6 สัญญาณสังเกตอาการลดโอกาสหัวใจวาย

จากการเก็บสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ก็คือ ‘โรคหัวใจ’ และอัตราเสียชีวิตจากโรคนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งสถิติที่คนไทยเสียชีวิตในปัจจุบันอยู่ที่ 60,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน

ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงกับภาวะหัวใจวายเกิดจากอะไร

  • ไขมันในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตสูง
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน โรคอ้วน
  • ความเครียด
  • สูบบุหรี่จัด
  • โรคเบาหวาน
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • กรรมพันธุ์

ถึงแม้จะมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ แต่สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวาะหัวใจวายได้มากขึ้นก็คือ พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทาน ของทอด ของมัน อาหารหวานจัด หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง รวมทั้งขาดการออกกำลังกาย

ภาวะหัวใจวาย คืออะไร
หัวใจวาย คือภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากมีการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจอย่างทันทีทันใดและไปขัดขวางการไหลของเลือดทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ

6 สัญญาณสังเกตอาการลดโอกาสหัวใจวาย
แต่ถึงแม้ ‘หัวใจวาย’ จะเป็น ภาวะของโรคที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน แต่นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้สังเกตอาการนำของผู้ที่มีความเสี่ยงกับหัวใจวาย เพราะหากมีอาการดังต่อไปนี้เป็นประจำก็สามารถคาดการณ์ได้ว่ากำลังเสี่ยงกับอาการหัวใจวาย

  1. มีอาการเหนื่อยง่าย หรือหอบ
  2. นอนราบไม่ได้ ต้องหนุนหมอนเพิ่มหรือนั่งหลับ
  3. สะดุ้งตื่นมาตอนกลางคืน เพราะอึดอัดหายใจลำบาก
  4. มีอาการบวมที่ข้อเท้าและหน้าแข้ง
  5. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 2 กิโลกรัม ใน 2 วัน
  6. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร และท้องอืด


ลดความเสี่ยงของอาการหัวใจวายได้อย่างไร
ผู้ที่เสี่ยงกับอาการดังกล่าว และผู้ใกล้ชิด ควรดูแลและควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันและลดโอกาสของภาวะหัวใจวายได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานจัด มัน เค็ม จำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทานต่อวัน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพราะผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคหัวใจการออกกำลังกายต้องทำอย่างพอดีหากหอบเหนื่อยควรหยุดพักทันที


นอกจากนี้ต้องงดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ทุกประเภทโดยเด็ดขาด เพราะสารพิษในบุหรี่หลายร้อยชนิดจะส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ เสี่ยงทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นให้การบีบตัวของหัวใจทำงานลดลง และประการสุดท้ายผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ต้องอยู่ในความดูแล และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
อ้างอิง

-

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

มารู้จักกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) และวิธีป้องกันง่ายๆ

รู้ให้ละเอียดยิ่งขึั้นกับเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร2 สิ่งสำคัญของผู้ติดเชื้อ เมื่อต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน