หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงเน้นย้ำเรื่องของการดูแลตัวเองจากภายในว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเทียบเท่ากับการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ที่สำคัญเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากขณะที่วิกฤตสุขภาพจนถึงตอนนี้ยังอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวัง และนี่คือ 5 เหตุผลที่บอกว่า.... ทำไมการดูแลตัวเองจากภายในถึงสำคัญไม่แพ้กับการฉีดวัคซีน
1. ผลข้างเคียงของวัคซีนที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
ความหวังในการรักษาที่ทั่วโลกฝากเอาไว้เพื่อหยุดการแพร่กระจาย ลดการติดเชื้อ และเสียชีวิตก็คือ ‘วัคซีน’ แต่กระทั่งถึงตอนนี้ข่าวผลข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีนก็มีมาให้ได้เห็นอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่อาการที่แสดงออกมาเล็กน้อย เช่น ปวดหัว มีไข้อ่อน อาการคัน ไปจนถึงอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง หน้าบวม ลิ้นบวม หายใจลำบาก ความดันโลหิตลดลง มีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน หรือก่อให้เกิดอาการแพ้จนกระทั่งเสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งอาการของผลข้างเคียงจะมากน้อยขึ้นอยู่แต่ละบุคคล และบางคนก็ไม่แสดงอาการผิดปกติ ที่สำคัญไม่มีวัคซีนที่เกิดจากไวรัสใดๆ ที่สามารถป้องกันโรคได้ 100%
แต่ถึงอย่างไรการฉีดวัคซีนก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ และคนไทยทุกคนต้องฉีด เพื่อเป็นการลดโอกาสเสี่ยงและลดความรุนแรงในการติดเชื้อ
2. การกระจายวัคซีนยังไม่ทั่วถึง
ขณะที่คนไทยเฝ้ารอการมาถึงของวัคซีนคุณภาพ ในความเป็นจริงแล้วจนถึงนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์จนถึงตอนนี้(ข้อมูลล่าสุด 7 พฤษภาคม 2564) กระทรวงสาธารณสุขได้ให้บริการวัคซีนป้องกัน รวมทั้งสิ้น 1,730,488 โดส ใน 77 จังหวัด โดยคิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 1,262,703 ราย (จากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 467,785 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 จากเพจไทยรู้สู้โควิด)
ที่สำคัญการที่วัคซีนจำนวนจำกัดจึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลัง โดยคำนึงถึงความจำเป็นที่พิจารณาจากโอกาสการได้รับเชื้อ และมีอาการรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ
แต่แน่นอนว่าวัคซีนจากบริษัทฯ ต่างๆ ยังคงทยอยเข้าสู่ประเทศไทยหลายแสนโดสในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในสิ้นปีนี้คนไทยจะได้รับวัคซีนประมาณ 50 ล้านคน แต่ในเมื่อจำนวนผู้ได้รับเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้นหลักพันคน การรอวัคซีนเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังวิกฤตมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักพันทุกวันติดต่อกันแบบนี้ได้
3. ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดได้เช่นกัน
คนจำนวนไม่น้อยสงสัยเรื่องที่ว่า หากผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้รับเชื้อ ข้อข้องใจนี้ ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นไว้ว่า "ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้รับวัคซีนครบแล้วจะได้รับเชื้อ เพราะขนาดคนเป็นโรคแล้วก็สามารถเป็นซ้ำได้ แต่มีโอกาสน้อยกว่าเท่านั้น ที่สำคัญวัคซีนก็ไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% แต่จุดมุ่งหมายก็คือ การช่วยลดระดับความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยรุนแรงให้น้อยลงเท่านั้น” ดังนั้นกรณีได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว การปฏิบัติสุขลักษณะอนามัยก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำต่อไป ได้แก่ การเว้นระยะห่าง 2 เมตร การล้างมือบ่อยๆ และการงดไปในสถานที่แออัด
4. เมื่อได้รับเชื้อบางคนไม่แสดงอาการ
ในสถานการณ์ระลอกล่าสุด มีผู้ที่ได้รับเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ที่บ่งบอกว่าร่างกายได้รับเชื้อไม่ไอ ไม่เจ็บคอ ไม่มีไข้ ไม่ปวดเมื่อย มีลักษณะเหมือนคนปกติทุกอย่าง ตรวจรอบแรกไม่เจอกว่าจะรู้ได้รับเชื้อก็ต้องตรวจถึงสามสี่รอบ กว่าจะรู้ว่าภายในร่างกายมีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ ซึ่งลักษณะนี้เช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องวิตกกังวลเป็นอย่างอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ในทุกวันที่ใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อนในที่ทำงานเดียวกัน คนที่โดยสารรถสาธารณะคันเดียวกัน คนที่กินอาหารร้านเดียวกัน หรือใครที่มีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นการเสี่ยงอย่างมาก การไม่แสดงอาการนี้ทำให้ผู้ที่ไม่รู้ว่ามีเชื้อไม่ระมัดระวังตัว ทำให้เพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เมื่อได้รับเชื้อไปแล้วทำให้แสดงอาการรุนแรงได้
5. เชื้อแพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม และเสี่ยงกับอาการที่รุนแรง
จากการศึกษาสถิติการแพร่กระจายในครั้งนี้พบว่า บางคนที่ได้รับเชื้อเพียงไม่ถึงสัปดาห์ก็จะแสดงอาการที่รุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น คนอ้วน ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว กลุ่มคนเหล่านี้จะเกิดอาการปอดอักเสบได้ง่ายกว่าเดิม มีปริมาณเชื้อในโพรงจมูกและเสมหะมากกว่าเดิม ที่สำคัญเชื้อสามารถแพร่กระจายได้เร็วมาก นอกจากนี้ยังสามารถเห็นวัยรุ่น หรือผู้ที่มีอายุน้อยๆ ได้รับเชื้อกันมากขึ้น ต่างจากครั้งที่ผ่านมาที่กลุ่มผู้ได้รับเชื้อส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ
ไม่เพียงเท่านั้นสถิติการเสียชีวิตของผู้ที่ได้รับเชื้อก็เกิดเร็วขึ้นกว่าเดิมในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน และสิ่งที่น่ากังวลในระบบสาธารณสุขก็คือ จำนวนเตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจต่างๆ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้อย่างทั่วถึง