คนไทยทุกคนควรต้องอ่าน?! ถึงปัญหา 𝐏𝐌𝟐.𝟓 กับประเทศไทยจะมีมาติดต่อกันหลายปี แต่จนถึงปัจจุบันเราก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จะมีเพียงก็แค่บางหน่วยงานที่รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วยังถือว่าสื่อสารได้ไม่มากเท่าที่ควร ที่สำคัญขาดความต่อเนื่อง ทั้งที่ปัญหานี้แฝงเร้นมาด้วยเรื่องสุขภาพที่ร้ายแรงกับคนไทยในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึง… หรือนี่คือเหตุผลที่แท้จริง ซึ่งทำให้คนไทยไม่ค่อยสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง
1. ความไม่เข้าใจ การรับรู้ไม่ทั่วถึง และขาดความต่อเนื่อง
𝐏𝐌𝟐.𝟓 เป็นฝุ่นพิษขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจ และไม่เข้าใจถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพ เช่น ไอ มีเสมหะ แสบคอ ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ หายใจติดขัด หรืออาการเรื้อรังต่าง ๆ เพราะอาจไม่ได้แสดงออกชัดเจนทันทีเหมือนกับโรคติดต่อรุนแรงอื่นๆ
นอกจากนี้การสื่อสารถึงความรู้ความเข้าใจของข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่น 𝐏𝐌𝟐.𝟓 และปัญหาสุขภาพที่นำเสนอผ่านสื่อต่างๆ บางครั้งซับซ้อน และใช้ภาษาทางวิชาการเกินไปจนเข้าใจยาก อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ หรือสื่อต่างๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเนื่องเพียงพอ จะทำการสื่อสารก็เฉพาะในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นสูงมากๆ เท่านั้น และไม่ได้ลงลึกถึงผลกระทบระยะยาวเท่าที่ควรจะเป็น แต่กลับกันในหลายประเทศที่ตระหนักถึงปัญหานี้เช่น ญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (𝐄𝐔) จะมีการรณรงค์ให้ความรู้ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ไปจนถึงชุมชนอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ทำให้คนเข้าใจเรื่องฝุ่น 𝐏𝐌𝟐.𝟓 อย่างชัดเจน และตื่นตัวกับระดับคุณภาพอากาศในชีวิตประจำวันมากขึ้น
2. ทัศนคติ และการใช้ชีวิตประจำวัน
บางพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ คนส่วนใหญ่คุ้นชินกับควันพิษ จราจรติดขัด ควันดำจากท่อไอเสีย การเผาหญ้าในที่โล่ง หรือมีหมอกควันในช่วงฤดูหนาวจนเป็นความเคยชินที่ว่า “ไอ้รถควันดำมันมีมานานแล้ว… ช่างมันเถอะ แค่อย่าไปสูดควันเข้าไปก็พอ” หรือว่า “โอ๊ย!! 𝐏𝐌𝟐.𝟓 มันก็มีแบบนี้ทุกปีแหละตื่นเต้นไปทำไมเดี๋ยวปีหน้ามันก็มีอีก” จึงทำให้คนส่วนใหญ่มองข้ามผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวที่แฝงอยู่
อีกทั้งคนไทยจำนวนมากมีภาระในชีวิตด้านอื่นๆ ที่กดดันมากกว่าจะมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เช่น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ความรับผิดชอบเรื่องงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ การลงทุนด้านสุขภาพ หรือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีขึ้น เช่น การซื้อเครื่องฟอกอากาศ การเลือกเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านในวันค่าฝุ่นสูง อาจไม่ใช่สิ่งแรกที่คนไทยส่วนใหญ่เลือกทำ
ตัวอย่างในประเทศที่ประชากรมีสภาพเศรษฐกิจมั่นคง และรัฐบาลลงทุนเรื่องการคมนาคม ระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก เช่น เยอรมนี หรือเดนมาร์กคนในประเทศสามารถลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้อย่างแท้จริง ผลลัพธ์คือ ระดับค่าของ 𝐏𝐌𝟐.𝟓 ในเมืองใหญ่ลดลง และคนตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น
3. รัฐบาล และมาตรการทางกฎหมายไม่เข้มงวด
แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย และมาตรฐานควบคุมคุณภาพอากาศ แต่การบังคับใช้อาจไม่เข้มงวด หรือไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร ซึ่ง ณ ตอนนี้เรายังสามารถพบเห็นรถยนต์ รถสาธารณะที่ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน หรือการเผาหญ้าในที่โล่ง นอกจากนี้นโยบายสาธารณะระยะยาวเพื่อแก้ปัญหา 𝐏𝐌𝟐.𝟓 ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งต้องอาศัยนโยบายผังเมือง การส่งเสริมพลังงานสะอาด การขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ โดยทั้งหมดต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ที่สำคัญการเปลี่ยนผ่านนโยบายบางอย่างจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง เช่น การงดใช้ดีเซล การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่มีอุปสรรค มีขั้นตอนมาก และใช้เวลานาน นอกจากนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาแน่ชัดอีกด้วย
ในสหรัฐฯ มี 𝐂𝐥𝐞𝐚𝐧 𝐀𝐢𝐫 𝐀𝐜𝐭 ที่กำหนดเพดานการปล่อยมลพิษอย่างชัดเจน และมี 𝐄𝐧𝐯𝐢𝐫𝐨𝐧𝐦𝐞𝐧𝐭𝐚𝐥 𝐏𝐫𝐨𝐭𝐞𝐜𝐭𝐢𝐨𝐧 𝐀𝐠𝐞𝐧𝐜𝐲 (𝐄𝐏𝐀) ที่เป็นหน่วยงานกลางคอยตรวจสอบ และบังคับใช้มาตรฐานอย่างเข้มงวด หากหน่วยงานหรือบริษัทใดละเมิดจะมีโทษทางกฎหมาย และค่าปรับสูงสุด
ส่วนประเทศจีนที่เคยประสบปัญหารุนแรง หลังจากออกแผน 𝐀𝐢𝐫 𝐏𝐨𝐥𝐥𝐮𝐭𝐢𝐨𝐧 𝐀𝐜𝐭𝐢𝐨𝐧 𝐏𝐥𝐚𝐧 เมื่อ 𝟐𝟎𝟏𝟑 และแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น ทำให้คุณภาพอากาศในบางเมืองดีขึ้นชัดเจน
ดังนั้นการมองข้ามปัญหา 𝐏𝐌𝟐.𝟓 เพียงเพราะคิดว่าไม่เห็นผลกระทบทันที อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพเรื้อรังและร้ายแรงในอนาคต นอกจากนี้การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และคนไทยทุกคนในการลดมลพิษทางอากาศ และให้ตระหนักถึงอันตรายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด รวมถึงการปรับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น สวมหน้ากากป้องกัน หรือตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม ท้ายที่สุดเมื่อเราให้ความสำคัญกับปัญหานี้ รวมทั้งแก้ไขอย่างจริงจัง คนไทยก็มีโอกาสที่จะสัมผัสได้ถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อากาศที่สะอาดขึ้น และสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นอย่างยั่งยืน
📌 สนใจข่าวสารสุขภาพเพิ่มเติมและสอบถามผู้เชี่ยวชาญของ 𝐌𝐄𝐆𝐀 𝐖𝐞 𝐜𝐚𝐫𝐞 ได้ที่ 𝐋𝐢𝐧𝐞@ : @𝐦𝐞𝐠𝐚𝐰𝐞𝐜𝐚𝐫𝐞 หรือ คลิก
1. European Commission https://bit.ly/4j6jboF
2. European Environment Agency https://bit.ly/4haloOb
3. United States Environmental Protection Agency https://bit.ly/4j6cRNU
4. World Bank-China's Air Pollution Action Plan https://bit.ly/3WabYtT
5. World Health Organization (WHO) https://bit.ly/4h8dJzH