เทรนด์สุขภาพประจำเดือนเมษายน 2564

เทรนด์สุขภาพประจำเดือนเมษายน 2564

วัคซีน COVID-19 ความรู้ที่ต้องเข้าใจ

     วิกฤตโรคระบาด COVID-19 วัคซีนกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกเฝ้ารอและคาดหวังว่าจะช่วยให้วิกฤติสุขภาพครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้ แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อโรคนี้ และเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจเรื่องของวัคซีนได้อย่างถูกต้อง

     นี่คือ 5 สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19  

1. วัคซีนมาแล้วโรคระบาดจะหายไปทันที

หน้าที่ของวัคซีนที่แท้จริงคือ ช่วยควบคุมการระบาดของโรค แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าจะทำให้เชื้อโรคและการระบาดของโรคหายไปในทันทีซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการระบาด เช่น จำนวนคนที่ได้รับวัคซีนและพฤติกรรมต่างๆ ของคน ถึงแม้จะได้วัคซีนแล้ว แต่ไม่สวมหน้ากาก ไม่เว้นระยะห่าง ไม่ล้างมือ ก็ทำให้การระบาดมีโอกาสเกิดขึ้นได้

2. วัคซีนต้องฉีดให้ครบทุกคน

     คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีนถึงจะป้องกันโรคได้ แต่การควบคุมโรคระบาดมีแนวคิดที่เรียกว่า ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ หรือ herd immunity ซึ่งหมายถึงการที่คนในสังคมหมู่มากมีภูมิคุ้มกันเพียงพอในระดับหนึ่งก็จะสามารถควบคุมโรคได้และโรคก็จะไม่สามารถติดต่อไปยังคนอื่น แต่ทั้งนี้ยังต้องพิจารณาถึงสถานการณ์การระบาดอื่นๆ ด้วย เพราะในบางประเทศที่มีประชากรมากเลือกที่จะฉีดเพียงครึ่งหนึ่ง ขณะที่ประเทศที่มีการระบาดมากๆ ก็เลือกที่จะฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อเร่งควบคุมโรค

3. วัคซีนต้องประสิทธิภาพสูงเท่านั้น

     เป็นที่ถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย ข่าวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน ตัวเลขการคาดการณ์จำนวนต่างๆ มากน้อยทำให้ทุกคนต่างวิตกกังวล ซึ่งการที่วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางการแพทย์แล้วไม่มีการรักษาใดสมบูรณ์แบบ 100% ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ที่ประสิทธิภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอีกอย่างที่สำคัญกับการควบคุมโรคก็คือ “ระยะเวลาที่วัคซีนให้ผลคุ้มครอง (duration)” ซึ่งมีผลช่วยในการควบคุมโรค งานวิจัยของ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP (Health Intervention and Technology Assessment Program) พบว่าหากเทียบระหว่างวัคซีนที่ได้ผล 90% แต่มีระยะเวลาที่ให้ผลคุ้มครองเพียง 6 เดือน กับวัคซีนที่ได้ผล 70% ที่คุ้มครองนาน 1 ปี วัคซีนชนิดหลังจะช่วยให้ควบคุมการระบาดได้ดีกว่า

4. วัคซีนป้องกันโรคได้อย่างเดียว

     ความเข้าใจผิดของคนไทยอีกหนึ่งข้อเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 ก็คือ สามารถป้องกันโรคได้เพียงอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้ววัคซีนยังมีประสิทธิภาพด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยทางองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้แบ่งผลของวัคซีนเป็น 3 แบบ ได้แก่ ช่วยลดการติดเชื้อ ช่วยลดการแพร่เชื้อเมื่อป่วย และช่วยลดความรุนแรงของอาการเมื่อติดป่วย

5. ฉีดวัคซีนแค่เข็มเดียว และครั้งเดียวก็จะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต

     ความเชื่อนี้ก็เป็นความเชื่อที่ผิด และต้องเร่งทำความเข้าใจโดยด่วน เพราะวัคซีน COVID-19 ที่ได้รับการพัฒนาในขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังคงต้องมีการฉีด 2 ครั้ง (โดส) โดยมีระยะเวลาห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งหลังจากฉีดเข็มที่ 2 แล้วต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งภูมิคุ้มกันถึงจะเพิ่มขึ้นได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่วัคซีนมีผลคุ้มครอง ทั้งนี้ ระดับของภูมิคุ้มกันยังสามารถลดลงได้และถึงตอนนี้ (2 กุมภาพันธุ์ 2564) ยังไม่มีการศึกษาวัคซีน COVID-19 ชนิดไหนบอกได้ว่าวัคซีนจะให้ผลคุ้มครองนานแค่ไหน วัคซีน COVID-19 จึงอาจต้องฉีดมากกว่านั้น ดังนั้นแม้ฉีดวัคซีนแล้วการใส่แมส ล้างมือ เว้นระยะห่างยังคงจำเป็นเพื่อควบคุมในระยะยาวอยู่

     ถึงแม้วัคซีน  COVID-19  จะเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกต่างรอคอยและให้ความหวังว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโรคได้ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การรักษาไม่มีอะไรสมบูรณ์ 100 % และยิ่งเป็นเชื้อโรคที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่มาได้ไม่นาน และมีการกลายพันธุ์จากต้นแบบเดิม ถึงแม้ได้รับวัคซีนแล้วหากละเลยการป้องกันอื่น ๆ การระบาดก็อาจจะไม่ลดลง หรืออาจะเกิดการระบาดรอบใหม่ได้ตลอดเวลา

     ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่คนทั่วโลกต้องปฏิบัติในการช่วยการควบคุมโรคก็คือ การสวมหน้ากาก การล้างมือ และเว้นระยะห่าง ที่สำคัญต้องอาศัยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายด้วยการดูแลตัวเองให้แข็งแรง ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นและสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอ เช่น วิตามินซี วิตามินดี วิตามินเอ (ในรูปแบบเบต้าแคโรทีน) และแร่ธาตุสังกะสี รวมทั้งออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ลดการทำร้ายร่างกายด้วยพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก :
สำนักงานสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy