เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ใครก็ตามที่เป็นโรคในกลุ่มนี้แล้วเสี่ยงกับการเสียชีวิต
เป็นกลุ่มโรคที่เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย
เป็นภัยเงียบที่กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคในกลุ่มนี้... บางคนเสียชีวิตกะทันหัน นี่คือความน่ากลัวของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs
โรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) คืออะไร?
ทางการแพทย์โรค NCDs หรือชื่อเต็มว่า Non-Communicable Diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคใดๆ และไม่ใช่โรคติดต่อที่จะสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ผิด ซึ่งเป็นโรคที่มีการสะสมอาการอย่างช้าๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งแสดงอาการรุนแรงออกมา และส่วนใหญ่จะมีอาการเรื้อรังของโรคตามมา
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีโรคอะไรบ้าง?
- โรคเบาหวาน
เป็นโรคเรื้อรังอีกโรคหนึ่งที่ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมในการรับประทานอาหารหวานจัด เป็นโรคที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะไตวายได้อนาคต
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
เป็นโรคที่เสี่ยงกับการเสียชีวิต เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่อาจจะไม่มีสัญญาณใดๆ เตือนมาก่อน พอมีอาการก็จะแสดงออกมารุนแรงในทันที เสี่ยงต่อการหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากในคนไทย
- โรคหลอดเลือดสมอง
ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย นอกจากจะเกิดกับคนที่มีอายุมากกว่า 45ปีขึ้นไปในปัจจุบันยังพบในคนวัยทำงานมากขึ้น และกลุ่มคนเหล่านี้มักมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และยังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- โรคความดันโลหิตสูง
เป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุที่ชี้ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูงเกิดจาก น้ำหนักตัวที่เกินค่ามาตรฐาน พันธุ์กรรม การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- โรคถุงลมโป่งพอง
โรคยอดนิยมของคนสูบบุหรี่ ซึ่งโรคถุงลมโป่งพองสามารถที่จะพัฒนาเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในอนาคต โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก และหายใจมีเสียงวี้ด
- โรคมะเร็ง
เป็นอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตคนไทยแต่ละปีในอันดับต้นๆ และมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุมีจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การได้รับสารเคมี พฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร โดยโรคมะเร็งอาการจะแสดงออกช้ากว่าโรคอื่นๆ แต่หากแสดงออกมาแล้ว มักจะเป็นระยะที่เข้าขั้นวิกฤต
- โรคอ้วนลงพุง
ในปัจจุบันคนไทยต้องประสบกับโรคอ้วนมากถึงเกือบ 20 ล้านคน และทั้งหมดมีความเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนการเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจได้มากขึ้น
อะไรคือสาเหตุหลักของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
หนึ่งในปัจจัยความเสี่ยงทางพฤติกรรมของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) คือการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้คนในคุยปัจจุบันคุ้นชินกับการนั่งหรือนอนอยู่กับที่อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพระยะยาวอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งทั้ง 3 โรคที่ว่านี้คือ 3 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่บั่นทอนสุขภาพของคนไทยอย่างมาก
การบริโภคอาหารและโภชนาการที่ไม่ดีเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก พฤติกรรมการกินที่ส่งผลเสียไม่ว่าจะเป็นอาหารแคลอรี่สูง ไขมันอิ่มตัว ของทอด ของมัน โซเดียม และน้ำตาลที่เติมเข้าไป อาหารแปรรูป การรับประทานผักและผลไม้ในปริมาณน้อย นับเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางโภชนาการ และโรคอ้วนจำนวนมาก รวมทั้งโรคหัวใจ มะเร็ง และเบาหวาน
ข้อมูลเหล่านี้ตรงกับงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีเป็นปัจจัยความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตทั่วโลก ซึ่งนับได้ว่าก่อให้เกิดโรคร้ายได้มากกว่าการสูบบุหรี่ หรือโรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวสามารถป้องกันและจัดการได้ด้วยตัวเอง
8 เหตุผลที่คนไทยต้องสนใจเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
- โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นภัยของสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนไทย 43 รายเสียชีวิต จากสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 380,000 ราย หรือร้อยละ 76% จากอัตราการตายทั้งหมดในแต่ละปี
- โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ 2 โรคร้ายแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นับเป็น 2 โรคที่เป็นสาเหตุสูงสุดของการเสียชีวิตในประเทศไทย โดยมีผู้เสียชีวิต 118,000 และ 114,000 รายตามลำดับ
- โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในครัวเรือนให้สูงขึ้นเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองโดยตรงแล้ว ยังมีผลโดยอ้อมอีกมหาศาล
- นอกจากโรคเรื้อรังจะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัวสูงขึ้น โรคอันตรายเหล่านี้ก็ยังส่งผลให้จำนวนประชากรวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง ก่อให้เกิดผลิตภาพแรงงานที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยต่อคน
- ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) แสดงให้เห็นว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นภัยร้ายที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในประเทศไทยสร้างภาระทางเศรษฐกิจให้สังคมไทยสูญเสียกว่า 280,000,000 บาท
- โรคเรื้อรังก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจทั้งหมด 198,512 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการสูญเสียแรงงานในระบบ
- งานวิจัยครั้งล่าสุดจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ยังแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 37.5 ของประชากรไทยอายุมากกว่า 15 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนอีกด้วย (BMI > 25 กก./ตร.ม.)
- โรคร้ายยังส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก่อนจะส่งผลถึงชีวิต
การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่สะสมมาเป็นเวลา การลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคนี้ก็ต้องปรับที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือที่เรียกว่า Lifestyle Modificdation
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานผักและผลไม้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารมัน ของทอด และอาหารปิ้งย่าง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง
- จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่านอนดึก และผ่อนคลายความเครียด
- ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที