เรื่องไม่ลับเกี่ยวกับ 'ตับ' ที่ควรรู้

เรื่องไม่ลับเกี่ยวกับ 'ตับ' ที่ควรรู้

รอบรู้เรื่องโรคตับ

     หากจะกล่าวถึงอวัยวะภายในร่างกายที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ ตับเป็นอวัยวะหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึง เพราะตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภายในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกาย และทำหน้าที่ขจัดสารพิษออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้โรคติดเชื้อ ตลอดจนกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ออกจากเลือด นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว ตลอดจนสร้างน้ำดี ซึ่งทำหน้าที่ในการย่อยไขมันและช่วยดูดซึมวิตามินชนิดละลายในน้ำมัน               

     สำหรับโรคร้ายที่เกิดกับตับมีหลายโรคด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ตับอักเสบ ตับแข็งจากการดื่มสุรา ไขมันสะสมในตับ โรคตับที่เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นต้น ซึ่งถ้าเราไม่สนใจในการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มก็อาจทำให้โรคตับลุกลามกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด


ปัจจัยอะไรที่ทำให้ตับป่วย ?

     มีสาเหตุอยู่ 5 ประการที่แพทย์ทั่วโลกลงความเห็นว่าเป็นปัจจัยที่จะทำให้ส่งผลเสียต่อตับได้

       การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
            เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และเรื้อรังจนเป็นตับแข็ง

       การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซี เรื้อรังและไม่ได้รับการรักษา
            เชื้อไวรัสเหล่านี้จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นตับแข็งหรือเป็นมะเร็งตับ

       โรคตับอักเสบจากไขมันเกิดจากภาวะที่มีไขมันสะสมที่ตับเป็นจำนวนมาก
            อาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็งได้ ซึ่งอาจพบร่วมกับโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคอ้วน หรือในคนปกติก็ได้

       การทานยาบางชนิดเป็นระยะเวลานาน
            เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล หรือยาลดไขมัน หรือยาลดไขมัน ทำให้ตับทำงานหนักและมีโอกาสเกิดการอักเสบ

       การได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ
            เช่น สารหนู (arsenic) ทำให้ตับทำงานหนักและเกิดการอักเสบ

การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำลายตับได้อย่างไร?

     โดยทั่วไปแล้วเราทราบกันดีแล้วว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทำให้เกิดโรคตับแข็งได้ อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกคนจะต้องเป็นโรคตับแข็งเสมอไป แต่การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ทุกชนิด คือสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคตับ ไม่ว่าจะเป็นโรคตับแข็ง ตับวาย รวมถึงมะเร็งตับ โดยแอลกอฮอล์จะเข้าไปทำร้ายเซลล์ของตับ กระตุ้นให้มีไขมันสะสมในตับ จากนั้นเนื้อตับจะเกิดการอักเสบ และหากยิ่งดื่มมากเท่าไหร่โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการอักเสบเรื้อรังก็ยิ่งสูงขึ้น จนกลายเป็นการสะสมของพังผืดในตับ ซึ่งเป็นเหมือนแผลเป็นที่มีลักษณะแข็ง หากเกิดขึ้นในระยะยาวจะทำให้ตับแข็ง ส่งผลให้ การทำงานของตับลดลง ตับวาย และนำไปสู่มะเร็งตับได้

     ในทางการแพทย์ถือว่าการได้รับแอลกอฮอล์ 12-15 กรัม เท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 1 หน่วย แต่การดื่มแอลกอฮอล์วันละไม่เกิน 2 หน่วยในผู้ชาย และ 1 หน่วยในผู้หญิง ทางกาแพทย์ระบุว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตับ แต่การดื่มวันละ 5 หน่วยขึ้นไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตับอย่างแน่นอน

เชื้อไวรัส ทำลายตับได้อย่างไร?

     ‘เชื้อไวรัส’ เป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบที่พบบ่อย รองลงมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี อี และชนิดที่ไม่ใช่เอและบี โดยชนิดที่พบบ่อย คือ

       การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด A
            เกิดจากการรับเชื้อเข้าไปทางปาก เช่น อาหาร ผักสด ผลไม้ น้ำดื่ม ที่ปนเปื้อน เชื้อนี้ ทำไม่สุก ไม่สะอาด ไม่ต้มเดือด เป็นต้น ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ ประมาณ 2- 6 สัปดาห์ มีอาการที่ชัดเจนของตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อไวรัสนี้คงทรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน บางครั้งจึงพบมีการระบาด ในชุมชน กลุ่มคนที่อยู่รวมกัน เช่น โรงเรียน หอพัก ค่ายทหาร เป็นต้น

       การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด B
            มีคนเป็นพาหะที่สำคัญ มีคนในโลกกว่า 200 ล้านคน และในเมืองไทยมีประมาณ 5 ล้านคนที่มีเชื้อไวรัสนี้ในร่างกาย พบเชื้อได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม เป็นต้น ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง เช่น ทางเพศสัมพันกับผู้ที่เป็นพาหะ ทารกติดจากมารดาระหว่างคลอด ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ เฉลี่ย 60 - 90 วัน ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสนี้จะหายเป็นปกติ ส่วนหนึ่งอาจป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่า

       การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด C
            เป็นโรคตับที่ติดต่อทางเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน แต่มีผู้ป่วยบางท่านได้รับเชื้อโดยไม่ทราบแหล่งที่มา ปัจจัยเสี่ยงได้แก่

              ผู้ที่เคยได้รับเลือด และสารเลือดก่อนปี 1992 (เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด C)

              เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ได้รับอุบัติเหตุถูกเข็มตำ

             ผู้ป่วยติดยาเสพติดใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน

             ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิด C (พบได้เพียงร้อยละ 5)

             ผู้ที่สำส่อนทางเพศ และกลุ่มรักร่วมเพศ

             ได้รับเชื้อจากการสักตามตัว (ที่ใช้เข็มไม่สะอาด)

     สำหรับการรักษาโรคตับอักเสบจากไวรัส ยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การพักผ่อนเต็มที่ในระยะต้นจะทำให้อาการอ่อนเพลียลดลง งดการออกแรงหรือออกกำลังกายหักโหม การทำงานหนักงดการดื่มสุรา รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย น้ำหวาน น้ำผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงในระยะที่มีคลื่นไส้ อาเจียนมาก ในรายที่อาการมากอาจให้สารน้ำเข้าเส้นเลือดดำ ให้ยาแก้คลื่นไส้ หรือวิตามิน เป็นต้น

ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุจากแอลกอฮอล์

     เป็นภาวะที่มีไขมันไปสะสมแทรกอยู่ในเซลล์ตับ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไขมันสะสมในตับคือ ภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) และเบาหวาน ผู้ป่วยบางรายที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Nonalcoholic steatohepatitis (NASH) บางรายจะมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลียและอาจมีตับโตจนคลำได้ในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง Cirrhosis แต่นักวิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดการอักเสบของตับ พบว่าร้อยละ 5-8 ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็นตับอักเสบและตับแข็ง

การทานยาเป็นเวลานาน ทำลายตับได้อย่างไร

     เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการกำจัดยาออกจากร่างกาย ดังนั้นการได้รับยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานจะรบกวนการทำงานของตับหรืออาจมีผลอันไม่พึงประสงค์ต่อตับได้ โดยปกติเมื่อได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ตับจะทำหน้าที่ผลิตเอ็นไซม์ที่มีหน้าที่ในการทำปฏิกิริยากับยาและกำจัดส่วนที่เหลือออกจากร่างกาย แต่ถ้าร่างกายได้รับยาบางชนิดในปริมาณสูง หรือติดต่อกันเป็นเวลานานตับก็จะไม่สามารถทำลายได้ทัน เหลือเป็นส่วนเกินและมีฤทธิ์ทำลายเนื้อตับ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับจนกลายเป็นภาวะตับวายได้

‘ตับอักเสบ’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

     การมีไขมันในเลือดสูงทำให้มีไขมันในตับสูงด้วย ภาวะตับอักเสบที่พบมากในประเทศไทยมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและการใช้ยาแผนปัจจุบันบางชนิดหรือยาสมุนไพร โดยกระบวนการที่ทำให้เกิดการอักเสบเกิดจาก Oxidative Stress ซึ่งทำให้เซลล์ตับอ่อนแอ ติดโรคง่าย

     หลักในการรักษาคือการปฏิบัติตัว ถ้าอ้วนกว่าปกติก็ต้องพยายามลดน้ำหนัก ถ้ามีไขมันสูงทั้งโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ ต้องลดการทานอาหารที่มีไขมัน ถ้าดื่มสุราต้องเลิกเด็ดขาด และถ้าต้องรับประทานยาชนิดใดๆ เป็นเวลานาน ต้องปรึกษาแพทย์เรื่องการเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ

‘ตับแข็ง’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

     โรคตับแข็งคร่าชีวิตคนทั่วโลกกว่า 25,000 คนต่อปี หรือ 70 คนต่อวัน อาการเมื่อเป็นโรคตับแข็งเกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะที่เกิดแผลเป็นขึ้นที่เนื้อตับหลังจากที่มีการอักเสบ เนื้อตับที่อยู่รอบๆ จะพยายามสร้างเนื้อเยื่อประเภทพังผืดขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียไป ส่งผลให้เลือดที่ไหลผ่านตับถูกอุดกั้น ไหลไม่สะดวก และสมรรถภาพการทำงานลดลง อาการที่จะเกิดกับผู้ป่วยจึงอาจแบ่งได้เป็น อาการที่เกิดจากการทำงานของตับลดลงเช่น มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หากอาการมากขึ้นจะมีการสร้างโปรตีนลดลงทำให้เท้าบวม มีน้ำในช่องท้อง อาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองเป็นดีซ่านได้ นอกจากนั้นอาจมีอาการจากพังผืดดึงรั้งในตับทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติเกิด เส้นเลือดขอดในหลอดอาหารอาจตามมาด้วยการอาเจียนเป็นเลือด ในรายที่เป็นมากอาจซึม หรือในระยะยาวอาจเกิดมะเร็งตับได้

‘มะเร็งตับ’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

     มะเร็งตับเป็นชนิดของมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้ชายไทย และพบมากเป็นอันดับที่ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งชายและหญิง มักเกิดในคนอายุ 35-55 ปี แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

       มะเร็งเซลล์ตับ
            เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในเนื้อตับสัมพันธ์กับการเป็นโรคตับอักเสบและตับแข็ง และสาเหตุที่สำคัญคือสารอะฟลาท็อกซินที่เป็นสารพิษจากเชื้อราโดยเฉพาะจาก ถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม หัวหอม

       มะเร็งของเซลล์ท่อน้ำดี
           พบว่าสัมพันธ์กับโรคพยาธิใบไม้ในตับและสารไนโตรซามีนจากอาหารโปรตีนที่ผ่านการแปรรูป เช่น ปลาร้า ปลาส้ม แหนม กุนเชียง อาการที่พบในขั้นต้นคือ การเบื่ออาหาร ท้องอืดเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย และผอมลงอย่างรวดเร็ว คลำได้ก้อนแข็งบริเวณใต้ชายโครง ถ้าปล่อยไว้จะมีอาการแทรกซ้อนและลุกลามไปอวัยวะอื่น เท้าบวม ท้องบวม อาจมีตาเหลืองเล็กน้อยหรือไม่มีก็ได้ ฝ่ามือแดง มีจุดแดงรูปแมงมุม ที่หน้าอก จมูก ต้นแขน อาจมีไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำลายข้างหูอาจโตคล้ายคางทูม และอาจมีอาการขนร่วงในผู้ชายอาจพบอาการนมโตและเจ็บเรียกว่า ไกนีโคมาสเตีย (Gynecomastia) ตับอาจคลำได้ ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ ถ้าเป็นมาก จะพบว่ารูปร่างผอม ซีด ท้องโตมาก เส้นเลือดพองที่หน้าท้อง มือสั่น ม้ามโต นิ้วปุ้ม

การปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดตับแข็ง?

     ที่สำคัญที่สุดคือ หลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือดื่มแต่ปริมาณน้อยๆ ไม่ดื่มประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงสารพิษโดยไม่ทานอาหารที่เก่าเก็บหรือขึ้นรา หากเป็นตับแข็งแล้ว ต้องรู้จักเลือกบริโภคอาหาร ต้องเลือกโปรตีนที่สะอาด ซึ่งเมื่อย่อยแล้วไม่ทำให้เกิดสารพิษที่มากเกินไปจนตับไม่สามารถกำจัดได้หมด เลือกทานไขมันชนิดที่ไม่ต้องย่อยเพราะตอนนี้ระบบการย่อยไขมันทำงานไม่สมบูรณ์ซึ่งไขมันดังกล่าว คือ กรดไขมันที่จำเป็น นอกจากนี้ยังควรบริโภคอาหารเสริมที่มีคุณสมบัติดักจับอนุมูลอิสระ เพื่อเป็นการขจัดสารพิษที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับหลังจากเป็นตับแข็งแล้ว

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy