เมื่อต้องออกเดินทางไปท่องเที่ยว หรือไปยังสถานที่ซึ่งไม่คุ้นชิน มักจะเกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่างที่ไม่คาดคิด ทำให้ทริปการเดินทางที่แสนสนุก กลับต้องหยุดชะงัก ซึ่งหนึ่งปัญหาสุขภาพที่คนเดินทางส่วนใหญ่มักจะเจอคือ อาการท้องเสียเฉียบพลันหรือ ‘โรคท้องเสียระหว่างเดินทาง’ (Traveler’s Diarrhea) ฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากเจอ
ถึงแม้อาการท้องเสียจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย ยิ่งหากเกิดท้องเสียระหว่างการเดินทาง ท่ามกลางรถติด จากปัญหาท้องเสียธรรมดาอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของวันได้ และคงไม่ใช่เรื่องดีแน่หากต้องแวะเข้าห้องน้ำตลอดการเดินทาง
ปัญหาท้องเสียระหว่างเดินทาง โดยส่วนใหญ่เกิดจาก “การติดเชื้อในลำไส้” ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดหรือปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงการล้างมือไม่สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ เมื่อหยิบจับอาหารหรือดื่มน้ำอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และขั้นตอนการปรุงอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยกว่าร้อยละ 90เป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต ซึ่งท้องเสียจากการติดเชื้อมักเป็นอาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน
อาการท้องเสียระหว่างเดินทาง หรืออุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำมากกว่าปกติ โดยติดต่อกันสามครั้งขึ้นไปต่อวัน และมักจะมีอาการปวดบิดในท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการตามที่กล่าวไป สามารถรักษาตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้
จิบน้ำผสมผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
ควรรับประทานอาหารประเภทอ่อน รสไม่จัด และย่อยง่าย เพื่อลดการทำงานของลำไส้
พักผ่อนให้เพียงพอ และงดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ๆ
แต่ในกรณีที่ถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที