ถูกยกตำแหน่งให้เป็นวายร้ายที่บ่อนทำลายสุขภาพไปแล้ว สำหรับฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากพบเจอ แต่ยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะหลายคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง ดังนั้นฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรเรียนรู้ เพื่อระมัดระวังและดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากพิษร้ายของฝุ่นชนิดนี้
ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อสุขภาพแค่ไหน?
แม้จะเป็นแค่ฝุ่นชนิดหนึ่ง แต่การที่ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของคนเรากว่า 20 เท่า ดังนั้นจึงเป็นฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด เพราะสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายอย่างง่ายดายไปพร้อมกับการหายใจของเรานั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นในฝุ่นจิ๋วชนิดนี้ยังมีสารที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพปนเปื้อนอยู่ด้วย นั่นหมายถึงว่าเมื่อเราหายใจเอาฝุ่นเข้าไปในร่างกาย สารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาในอนาคต
เมื่อเราหายใจ ฝุ่น PM 2.5 ที่ปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ ก็จะผ่านเข้าสู่ร่างกายจากจมูกและปาก เข้าไปยังปอดของเราและแพร่กระจายไปทั่วผนังของถุงลมปอด ก่อนจะเข้าสู่กระแสเลือดและเคลื่อนตัวไปยังทุกส่วนของร่างกายผ่านการไหลเวียนของเลือด ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ปอด สมอง และหัวใจ แม้ในระยะเริ่มต้นอาจไม่แสดงอาการ หรืออาจมีแค่ผลกระทบต่อผิวหนัง ทำให้เป็นผื่นคันที่สามารถรักษาหายได้ แต่ในระยะยาวแล้ว การสะสมสารพิษจากฝุ่นเข้าไปในร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาอย่างคาดไม่ถึง
จากสถิติองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเอาไว้ว่า คนทั่วโลกอย่างน้อย 7,000,000 คน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ และแน่นอนว่ามลพิษทางอากาศที่คร่าชีวิตคนมากที่สุดก็คือ ฝุ่น PM 2.5!! และจากข้อมูลของ State of Global Air ระบุชัดเจนว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนในประเทศไทยกว่า 35,000 ราย จากสถิตินี้ทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพขนาดใหญ่สำหรับประเทศไทยไปเรียบร้อย
มีการศึกษาของสถาบัน Institute for Health and Evaluation, University of Washington ในสหรัฐอเมริกาพบว่า “มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารระคายเคืองและสารก่อมะเร็งอันเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้ปอดติดเชื้อง่าย จึงเป็นปัจจัยร่วมอันก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง”
เรามาดูกันว่าอวัยวะสำคัญของร่างกายส่วนไหนที่ได้รับผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด
4 อวัยวะสำคัญของร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5
‘ปอด’
นี่คืออวัยวะที่มีผลกระทบโดยตรงอันดับแรก การสูดดมฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ อาการเบื้องต้นที่พบ คือ การหายใจไม่สะดวก เหนื่อยหอบ ไอ เจ็บคอ และอาจมีเลือดกำเดาไหล แต่ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ เมื่อสารพิษในฝุ่นก่อให้เกิดความระคายเคืองที่ปอดแล้ว จะมีอาการอักเสบของปอดที่นำไปสู่การเกิดโรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เสี่ยงเกิดอาการปอดติดเชื้อ และหากสะสมติดต่อเป็นเวลานานเนื้อของปอดจะเกิดพังผืด ปอดเสื่อมสภาพ หลอดลมอักเสบ หอบหืด และยังทำให้ปอดติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะฝุ่นชนิดนี้จะทำให้ความสามารถในการทำงานของปอดลดลง และยังมีสารก่อมะเร็งรวมอยู่ด้วย นั่นคือ สาร PAH ที่ปนเปื้อนอยู่เข้าไปกระตุ้นการเกิดโรคมะเร็งได้ นั่นก็หมายความว่าฝุ่น PM 2.5 สามารถทำอันตรายกับปอดได้เทียบเท่าหรือมากกว่าคนที่สูบบุหรี่ด้วยซ้ำ
'หัวใจ’
รู้หรือไม่... ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้หัวใจล้มเหลวได้!! ‘หัวใจ’ คือ อวัยวะที่สำคัญในร่างกายชิ้นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 สามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะคือ แบบระยะสั้นและระยะยาว สำหรับอาการในระยะสั้นหรือเรียกว่าเฉียบพลัน ฝุ่นพิษขนาดเล็กนี้จะทำให้เส้นเลือดเปราะและแตกได้ง่ายกว่าปกติ ส่วนคนที่เป็นโรคอยู่เดิม เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ฝุ่นก็จะไปกระตุ้นโรคที่มีอยู่เดิมให้กลับมามีความรุนแรง ส่วนในระยะยาวผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ หลอดเลือดจะมีความหนาขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อของผนังหลอดเลือดขยายใหญ่ เสี่ยงทำให้ร่างกายได้รับอันตราย และเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดโรคหัวใจกับคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนได้ด้วย
‘สมอง’
ความร้ายกาจของฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอย่างที่หลายคนเข้าใจเท่านั้น แต่ฝุ่นจิ๋วที่อันตรายนี้ยังสามารถผ่านเข้าสู่สมองได้โดยตรงผ่านทางโพรงจมูก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ภายในสมองเกิดอาการอักเสบ มีโอกาสที่เซลล์สมองจะถูกทำลาย และแน่นอนภาวะของโรคสมองเสื่อมก็จะตามมาเร็วกว่าคนปกติ
ไม่เพียงแต่สมองของผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การยูนิเซฟ (Unicef) รวมทั้งผลการวิจัยอีกมากมาย ยังบอกไว้อีกว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสมองของเด็กมาก เมื่อฝุ่นเหล่านี้เข้าถึงสมองของเด็กเซลล์สมองจะถูกทำลายเหมือนกับผู้ใหญ่ โดยฝุ่นร้ายนี้จะไปลดพัฒนาการทางด้านสมอง สติปัญญาของเด็ก ส่งผลให้สมองมีการพัฒนาที่ช้าลงหรืออาจไม่พัฒนาเลย มีปัญหาโรคสมาธิสั้น และโรคระบบประสาทอื่นๆ ตามมาในอนาคต
นอกจากความเสียหายของสมองเด็กแล้ว ขณะที่ผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ก็ต้องระวังเรื่องนี้เช่นกัน เพราะการที่แม่หายใจเอาฝุ่นเหล่านี้เข้าไปสะสมในร่างกาย มีโอกาสที่สารพิษในฝุ่นจะถูกถ่ายทอดเข้าสู่ทารก ส่งผลให้ทารกที่เกิดมาอาจมีความผิดปกติ ภูมิต้านทานไม่แข็งแรงและเจ็บป่วยบ่อย
‘ตับ’
เส้นทางการทำลายตับของฝุ่น PM 2.5 เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็ไม่ต่างกับอวัยวะอื่นๆ เนื่องจากฝุ่นมีขนาดเล็กมากนี้ เมื่อเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบหายใจก็จะเข้าสู่ปอด และลงไปถึงตับ ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 เมื่อเข้าถึงตับแล้วก็จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการไปกระตุ้นให้เกิดผังผืดในเนื้อตับ และมีโอกาสที่ตับซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ทำงานผิดปกติ
กรดไขมัน Omega-3 ตัวช่วยสุขภาพในระยะยาว
การออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นการดูแลสุขภาพพื้นฐานที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้ว รวมถึงการพกพาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นอย่างหน้ากากอนามัยติดตัวไว้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีในการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกายเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองมากมาย โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือ การทานอาหารที่อุดมไปด้วย Omega-3 เช่น ปลา ถั่ว ไข่แดง น้ำมันมะกอก ผักใบเขียวต่าง ๆ
Omega-3 หรือกรดไขมันไม่อิ่มตัว ที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะใน Omega-3 จะมีกรดไขมันสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ EPA (Eicosapentaenoic Acid) จะช่วยลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ไขมันตัวร้ายในเลือด ที่เป็นสาเหตุของไขมันอุดตันในเลือด ป้องกันเกล็ดเลือดเกาะตัวกัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตัน DHA (Docosahexaenoic Acid) มีส่วนช่วยพัฒนาสมองและสายตา การเรียนรู้ และความจำ รวมถึงช่วยป้องกันสมองเสื่อม
นอกจากนี้ กรดไขมัน EPA ใน Omega-3 ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 เพราะเมื่อสารพิษในฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย จะก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั้ง ปอด หัวใจ สมอง และหลอดเลือด ซึ่งกรดไขมัน EPA นี้จะเป็นตัวช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด และช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ตามอวัยวะต่าง ๆ จากการได้รับสารพิษ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันทั้งในหัวใจ สมอง และโรคสมองเสื่อมได้
แต่กรดไขมัน Omega-3 ชนิดนี้ ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างเองได้ ดังนั้นเราจึงต้องรับประทานจากอาหาร เช่น ควรทานปลานึ่ง หรือต้ม ให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ตัว จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้นสำหรับผู้ที่ไม่สามารถทานปลาได้เป็นประจำ ปัจจุบัน ‘น้ำมันปลา’ จึงเป็นทางเลือกที่ง่ายและสะดวกที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมัน Omega-3 อย่างเพียงพอ
เมื่อชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปแม้ในสถานการณ์ที่ยังมีฝุ่น PM 2.5 วนเวียนอยู่รอบตัว สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือ การดูแลตนเองและคนในครอบครัวให้รอดพ้นจากพิษภัยของฝุ่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเจ้าตัวเล็กในบ้าน คุณพ่อคุณแม่วัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงวัย ก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายเพื่อต่อสู้กับฝุ่นร้ายด้วย Omega-3 ที่มีอยู่ในน้ำมันปลาได้เช่นกัน ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care