ความเครียด ถือเป็นหนึ่งปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนทำงาน ทำให้คนจำนวนมากมีระดับความเครียดเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว และ เมื่อเกิดการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คิด ซึ่งไม่ใช่แค่สภาพจิตใจอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงระบบต่างๆ ในร่างกายที่ตอบสนองความเครียดด้วยการแสดงอาการที่ผิดปกติต่างๆ ออกมา และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของโรคร้ายที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อนาคต
- ปวดหัวไมเกรน
สาเหตุหนึ่งของการปวดหัวไมเกรนมาจากความเครียด เพราะความเครียดจะลดระดับสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายและโป่งตัวออก จึงทำให้มีอาการปวดหัวตามมา ซึ่งอาจมีการปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- ผมร่วง
ผมร่วงทำให้หลายคนเครียด แต่รู้หรือไม่ว่าความเครียด… ก็ทำให้ผมร่วงได้เช่นกันทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เพราะเมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดเพิ่มขึ้นส่งผลให้รากผมอ่อนแอ และมีวงจรชีวิตที่สั้นกว่าปกติ จนทำให้เกิดผมหลุดร่วงตามมา
- ริ้วรอยก่อนวัย
ฮอร์โมนแห่งความเครียดไม่ได้ทำลายแค่สุขภาพเท่านั้น แต่ยังไปทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในชั้นผิวส่งผลต่อความยืดหยุ่นของผิวลดลง และกระตุ้นร่างกายให้ปล่อยสารอนุมูลอิสระที่ทำลายความแข็งแรงของเซลล์ผิว สาเหตุที่ทำให้เกิดริ้วรอย หรือหน้าแก่ก่อนวัย
- เครียดลงกระเพาะอาหาร
ความเครียดจะกระตุ้นร่างกายจะหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารออกมามากกว่าปกติและกัดกระเพาะจนเนื้อเยื่อบริเวณกระเพาะอาหารอักเสบ และมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนตามมา
- เสี่ยงต่อโรคหัวใจ
เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล เเละอะดีนาลีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีดมากกว่าปกติ ความดันเลือดสูงขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นให้ตับผลิตไขมันคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น เสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน และเพิ่มโอกาสภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ในขณะที่ตกอยู่ในความเครียด กล้ามเนื้อจะเกิดการหดเกร็งโดยอัตโนมัติ เป็นสาเหตุให้ปวดคอ ปวดไหล่ และกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
- ภูมิคุ้มกันลดลง
ร่างกายมีการจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดความความเครียด ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะไปกดภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลงตามไปด้วย จึงทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เจ็บป่วยบ่อยขึ้น
- สมรรถภาพทางเพศลดลง
เมื่อเกิดความเครียด การหลั่งหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศของผู้ชายจะลดลง เนื่องจากร่างกายจะหลังฮอร์โมนความเครียดเข้ามาแทนที่ จึงเป็นส่วนที่ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง และหากเรื้อรังก็อาจจะกลายเป็นการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
เห็นได้ว่าความเครียดส่งผลกระทบกับสุขภาพมากแค่ไหน ดังนั้นจึงต้องรู้จักบริหารและผ่อนคลายความเครียดอยู่เป็นประจำ โดยต้องเริ่มจากการทำจิตใจให้ผ่องใส คิดแง่บวกมากขึ้นเพื่อลดความเครียดต่อร่างกายและสมอง ทำสมาธิ รวมถึงการมองหางานอดิเรกที่ชื่นชอบ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูซีรี่ย์ ทำอาหาร เป็นต้น นอกจากยังมีอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาความเครียดได้ดีก็คือคือ การเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีปริมาณสูง เช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง รำข้าว ยีสต์ เครื่องในสัตว์ เนื้อหมู ปลา นมเปรี้ยว และผักใบเขียว ซึ่งวิตามินบีเป็นวิตามินพื้นฐานที่มีความจำเป็นกับทุกระบบของร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง ช่วยลดความเครียด ทำให้อารมณ์ดีขึ้น อีกทั้งยังกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยให้สมองสดชื่น ปลอดโปร่ง มีสมาธิและความจำที่ดีอีกด้วย