โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทั้งหมดที่เกริ่นมา คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมก่อนวัยทั้งสิ้น

 อาการแบบไหนที่แสดงถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในวัยนี้
        ความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อม แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
          ระยะที่ 1 ภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อย
             การที่เราจำสิ่งของไม่ได้ว่าวางไว้ที่ไหน หลงลืมในสิ่งที่เพิ่งทำไปหรือตั้งใจจะทำ ลืมชื่อสถานที่ที่คุ้นเคย ผิดพลาดในการกะระยะ และไม่มีสมาธิเท่าที่ควร หากมีอาการเหล่านี้สามารถไปพบเเพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาให้ดีขึ้นได้ เพราะเป็นอาการที่พบเบื้องต้นของโรคเท่านั้น ในระยะนี้แม้การทำกิจกรรมต่างๆ และการใช้ชีวิตในสังคมจะบกพร่อง แต่ยังสามารถดูแลตนเองได้
          ระยะที่ 2 ภาวะสมองเสื่อมระดับปานกลาง
             หากสังเกตว่าลืมชื่อคนในครอบครัว การตัดสินใจแย่ลง เริ่มมีความบกพร่องในเรื่องการทำความเข้าใจ การเรียนรู้ต่างๆ เริ่มด้อยลง นี่คือสัญญาณของอาการสมองเสื่อมในระยะที่ 2 ซึ่งอันตรายของโรคในระยะนี้ห้ามให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพังอาจเป็นอันตราย และจำเป็นที่ต้องมีคนคอยดูแล
          ระยะที่ 3 ภาวะสมองเสื่อมขั้นรุนแรง
             หากถึงขั้นจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย จำญาติพี่น้อง จำชื่อของตัวเองไม่ได้ ทำกิจวัตรประจำวันเองไม่ได้ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป นี่คือสัญญาณระดับสูงสุดของโรคสมองเสื่อม ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และต้องมีคนดูแลเช่นเดียวกับสมองเสื่อมในระดับปานกลาง

  วิธีดูแลตนเองในวัย 45 ให้ห่างโรคสมองเสื่อม
         จากการศึกษาวิจัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพบว่ามีอยู่ 5 วิธี ที่เป็นการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมที่ดีที่สุด ถึงเเม้เราจะมีอายุที่มากขึ้น แต่หากเราดูแลสมองตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มวัยสาวก็มีโอกาสที่สมองจะเเข็งเเรงมากกว่าคนที่มีอายุเท่ากัน
         1. สมองเสื่อมช้าเพราะ... นอนอย่างมีคุณภาพ
             โดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จากคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ให้คำเเนะนำว่า การนอนอย่างมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องนอนครบวันละ 8 ชั่วโมง เเต่เป็นการนอนหลับลึกหลับสนิท เข้านอนตรงเวลาให้ร่างกายจำเวลานอนได้ เลี่ยงการทานอาหารก่อนเข้านอนเพราะอาจทำให้เป็นกรดไหลย้อน งดเล่นมือถือเป็นเวลา 30 นาทีก่อนเข้านอน เพราะแสงสีฟ้าจากจอ ทำให้สมองคิดว่ายังเช้าอยู่ ส่งผลให้นอนหลับไม่ลึก ซึ่งการที่ตื่นขึ้นมาเเล้วรู้สึกสดชื่น
เท่ากับว่าได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพเเล้ว
         2. สมองเสื่อมช้าเพราะ... หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เเละทานอาหารครบ 5 หมู่
             หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ด้วยการเน้นการทานอาหารให้หลากหลาย เช่น เลือกทานข้าวกล้อง ข้าวที่ขัดสีแต่น้อย ซึ่งยังคงคุณค่าของสารอาหารต่างๆ ที่ช่วยบำรุงร่างกายอย่างครบถ้วน ควรทานไข่ทุกวัน เพราะในไข่แดงมีเลซิตินที่ช่วยบำรุงสมอง ทานปลานึ่งแทนการทอดด้วยน้ำมัน เพราะการทอดจะทำให้ Omega-3 ที่เป็นกรดไขมันที่ช่วยบำรุงสมองสลายไป สำหรับผักและผลไม้ควรทานหลากหลายสี เช่น มะเขือเทศ เพราะมี “ไลโคปีน” ที่ช่วยป้องกันอาการหลงๆ ลืมๆ ได้ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว จะได้วิตามิน C และ A ที่มีส่วนช่วยทำให้สมองเสื่อมช้าลง อย่างผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ โดยเฉพาะบลูเบอร์รี่สด ช่วยในเรื่องความจำมากที่สุด นอกจากจะทานครบ 5 หมู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด ของมัน เพื่อลดการสะสมของไขมันในเลือด ทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น ปลาทะเลน้ำลึก ถั่วต่างๆ ผักใบเขียว เพื่อลดปริมาณไขมันเข้าสู่ร่างกาย ลดเสี่ยงเส้นเลือดสมองอุดตัน
         3. สมองเสื่อมช้าเพราะ... ฝึกใช้สมอง
             ฝึกทำกิจกรรมใหม่ๆ เริ่มจากกิจกรรมที่ชอบทำ อาจจะเป็นการเรียนศิลปะ เรียนภาษาที่อยากเรียนมานาน เวิร์คช็อปทำอาหาร หรือลองประลองฝีมือคิดเลขเร็ว เล่นหมากรุก ที่เป็นกิจกรรมใช้ความคิดซับซ้อนสมองจะยิ่งถูกกระตุ้นการสร้างเซลล์สมองให้มากขึ้น เพราะกิจกรรมดังกล่าว ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และการสัมผัส ประกอบกันทั้งหมด ทำให้เซลล์ประสาทต่างๆ ทำงานประสานกันได้ดีมากขึ้น เพิ่มความจำให้ดีขึ้น และมีส่วนช่วยให้สมองตื่นตัว ได้เรียนรู้เพื่อเข้าใจทักษะใหม่ๆ ได้ดีขึ้น
         4. สมองเสื่อมช้าเพราะ... ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
             หากต้องการจะออกกำลังกายเพื่อช่วยให้สมองแข็งแรง แนะนำให้ออกกำลังกายในแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังลักษณะนี้ จะส่งเสริมการทำงานของสมอง ชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง ลดความเสี่ยงโรคความจำเสื่อมและโรคสมองเสื่อม ในวารสารทางการแพทย์ Neurology ของประเทศสวีเดน ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของ Ingmar Skoog อาจารย์ด้านจิตเวชจากมหาวิทยาลัย Gothenberg ว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายอย่างเข้มข้นเเละสม่ำเสมอ ในช่วงวัย 45 ปีขึ้นไป เมื่อพวกเธอมีอายุมากขึ้น จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยลงเกือบร้อยละ 90 เเละถึงเเม้ว่าการออกกำลังกายจะไม่ได้ช่วยในเรื่องของโรคสมองเสื่อมโดยตรง เเต่งานวิจัยนี้ทำให้ตอกย้ำประโยชน์ของการออกกำลังกายว่ามีความสำคัญกับร่างกายมากเเค่ไหน
         5. สมองเสื่อมช้าเพราะ... เพิ่มสารอาหารที่เรียกว่า Omega-3
             นอกจาก 4 วิธีการดูแลตนเองที่แนะนำไปข้างต้น แพทย์ทั่วโลกแนะนำให้ทานกรดไขมันที่มีประโยชน์ที่เรียกกันว่า Omega-3 ซึ่งประกอบด้วย ดีเอชเอ (DHA) และอีพีเอ (EPA) โดยสารอาหารที่มากไปด้วยคุณค่านี้ จะพบได้ในอาหารธรรมชาติจำพวกปลาแองโชวี่ ปลาแมคคอเรล ปลากระพง ปลาทูน่า ถั่ว ธัญพืช ผักใบเขียว อะโวคาโด ฯลฯ ซึ่งให้ประโยชน์โดยตรงในการช่วยบำรุงเซลล์สมอง ลดการอักเสบของเซลล์สมอง ที่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เซลล์สมองเสื่อมสภาพ นอกจากจะบำรุงสมองเเล้ว ยังช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อมที่มีสาเหตุจากไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้ โดยในปัจจุบันกรดไขมัน Omega-3 นอกจากการทานอาหารจากธรรมชาติแล้ว คนทั่วไปนิยมทานสารอาหารชนิดนี้รูปแบบของ ‘น้ำมันปลา’ เพราะสะดวกและร่างกายก็ได้ประโยชน์อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกับการทานอาหารในแบบปกติ

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy