เทรนด์สุขภาพประจำเดือนเมษายน 2564

เทรนด์สุขภาพประจำเดือนเมษายน 2564

แน่ใจหรือไม่? ว่าร่างกายของคุณไม่ได้ขาด Vitamin D

     ไม่น่าเชื่อว่า...คนไทยจำนวนมากมีระดับ Vitamin D ในร่างกายต่ำกว่าปกติทั้งที่อยู่ในประเทศเมืองร้อน!? จากข้อมูลทางสุขภาพกว่าร้อยละ 60 ของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเกือบร้อยละ 50 ของคนในตัวเมือง แต่ละจังหวัดมีภาวะขาด Vitamin D มากกว่าคนในพื้นที่ชนบท ทั้งที่ร่างกายของเราสามารถสังเคราะห์ Vitamin D ได้จากผิวหนังเมื่อโดนแสงแดด แต่จากพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่อยู่ในห้องหรืออาคาร และออกมาสัมผัสแสงแดดลดลง จึงทำให้เกิดภาวะที่เราเรียกว่า ภาวะขาด Vitamin D

     ตั้งแต่มีการแพร่กระจายของเชื้อโคโรน่าไวรัสวิธีการเสริมภูมิต้านทานด้วยวิตามิน เป็นสิ่งที่แพทย์ทั่วโลกและองค์การอนามัยโลกแนะนำควบคู่ไปกับการป้องกันการติดเชื้อจากภายนอก เช่น การล้างมือ เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย

     วิตามินสำคัญที่ให้ประโยชน์ในการเสริมภูมิต้านทานที่คนทั่วไปรู้จักก็คือ Vitamin C นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิตามินที่สามารถกินควบคู่กันได้ในภาวะการแพร่กระจายของเชื้อโรคระลอก 3 ในประเทศไทยเพื่อปกป้องร่างกายที่ได้รับการยืนยันแล้วว่า ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ด้วยการเพิ่มความแข็งแรง และการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน รวมทั้งช่วยลดความรุนแรงในผู้ที่ติดเชื้อก็คือ Vitamin D

road-in-bangkok

     ประโยชน์ของ Vitamin D โดยทั่วไปเป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญในการดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียมจากอาหาร ไปบำรุงกระดูกทำให้กระดูกแข็งแรง  แต่ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยออกมาว่าวิตามินชนิดนี้มีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย หนึ่งในเซลล์ที่ว่านี้ก็คือ เม็ดเลือดขาว ที่เปรียบเสมือนเป็นเกราะป้องกันในการต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายโดย Vitamin D จะไปช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนและมีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า ในทางกลับกันหากร่างกายมีภาวะการขาด Vitamin D ก็เท่ากับว่า ภูมิคุ้มกันก็จะลดลง เม็ดเลือดขาวก็จะอ่อนแอขาดความสมบูรณ์ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างเต็มที่

     มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจซึ่งถูกส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างกว้างขวางในช่วงที่มีการระบาด โดยเป็นการรายงานของมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา (University of Barcelona) ประเทศสเปน ระบุไว้ว่า Vitamin D สามารถลดอาการของผู้ป่วยหนักได้ถึง 80% และลดอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อโคโรน่าไวรัสถึง 60% ซึ่งก็สอดคล้องกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Northwestern ของสหรัฐอเมริกาที่ระบุ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซึ่งมีภาวะขาด Vitamin D อย่างรุนแรงมีแนวโน้มที่จะมีอาการแทรกซ้อนและเสียชีวิตมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า

     นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาที่สนับสนุนเรื่อง Vitamin D กับความเสี่ยงในการติดเชื้อโคโรน่าไวรัส ที่รวบรวมข้อมูลโดยนักวิจัยชาวอิสราเอลซึ่งก็พบว่า คนที่มีปริมาณวิตามินชนิดนี้ในเลือดต่ำจะมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้มากกว่าผู้ที่มีวิตามินในระดับปกติ นอกจากนี้ในงานศึกษาชิ้นนี้ยังพบอีกว่า เมื่อผู้ที่มี Vitamin D ในเลือดน้อยกว่าติดเชื้อแล้วจะมีอาการที่แสดงออกมามากยิ่งขึ้น ซึ่งการเช็คว่าร่างกายว่ามี Vitamin D เพียงพอหรือไม่ สามารถทำได้ด้วยการเจาะเลือดเพื่อเช็คดู ซึ่งปริมาณ Vitamin Dในร่างกายควรอยู่ในระดับ 50-70 ng/ml

     ส่วนการกิน Vitamin D เพื่อการป้องกันภาวะขาดวิตามินในร่างกายมีการศึกษาพบว่า Vitamin D2 จะมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายและร่างกายดูดซึมไปใช้ได้น้อยกว่า Vitamin D3  ดังนั้นจึงแนะนำให้เลือกกินในแบบ Vitamin D3 จึงจะได้ประสิทธิภาพที่มากกว่า นอกจากนี้เพื่อผลลัพธ์ของภูมิต้านทานที่ดีขึ้นสามารถกินควบคู่ไปกับวิตามินซีได้ด้วย

โดยปริมาณ Vitamin D ที่แนะนำต่อวันสำหรับคนทั่วไปแบ่งตามอายุก็คือ

       อายุ 0-12 เดือน ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 400 IU (10 mcg)
       อายุ 13-70 ปี เดือน ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 600 IU (15 mcg)

ส่วนผู้ที่มีปัญหาภาวะขาด Vitamin D ปริมาณแนะนำต่อวันสำหรับคนทั่วไปแบ่งตามอายุก็คือ

       อายุ 0-6 เดือน ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 1000 IU (10 mcg)
       อายุ 7-12 เดือน ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 1500 IU (38 mcg)
       อายุ 1-3 ปี ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 2500 IU (63 mcg)
       อายุ 4-8 ปี ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 3000 IU (75 mcg)
       อายุ 9-18 ปีขึ้นไป ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 4000 IU (100 mcg)
     (ข้อมูลจาก : ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ขอบคุณข้อมูลจาก :

https://www.bbc.com/thai/international-56651914
https://www.xinhuathai.com/high/104251_20200511
 https://www.xinhuathai.com/inter/157068_20201130
 https://www.ryt9.com/s/prg/1504479
 https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/march-2019/vitamin-d
 นพ. ศิต เธียรฐิติ แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการแพทย์บูรณาการ

This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy