How to ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นเบาหวาน
‘ผู้ป่วยโรคเบาหวาน’ นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าไม่ดูแลรักษา จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากมาย และที่สำคัญผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อ Covid-19 อาจจะมีอาการรุนแรง และมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป
สาเหตุที่ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป เมื่อติดเชื้อ Covid-19
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการติดเชื้อไวรัส Covid-19 มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัว มีได้หลายสาเหตุ ดังนี้
- ระดับน้ำตาลที่สูงกว่าปกติ
ระดับน้ำตาลที่สูงจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ลดลง ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับไวรัสได้ ไวรัสจึงสามารถเติบโตและกระจายตัวได้ง่ายขึ้น - โรคร่วมหรือผลข้างเคียงจากเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จะมีโรคร่วมหรือผลข้างเคียงจากเบาหวานร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ฯ ซึ่งทำให้เมื่อติดเชื้อไวรัส Covid-19 มีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น มีผลข้างเคียงง่ายและเพิ่มขึ้นได้ - ปฏิกิริยาการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส
เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานติดเชื้อไวรัส Covid-19 ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้านไวรัสและการอักเสบ ซึ่งปฏิกิริยาการอักเสบทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จึงมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่แย่ลง
ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เกิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานแต่ละคนจะมีความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป โดยมีปัจจัยคือระยะเวลาที่เป็นเบาหวานและระดับน้ำตาลในเลือด หากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากก็จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนได้ โดยโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่พบมาก ได้แก่
โรคความดันโลหิตสูง
เป็นโรคที่พบได้มากในจำนวนผู้เป็นเบาหวาน และเมื่อเริ่มเป็นโรคความดันโลหิตสูงมักจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตา และโรคทางสมอง ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ โดยการพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับความดันของเลือด หากเป็นผู้ที่มีโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินก็ต้องควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนัก จะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ด้วยและควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยควบคุมความดันโลหิตสูงให้เป็นปกติได้เช่นกัน
โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ นับได้ว่าเป็นโรคแทรกซ้อนที่คุกคามต่อชีวิตได้ เพราะผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนกระทั่งกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ และผู้ป่วยที่มีความเครียดเป็นประจำ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านั้นและหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้
โรคปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน
โดยโรคนี้ไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกรำคาญและทุกข์ทรมาน ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทถูกทำลาย ไม่สามารถส่งออกซิเจนมาตามกระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงเส้นประสาทได้ และรวมไปถึงการมีน้ำตาลสะสมรวมตัวกันอยู่บริเวณเส้นประสาท จึงทำให้การทำงานของเส้นประสาทเสื่อมลง ความรู้สึกในการรับรู้ต่างๆ ลดลง โดยเป็นเฉพาะบริเวณปลายมือ ปลายเท้าจะเกิดอาการชา เมื่อถูกความร้อนหรือได้รับความเจ็บปวดจะไม่รู้สึก ซึ่งทำให้เป็นอันตรายกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้ง่ายโดยไม่รู้สึกตัว และเมื่อเป็นมากขึ้นอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณระบบทางเดินอาหารอีกด้วย จึงทำให้เกิดอาการท้องผูกโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยการรักษาอาการปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวานสามารถทำได้ด้วยการบำบัดตามอาการ แต่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะช่วยลดความรุนแรงได้
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นสิ่งที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่อาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานก็สำคัญเช่นกัน แม้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะพยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว แต่มีมากกว่า 20% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานก็ยังเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยระยะแรกมักจะพบปลายประสาทเสื่อม ชาตามปลายมือและปลายเท้า และระยะต่อมาจะทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ ไต และการย่อยอาหารผิดปกติ
- แอลฟา ไลโปอิค แอซิด
แอลฟา ไลโปอิค แอซิด (Alpha-lipoic Acid ; ALA) หรือ กรดไลโปอิค มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถละลายได้ทั้งในน้ำและไขมัน ช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ ในร่างกายจากสารอนุมูลอิสระได้ดี และจากการศึกษาพบว่าช่วยลดภาวะอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้เป็นอย่างดี โดยแอลฟา ไลโปอิค แอซิด ช่วยเสริมการออกฤทธิ์ของอินซูลินที่ใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยการนำเอาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ต่างๆ และเผาผลาญน้ำตาลเป็นพลังงานดีขึ้น จึงช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น โดยในประเทศเยอรมัน ได้รับอนุญาตให้ใช้ยารักษาสำหรับภาวะปลายประสาทเสื่อมและโรคแทรกซ้อนที่มาจากโรคเบาหวาน เช่น ภาวะปลายประสาทเสื่อม ลดอาการปวดเจ็บ ปวดแสบ ปวดร้อน ชาตามปลายมือปลายเท้า ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งแอลฟา ไลโปอิค แอซิด สามารถพบได้จากแหล่งอาหารธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ผักโขม มันฝรั่ง แต่การได้รับจากอาหารเสริมก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย
- สารอาหารกลุ่มวิตามินบีและสารต้านอนุมูลอิสระ
วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 กรดโฟลิค และวิตามินบี 12 เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการบำรุงระบบประสาท มีส่วนช่วยในการสร้างสื่อประสาท และช่วยซ่อมแซมเส้นประสาท ซึ่งช่วยลดอาการชาปลายมือปลายเท้าได้ โดยวิตามินบี 12 พบงานวิจัยว่า หากร่างกายได้รับวิตามินบี 12 วันละ 1,500 ไมโครกรัม เป็นเวลาต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ สามารถช่วยรักษาอาการระบบประสาทอักเสบได้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการดูแลซ่อมแซมเยื่อหุ้มประสาท สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยรักษาอาการชาและระบบประสาทอักเสบ ได้แก่ วิตามินอี สังกะสี โครเมียม คอปปเปอร์ และแคโรทีนอยด์ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีอนุมูลอิสระในร่างกายปริมาณสูงมาก จึงทำให้เกิดการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการรักษาระบบประสาทอักเสบที่ต้นเหตุจึงจำเป็นต้องใช้กลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อช่วยป้องกันหรือลดภาวะอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
ดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเบาหวานในช่วงระบาดของ Covid-19
- ควบคุมอาหารและระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หากผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีจะทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังจากการติดไวรัส Covid-19 จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ วัดระดับน้ำตาลปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์ผู้ดูแลแนะนำ ในช่วงอากาศร้อนควรดื่มน้ำแต่ละวันให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานเมื่อขาดน้ำระดับน้ำตาลจะเพิ่มสูงขึ้น - ดูแลสุขภาพกายและใจของผู้ป่วย
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขอนามัย ลดความเครียด เพราะการมีสุขภาพกายและใจที่ดีจะเป็นส่วนช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ - เตรียมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตไว้ที่บ้าน
ในกรณีนี้เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานมีภาวะน้ำตาลต่ำ อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดตรจะสามารถแก้ไขให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ - เตรียมยาประจำของตัวเอง
เมื่อต้องอยู่ในช่วงกักตัว ยาประจำจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ หากต้องอยู่ที่บ้าน 2-3 สัปดาห์ ควรจัดเตรียมยาให้เพียงพอ เพื่อป้องกันหากอาการของโรคประจำตัวกำเริบ - บันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ
เบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์ที่ทำการรักษาเพื่อให้สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน และควรให้คนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวานบันทึกเบอร์โทรศัพท์ด้วยเช่นกัน - หมั่นสังเกตอาการผู้ป่วย
หากมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้ หายใจหอบเหนื่อย ไอ น้ำมูก เจ็บคอควรปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการที่เป็นผลจากระดับน้ำตาลที่ผิดปกติ เช่น หน้ามืด ใจสั่น มือสั่น มึนงง เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ความรู้สึกตัวลดลงหรือวัดระดับน้ำตาลแล้วมีค่าต่ำหรือสูงกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด หากในครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคเบาหวานอาศัยอยู่ด้วย ควรต้องระมัดระวังเรื่องการดูแลสุขภาพและความสะอาดสภาพแวดล้อมอยู่สม่ำเสมอเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสแล้ว การรักษาอาจต้องใช้เวลานานและมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตได้…ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care