‘อาการข้อกระดูกเสื่อม’ เป็นอาการที่เกิดจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อกระดูกสึกหรอ โดยจะมีอาการชัดเจนมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจำนวนมากจึงต้องเผชิญกับปัญหาข้อกระดูกเสื่อม บางรายอาจมีหัวเข่าผิดรูป ขาโก่งงอ ทำให้เดิน ลุก นั่ง หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่สะดวก อาการเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตที่สร้างความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจของผู้ป่วยอยู่ไม่น้อย
การเกิดอาการข้อกระดูกเสื่อมมีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ที่เคยชิน ทำให้ข้อกระดูกเสื่อมสภาพและมีอาการรุนแรงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งอาการข้อเสื่อมนี้มักเกิดบริเวณข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อกระดูกสันหลัง โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้"
ข้อเข่าเสื่อม มีสาเหตุมาจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าเสื่อมสภาพตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือหากเกิดขึ้นในคนวัยทำงานมักมีสาเหตุมาจากการใช้งานหนัก เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬา หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บเรื้อรังบริเวณข้อเข่า รวมถึงน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจนเพิ่มแรงกดบริเวณหัวเข่าด้วย
ข้อสะโพกเสื่อม มีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้กระดูกสะโพกเสื่อม หรือเกิดจากการบาดเจ็บบริเวณข้อสะโพก ความผิดปกติของข้อสะโพก เช่น เบ้าสะโพกตื้นกว่าปกติ หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม
ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม มีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังยุบตัวลง เพราะอายุที่มากขึ้น เมื่อกระดูกสันหลังหลวม ร่างกายจึงสร้างกระดูกมาทดแทนเพื่อให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคง กระดูกที่งอกออกมานั้นเรียกว่า ‘กระดูกสันหลังเสื่อม’ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคกระดูกทับเส้นได้ด้วย
สาเหตุของข้อเสื่อมที่กล่าวไปแล้วนั้น ล้วนเป็นสาเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำตั้งแต่วัยทำงาน ดังนั้นควรสังเกตความเสี่ยงและเช็คอาการข้อเสื่อมเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ ดังนี้
งอเข่าหรือเหยียดขาได้ไม่สุด
ปวดข้อขณะเคลื่อนไหว
ข้อกระดูกอักเสบ บวม แดง
รู้สึกฝืดหรือติดขัดบริเวณข้อ
มีเสียงเสียดสีบริเวณข้อขณะเคลื่อนไหว
อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเป็นอาการข้อกระดูกเสื่อม ซึ่งหากปล่อยไว้นานโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ข้อเข่าผิดรูป ขาโก่งงอ และไม่สามารถเดินหรือใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
อาการข้อเสื่อม นับเป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน ทำได้เพียงควบคุมไม่ให้เกิดการเจ็บปวดหรือบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นเท่านั้น ส่วนการรักษาจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของอาการและอายุของผู้ป่วย โดยมีแนวทางป้องกันและรักษาอาการข้อเสื่อม ดังนี้
วิธีที่ 1 การใช้ยา การรักษาอาการข้อเสื่อมด้วยการใช้ยามีหลายรูปแบบ มีทั้งยาทาภายนอก ยาสำหรับทาน และยาฉีดเข้าไปยังบริเวณข้อ ซึ่งเป็นกลุ่มของยาที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดบวม และลดการอักเสบ โดยในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยากลุ่มของมอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการปวด
วิธีที่ 2 การทำกายภาพบำบัด เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาอาการข้อเสื่อมที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำได้เป็นประจำ โดยการออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อ การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง ทั้งนี้การทำกายภาพบำบัดจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บช้ำ
วิธีที่ 3 การผ่าตัด วิธีนี้จะสามารถทำได้เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยรายนั้นไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น หรือรักษาด้วยวิธีต่างๆ แล้วไม่ได้ผล จึงจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น การกระโดด การเล่นกีฬาโดยไม่ระมัดระวัง และการยกของหนัก
ปรับเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ ไม่อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไป เช่น หากจำเป็นต้องนั่งพับเพียบก็เปลี่ยนข้างบ่อยๆ ไม่ยืน คุกเข่า หรือนั่งยองเป็นเวลานาน
รีบรักษาเมื่อบาดเจ็บ หากมีอาการบาดเจ็บบริเวณข้อกระดูกควรรีบรักษาให้หาย ไม่ควรปล่อยไว้จนเป็นอาการบาดเจ็บเรื้อรัง
บริหารข้อกระดูกเป็นประจำ ออกกำลังกายเพื่อบริหารข้อด้วยท่าที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ
ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากจนเกินไป เพราะน้ำหนักตัวที่มากจะทำให้ข้อเข่าและข้อสะโพกรับน้ำหนักมากขึ้นและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
บำรุงข้อกระดูกด้วยสารอาหารสำคัญ โดยเฉพาะสารอาหารประเภทคอลลาเจนที่จะช่วยกระตุ้นเซลล์กระดูกอ่อนให้สร้างคอลลาเจนกระดูกอ่อนบริเวณข้อเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลการวิจัยว่าสามารถช่วยเสริมเติมเต็มกระดูกอ่อนบริเวณข้อ รวมทั้งเพิ่มน้ำเลี้ยงข้อได้ จึงมีส่วนช่วยบำรุงข้อและป้องกันข้อเสื่อมโดยเฉพาะ ลดการเสียดสีของข้อต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ
อาการข้อเสื่อม เป็นโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก บางรายไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ สร้างความทุกข์ใจให้แก่ตนเองและคนรอบข้าง ดังนั้นรีบดูแลข้อของคุณตั้งแต่วันนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต... ด้วยความห่วงใยจาก Fortigel _MEGA We care
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://med.mahidol.ac.th/ortho/sites/default/files/public/file/pdf/knee_book_0.pdf
https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/บทความ-กระดูกและข้อ/สัญญาณเตือนของภาวะ--ข้อเข่าเสื่อม-
https://www.thaihealth.or.th/sook/info-body-detail.php?id=189
https://www.thairheumatology.org/โรคข้อเสื่อม/
https://www.samitivejhospitals.com/th/ข้อสะโพกเสื่อม/
http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-166