Search

เรื่องจริง “ผ่านจอ” ที่มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพดวงตา

จากสถิติที่มีการสำรวจในปี 2565 พบว่าคนไทยใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์ตโฟนต่อเนื่องเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก (ข้อมูลจากรายงานของ : Digital 2022 Global Overview ที่รวบรวมขึ้นโดย WE ARE SOCIAL) จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพดวงตาก่อนวัยอันควร ซึ่งแน่นอนว่าการใช้งานของสายตาอย่างหนักหน่วงในทุกๆ วันหลายชั่วโมงจากการจ้องหน้าจอโดยไม่มีการพักล้วนส่งผลผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพดวงตาของเรา และนี่คือเรื่องจริง “ผ่านจอ” ที่มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพดวงตาหลายอย่างที่ทุกคนต้องรู้

โรคตาแห้ง (Dry Eye Disease)
หนึ่งในปัญหาใหญ่เกี่ยวกับดวงตา สาเหตุหลักมาจากการใช้สายตาผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ เป็นเวลานาน ผู้ที่ตาแห้งจะเกิดอาการระคายเคืองตาเหมือนมีเศษผงอยู่ในดวงตาตลอดเวลา คันตา แสบตาน้ำตาไหล ตาพร่ามัวมองเห็นไม่ชัด (คลิกอ่านข้อมูลโรคตาแห้งพร้อมวิธีดูแลที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

ตาล้า (Asthenopia)
เกิดจากใช้สายตาอย่างหนักเช่น จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอต่างๆ เป็นเวลานาน การอ่านหนังสือมากจนเกินไป หรือการใช้สายตาในที่มืดหรือแสงน้อยทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานก็เสี่ยงตาล้าได้เช่นกัน ผู้ที่ตาล้าจะมีอาการปวดเบ้าตา รู้สึกตาหนัก ดวงตาอ่อนล้า ตาพร่ามัวเฉียบพลัน มีอาการระคายเคืองตาและตาแห้งร่วมด้วย มีน้ำตาไหล แสบตา ตาแดง และมองเห็นไม่ชัด

จอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration)
เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร (ตาบอด)ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แต่ในยุคปัจจุบันจอประสาทตาเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุน้อยเช่นกัน โดยเฉพาะคนทำงานที่ใช้สายตาอย่างหนัก รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่โดยอาการของโรคนี้จะแสดงออกมาในลักษณะ มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นคด มองไม่เห็นส่วนกลางของภาพ การมองภาพต้องใช้แสงเพิ่มมากขึ้น และการมองเห็นสีลดลง

วุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)
วุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) พบมากในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความเสื่อมของเซลล์ตามอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงวุ้นลูกตาที่เกิดการเสื่อมและกลายเป็นน้ำบางส่วน หากเสื่อมมาก
วุ้นในตาจะจับตัวกันเป็นก้อนทำให้ส่วนที่ใสๆ เกิดเป็นฝ้า หรือเป็นจุดดำ จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมองเห็นได้ แต่ปัจจุบันพบว่าภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นกับหนุ่มสาวคนทำงานออฟฟิศกันมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือที่มากเกินไป จึงทำให้วุ้นในตาเสื่อมก่อนอายุ

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม Computer Vision Syndrome (CVS)
โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม เป็นกลุ่มของอาการทางตาและการมองเห็นที่มีผลมาจากการใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน และเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ภาวะแสงในขณะทำงานไม่เพียงพอ แสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ตำแหน่งของหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือการจัดท่านั่งที่ไม่เหมาะสม และผู้ที่มีภาวะสายตาโดยเฉพาะสายตายาวหรือสายตาเอียง ซึ่งอาการของโรคนี้จะปวดบริเวณรอบดวงตา ปวดศีรษะ ตาพร่าตาฝืดแห้ง และอาจมีอาการปวดคอและไหล่ร่วมด้วยซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นชั่วคราวและหายไปเมื่อได้พักจากการใช้คอมพิวเตอร์

คงจะรู้แล้วว่าการใช้สายตาจ้องหน้าจออย่างหนักหน่วงทุกวัน วันละหลายชั่วโมงโดยไม่มีการพักล้วนส่งผลผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพดวงตาของเรา แต่คงเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคนที่จะต้องหลีกเลี่ยการอยู่หน้าจอ เพราะไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้สายตา ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นจึงควรหาทางปกป้องดวงตาของคุณไม่ให้ถูกทำร้าย และลดโอกาสการเกิดโรคร้ายในอนาคตซึ่งมีวิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

วิธีดูแลสุขภาพดวงตา

  1. ควรพักสายตาอย่างน้อย 20 วินาที ทุก ๆ 20 นาที
  2. ลดการเพ่งจ้อง หรือใช้สายตาจากจอต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ มือถือ คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต เป็นต้น
  3. ใช้ยาหยอดตา เพื่อลดอาการตาแห้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
  4. ควรสวมแว่นกันแดด หรือสวมหมวกทุกครั้งเมื่อออกแดด หรือบริเวณกลางแจ้ง
  5. งดสูบบุหรี่ สารพิษในควันบุหรี่เข้ามาทางเส้นเลือดที่มาเลี้ยงลูกตา เมื่อดวงตาได้รับสารพิษจากควันบุหรี่นานๆ เข้า ก็ทำให้การมองเห็นลดลงจนเกิดอาการตาบอดได้
  6. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เช่น ปลา ไข่ นม ผักใบเขียว ฟักทอง แคร์รอต เป็นต้น
  7. ตรวจเช็กสุขภาพตาเป็นประจำ สารอาหารสำคัญที่จำเป็นสำหรับดวงตา

ลูทีน (Lutein) และ ซีแซนทีน (Zeaxanthin)

ลูทีนและซีแซนทีนมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพของดวงตา ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มคาโรทีนอยด์พบได้ในบริเวณดวงตา โดยเฉพาะตรงบริเวณเลนส์ตาและจอรับภาพตา ซึ่งลูทีนและซีแซนทีนทำหน้าที่สำคัญคือ ช่วยกรองแสงสีฟ้าหรือป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น และช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลาย โดยการต่อต้านอนุมูลอิสระ

แอสตาแซนธิน (Astaxanthin)

แอสตาแซนธิน ถือเป็นสุดยอดสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดอาการตาแห้ง ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อตา ลดอาการปวดกระบอกตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อตาได้ดีขึ้น และช่วยลดการอักเสบของของกล้ามเนื้อตาได้อีกด้วย

บิลเบอร์รี่สกัด (Bilberry Extract)

บิลเบอร์รี่สกัด อุดมไปด้วยสารสำคัญแอนโธไซยาโนไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง ช่วยบำรุงดวงตาให้แข็งแรง เพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอยในดวงตา และช่วยให้การมองเห็นในที่มืดดีขึ้น

เบต้าแคโรทีน (Beta Carotene)

เบต้าแคโรทีนจะเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ ซึ่งร่างกายจะนำไปใช้สร้างสารโรดอปซินในดวงตาส่วนเรตินา ทำให้ตามีความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนได้ และยังลดความเสื่อมของเซลล์ของลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก นอกจากนี้ยังป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน ช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้นด้วย

ดวงตา มีความสำคัญต่อทุกวัย ฉะนั้นการเริ่มต้นดูแลรักษาสุขภาพดวงตาตั้งแต่เนิ่นๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นอย่างดีแล้ว การเลือกเสริมสารอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพดวงตา ก็สามารถป้องกันอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาและชะลอการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง

-

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

มารู้จักกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) และวิธีป้องกันง่ายๆ

รู้ให้ละเอียดยิ่งขึั้นกับเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร2 สิ่งสำคัญของผู้ติดเชื้อ เมื่อต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน