Search

ไขข้อข้องใจ ทำไมกินยาแก้แพ้แล้วไม่หายสักที

หวัด ภูมิแพ้

ภูมิแพ้ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้จึงทำให้เกิดอาการแพ้ โดยภูมิแพ้ที่พบมากถึง 20% ของประชากร คือ ‘ภูมิแพ้อากาศ’ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการภูมิแพ้ อาจไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่ได้สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยและทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพแย่ลง แต่ในบางครั้งหลายคนที่กิน ยาแก้แพ้ แต่อาการแพ้ไม่หายไปหรือกลับมาเป็นซ้ำได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ดังนี้

ปัจจัยที่ทำให้ อาการภูมิแพ้กำเริบ

  1. สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
    เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิและความชื้นในอากาศก็เปลี่ยนแปลงตาม ทำให้เชื้อโรค ฝุ่นละออง และสารก่อภูมิแพ้อื่นๆ ได้ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ เมื่อร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบ
  2. ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้
    สารก่อภูมิแพ้กระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีหลากหลายแหล่งที่มีทั้งในอากาศ อาหาร ยา หรือสารเคมีต่างๆ เมื่อร่างกายได้สัมผัสกับสารก่อภูมิโดยตรง อาจทำให้มีอาการจาม คัดจมูก ระคายเคือง ผดผื่นคัน หรือผิวหนังบวมแดงจากการอักเสบ
  3. ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
    จากสถิติพบว่าคนในวัยทำงานหรือพนักงานออฟฟิศ มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องมาจากการทำงานหนัก มีความเครียดสะสม ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ และไม่มีเวลาออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง

เมื่อร่างกายมีอาการภูมิแพ้กำเริบไม่ว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรก็ตาม การกินยาแก้แพ้เป็นวิธีการบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่นิยมใช้กันอันดับแรก เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้านที่ต้องมี แต่ปัจจุบัน ยาแก้แพ้ มีทั้งแบบง่วงและไม่ง่วง ดังนั้นผู้ที่ต้องการกินยาแก้แพ้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

ยาแก้แพ้ คืออะไร มีแบบไหนบ้าง?

ยาแก้แพ้ (anti-histamine) เป็นกลุ่มยาต้านสารฮีสตามีน ที่จะถูกนำมาใช้เมื่อมีอาการภูมิแพ้กำเริบ เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม ผดผื่นคัน ขอบตาระคายเคือง ลมพิษ หรือแพ้อาหาร เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ จนเกิดอาการภูมิแพ้และหลั่งสารฮีสตามีนออกมาจึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว โดยยาแก้แพ้ สามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่มคือ

  1. ยาแก้แพ้แบบง่วง (ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1)
    เป็นยาแก้แพ้แบบดั้งเดิมที่มีวางขายทั่วไป เมื่อรับประทานตัวยากลุ่มนี้ร่างกายจะดูดซึมเข้ากระแสเลือดไปสู่สมองและออกฤทธิ์กดประสาททำให้เกิดอาการง่วงซึม แต่ในบางรายที่รับประทานยากลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น คอแห้ง ปากแห้ง ปัสสาวะคั่ง และท้องผูก เป็นผลมาจากร่างกายดูดซึมตัวยามากเกินไป อีกทั้งยังออกฤทธิ์เร็วและหมดฤทธิ์ จึงทำให้ต้องรับประทานยาหลายเม็ดจึงจะหาย โดยกลุ่มยาแก้แพ้แบบง่วง ได้แก่ คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine) ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) ไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine) และไดเมนไฮดริเนต(dimenhydrinate)
  2. ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง (ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2)
    เป็นยาแก้แพ้ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน โดยทำหน้าที่ต้านสารก่อภูมิแพ้โดยตรง กลุ่มยาตัวนี้จึงนิยมใช้บรรเทาอาการภูมิแพ้อากาศ สามารถดูดซึมเข้าสู่สมองได้น้อยกว่าแบบดั้งเดิม จึงไม่ทำให้มีอาการง่วงซึมหรือมีอาการง่วงซึมน้อยในผู้ใช้ยาบางราย โดยกลุ่มยาตัวนี้จะออกฤทธิ์ช้าและหมดฤทธิ์ช้ากว่าแบบดั้งเดิม ทำให้สามารถรับประทานยาเพียง 1-2 เม็ดต่อวันได้ โดยกลุ่มยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง ได้แก่ ลอราทาดีน (loratadine) เซทิริซีน (cetirizine) เป็นต้น

รู้จักชนิดของยาแก้แพ้เพิ่มเติม

ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้

  1. ไม่รับประทานยาแก้แพ้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือยาที่ออกฤทธิ์กดสมองและยาระงับประสาท เพราะจะยิ่งทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์กดประสาท และทำให้ง่วงซึมมากกว่าเดิม
  2. ยาแก้แพ้บางชนิด มีข้อจำกัดใช้ในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และอยู่ระหว่างให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานยาแก้แพ้เอง ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกชนิดและขนาดการกินที่เหมาะสม
  3. ผู้ที่รับประทานยาแก้แพ้ควรงดการขับขี่รถยนต์ และงดทำงานที่ใกล้ชิดกับเครื่องจักรกล เพราะยาแก้แพ้บางชนิดอาจทำให้มีอาการง่วงซึมและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หากมีอาการภูมิแพ้ที่ต้องรับประทานยา ควรหยุกพักผ่อนหรือเลือกชนิดยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้มีอาการง่วงซึม ดังนั้นควรเลือกรับประทานยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง จึงเป็นทางออกที่ดีกว่าและไม่รบกวนคุณภาพชีวิตอีกด้วย
  4. ยาแก้แพ้รุ่นที่1 อาจทำให้มีเสมหะเหนียวข้นมากกว่าเดิม หากกินยาแก้แพ้แล้วมีอาการไอเพิ่มขึ้น ควรหยุดกินยาทันที

วิธีเลือกใช้ยาแก้แพ้ที่ถูกต้อง

  1. ควรเลือกยาแก้แพ้ที่เหมาะกับตัวเอง และจุดประสงค์ต่อการใช้งาน
  2. ยาแก้แพ้ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคภูมิแพ้ได้ดี ควรออกฤทธิ์ได้เร็วและสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 24 ชั่วโมง เพื่อครอบคลุมอาการตลอดทั้งวัน
  3. ยาแก้แพ้ในรูปแบบแคปซูลนิ่มเป็นการพัฒนาเพื่อให้ยาแก้แพ้สามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว ไม่ต้องรอการแตกตัวของยา และไม่จำเป็นต้องรับประทานหลายเม็ด
  4. ยาลอราทาดีน (loratadine) และเซทิริซีน (cetirizine) จัดอยู่ในกลุ่มยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีผลข้างเคียงน้อย ไม่ทำให้มีอาการง่วงซึม แต่อาจมีอาการง่วงซึมเล็กน้อยในผู้ใช้ยาบางราย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะ

วิธีป้องกันไม่ให้อาการภูมิแพ้กำเริบ

  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นและสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ มลพิษจากท้องถนน หรือสารเคมีต่างๆ ตามสถานที่หรือบริเวณที่อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการภูมิแพ้กำเริบ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง
  • สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ควรทำความสะอาดบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นประจำ เพื่อกำจัดฝุ่นละอองและสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ และควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนหรือปลอกหมอนอย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อเดือน สามารถเป็นการลดสารก่อภูมิแพ้ที่อาจทำให้ภูมิแพ้กำเริบได้
  • การออกกำลังกาย สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงโรคภูมิแพ้อีกด้วย การออกกำลังกายควรทำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30 นาที เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรงขึ้น
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะสารอาหารและวิตามินต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง เช่น วิตามินซี วิตามินดี สังกะสี และสารต้านอนุมูลอิสระ

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี คือ การมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรง จึงควรหมั่นใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ เลือกรับประทานผักและผลไม้เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และหากิจกรรมยามว่างเพื่อผ่อนคลายความเครียด เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย จึงต้องเริ่มต้นที่ตัวคุณเอง… ด้วยความห่วงใยจาก MEGA We care
อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

หวัด ภูมิแพ้

ไขข้อข้องใจ…ทำไมกินยาแก้แพ้แล้วไม่หายสักที

หวัด ภูมิแพ้

ยาแก้แพ้ กับเรื่องที่ต้องรู้

หวัด ภูมิแพ้

รคภูมิแพ้แก้ได้ เรื่องง่ายๆ ที่ใครก็คิดว่ายาก