เครียดหนัก เสี่ยงภาวะไฮเปอร์เวนทิเลชั่น

คงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันทุกคนต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เรียกได้ว่าตอนนี้ทุกคนกำลังดำเนินชีวิตด้วยแรงกดดัน และความเครียด  ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอนไม่หลับ และอีกหนึ่งอาการที่เกิดขึ้นบ่อยจากความเครียด แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักคือ กลุ่มอาการหายใจเร็วเกินไป (Hyperventilation Syndrome) 

ภาวะไฮเปอร์เวนทิเลชั่น (Hyperventilation)

คืออาการหายใจหอบเร็วและลึกอยู่นาน ชาปลายมือปลายเท้า หรือมือเท้าจีบเกร็ง อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นเมื่อมีความเครียด วิตกกังวล หรือกดดันหนักมากเกินไปก่อนหน้าที่จะมีอาการ ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาจส่งผลรบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้

ลักษณะอาการ และสาเหตุเกิดจากอะไร

อาการผิดปกติชนิดนี้มักเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย หรือพบมากในผู้ที่สุขภาพจิตและร่างกายไม่แข็งแรง เมื่อมีเรื่องตกใจ โมโหหรือฉุนเฉียวก็จะเกิดอาการกำเริบได้ทันที เหตุที่เรียกว่ากลุ่มอาการ (Syndrome) นี้เนื่องจากว่าเมื่อเกิดอาการจะมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันคือ มีการหายใจเร็ว หอบลึกและเมื่อเป็นอยู่สักพักใหญ่จะทำให้ร่างกายเกิดการขับออกของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางลมหายใจเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดเกิดภาวะความเป็นด่างในเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการรู้สึกหายไม่สะดวก แน่นหน้าอก ชาตามร่างกายโดยเฉพาะริมฝีปาก ปลายมือปลายเท้า มือเท้าจีบเกร็ง อาการผิดปกติเหล่านี้ไม่มีอันตรายรุนแรงถึงขั้นอัมพาต  

แต่ผู้ที่เป็นมักจะตกใจและคิดว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต  และมักไปโรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉิกเพื่อเข้าพบแพทย์โดยด่วน ซึ่งทำให้เสียเวลาการเดินทางและเสียค่าวินิจฉัยโดยไม่จำเป็น

แนวทางการรักษา

  1. ไม่ตื่นตระหนกและตกใจ พยายามควบคุมและตั้งสติโดยหายใจให้ช้าลง
  2. ถ้ายังไม่ได้ผลควรใช้วิธีหายใจโดยใช้ถุงกระดาษครอบปากและจมูกไว้ การหายใจแบบนี้เพื่อนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่กระแสเลือด ช่วยให้เลือดลดความเป็นด่างลงและทำให้แคลเซียมในเลือดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะทำให้มือและเท้าหายจีบเกร็งในที่สุด
  3. ญาติหรือคนใกล้ชิดควรปลอบและให้กำลังใจ แต่ไม่ควรเอาใจใส่หรือตามใจมากจนเกิดเหตุ
  4. หากมีอาการเป็นประจำ ควรหาวิธีป้องกันด้วยการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ฝึกการเผชิญปัญหา และฝึกวิธีการหายใจและการผ่อนคลาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
  5. หากยังไม่ได้ผลอาจต้องพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำหรือวินิจฉัยอาการดังกล่าว ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องทำการรักษาแบบกลุ่มหรือครอบครัวบำบัดร่วมด้วย
     

    ถึงแม้ภาวะไฮเปอร์เวนทิเลชั่น (Hyperventilation) จะไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็ตาม แต่สาเหตุหลักเกิดจากความเครียด ความกดดัน ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดก็อาจส่งผลรบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว เราควรสร้างความเข้มแข็งของสุขภาพจิต ฝึกการเผชิญปัญหาต่าง ๆ ไม่เครียดจนเกินไป หากิจกรรมที่ชื่นชอบ ฝึกสมาธิและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากภาวะนี้ได้
อ้างอิง

-

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

มารู้จักกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) และวิธีป้องกันง่ายๆ

รู้ให้ละเอียดยิ่งขึั้นกับเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร2 สิ่งสำคัญของผู้ติดเชื้อ เมื่อต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน