ไข้เลือดออก โรคอันตรายที่มียุงลายเป็นพาหะ

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หลายจังหวัดจะพบการแพร่ระบาดของ โรคไข้เลือดออก (Dengue Virus) เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากฝนตกชุกในหลายพื้นที่ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคไข้เลือดออก (Dengue Virus) คืออะไร ?

โรคไข้เลือดออก (Dengue Virus) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุงโดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงกัดคนอื่นต่อไป เชื้อไวรัสก็จะแพร่เข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด โดยอาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่ไม่มีรุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งความรุนแรงอาการขึ้นอยู่กับอายุ ภาวะภูมิคุ้มกัน และความรุนแรงของเชื้อ

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่ได้รับเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งไปแล้ว ร่างกายจะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำให้ไม่มีโอกาสติดสายพันธุ์เดิมไปตลอดชีวิต แต่หากได้รับเชื้อสายพันธุ์อื่นก็สามารถเป็นไข้เลือดออกได้อีก ทั้งนี้ในละปีจะมีการกระจายของเชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนกันไป ทำให้มีการระบาดของโรคมาโดยตลอด

โรคไข้เลือดออก (Dengue Virus) มีอาการอย่างไร

อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกมีความรุนแรงต่างกัน แต่อาการที่เด่นชัดและพบได้บ่อยมีดังนี้

  • มีไข้สูงเฉียพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจสูงถึง 40 – 41 องศาเซลเซียส
  • มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามผิวหนัง
  • ปวดท้องรุนแรง กดเจ็บบริเวณซี่โครงด้านขวา เนื่องจากมีอาการตับโต ซึ่งจะพบได้ประมาณวันที่ 3 – 4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย
  • คลื่นไส้ อาเจียนและ เบื่ออาหาร
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก
 ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง โรคไข้เลือดออกจะหายเองได้ภายใน 2-7 วัน  แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คืออาการช็อก เนื่องจากการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด ช่องท้อง โดยอาการช็อกจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 หรือวันที่ 8 ของโรค ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนไปจากเดิม

โรคไข้เลือดออก (Dengue Virus) รักษาได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก มีเพียงการรักษาตามอาการเพื่อประคับประครองให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยมีวิธีดูแลอาการเบื้อต้นดังนี้

  • ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะๆ แต่หากมีไข้เกิน 3 วันควรรีบมาพบแพทย์
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย
  • รับประทานยาลดไข้ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เช่น ยาพาราเซทตามอล ในปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น
  • เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะช็อก
แต่หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการกระสับกระส่าย ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

โรคไข้เลือดออก (Dengue Virus) ป้องกันอย่างไร

เนื่องจากไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นวิธีป้องกันที่สามารถทำได้คือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้หมดไป โดยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกสัปดาห์ ดูแลความสะอาดปรับสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปราศจากภาชนะที่มีน้ำขังได้ รวมทั้งการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัด โดยการใช้สารกันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด ส่วมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด เป็นต้นและในปัจจุบันการฉีดวัคซีนซีนไข้เลือดออกก็สามารถช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้

แม้ว่าไข้เลือดออกจะเป็นโรคที่รักษาได้ แต่สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้และรักษาหายแล้ว ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ซ้ำสอง และการป่วยซ้ำจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นภาวะโรคที่รุนแรงขึ้นได้ เพราะเกิดจากไวรัสคนละสายพันธุ์ ซึ่งอาการค่อนข้างเฉียบพลันและอาจทำให้เสียชีวิต ดังนั้นหากมีอาการที่เข้าข่ายว่าอาจเป็นไข้เลือดออกควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิต
อ้างอิง

-

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

มารู้จักกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) และวิธีป้องกันง่ายๆ

รู้ให้ละเอียดยิ่งขึั้นกับเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร2 สิ่งสำคัญของผู้ติดเชื้อ เมื่อต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน