ไม่ถ่ายหลายวัน สาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้ปัญหาขับถ่ายไม่ออก

ทั้งหมด
สาเหตุของอาการ ไม่ถ่ายหลายวัน ท้องผูก และวิธีรักษา

ปัญหา ไม่ถ่ายหลายวัน เป็นอาการที่บ่งบอกว่ามีปัญหาระบบขับถ่าย หากขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นั่นอาจเรียกได้ว่ากำลังมีปัญหาท้องผูก ซึ่งเกิดขึ้นได้จากกากอาหารที่ถูกย่อยแล้วตกค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานานจนเกินไป ทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำจากกากอาหารกลับเข้าสู่กระแสเลือด จึงส่งผลให้อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก และ รู้สึกเจ็บขณะขับถ่ายอีกด้วย โดยสาเหตุของการไม่ถ่ายหลายวัน หรือท้องผูกนั้น เกิดได้จากหลายปัจจัย

ไม่ถ่ายหลายวัน เกิดจากอะไร?

ไม่ถ่ายหลายวัน หรือ อาการท้องผูก เกิดจากการที่ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าจนไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระออกจากทางเดินอาหารได้ตามปกติ จึงเกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นระยะเวลานานหลายวัน และอุจจาระมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อร่างกายมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ จึงทำให้อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก และส่งผลให้ขับถ่ายได้ลำบาก โดยการไม่ถ่ายหลายวันหรือท้องผูกนั้นเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ได้แก่

  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การไม่รับประทานผักหรือรับประทานอาหารที่มีใยอาหารน้อย ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย และการกลั้นอุจจาระบ่อยๆ ซึ่งคนที่มีปัญหาขับถ่ายไม่ออกหรือท้องผูกกว่า 50% มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเหล่านี้
  • ขับถ่ายผิดวิธี โดยปกติแล้วการขับถ่ายอุจจาระจะเป็นการทำงานประสานกันระหว่างการออกแรงเบ่งและกล้ามเนื้อหูรูดทวาร หากออกแรงเบ่งไม่มากพออาจทำให้ขับถ่ายยาก เนื่องจากแรงเบ่งไม่มากพอที่จะดันอุจจาระผ่านแรงต้านบริเวณหูรูดทวารได้นั่นเอง 
  • ลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ หรือ เรียกอีกอย่างว่า ภาวะลำไส้เฉื่อย จากการที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยลง ทําให้กากอุจจาระเคลื่อนตัวช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่ถ่ายหลายวันหรือขับถ่ายไม่ออก อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้เพียง 5-6% เท่านั้น
  • การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้ท้องผูกได้ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาต้านโรคลมชัก ยาลดความดันโลหิต ยารักษาอาการซึมเศร้า เป็นต้น 
  • ฮอร์โมนไม่สมดุลอาจทำให้เกิดปัญหาท้องผูก ขับถ่ายยาก เช่น อาการ PMS หรือ การตั้งครรภ์  โรคลำไส้แปรปรวน โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการท้องผูกนานกว่า 3 เดือน หรือพบว่ามีอาการท้องผูกร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย หรืออุจจาระมีขนาดเล็กลง อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ เริ่มมีอาการท้องผูกเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อท้องผูก ไม่ถ่ายหลายวัน 

อาการท้องผูกในทางการแพทย์ คือ กลุ่มอาการต่างๆ ดังนี้

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออกหรือต้องเบ่งมากกว่าปกติจึงจะถ่ายออก
  • แน่นท้อง ท้องป่อง รู้สึกอึดอัดเหมือนมีอะไรอุดตันอยู่ในลำไส้ตรง และ รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด
  • ต้องกดนวดหน้าท้องเพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น หรือ ต้องใช้ตัวช่วยในการถ่ายอุจจาระ

ไม่ถ่ายหลายวัน ท้องผูกบ่อย ส่งผลอย่างไรบ้าง?

อาการท้องผูก ไม่ถ่ายหลายวัน รวมถึงปัญหาระบบขับถ่ายนอกจากจะส่งผลให้ท้องอืด แน่นท้อง ผายลมบ่อย และอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น 

  • ปัญหาระบบขับถ่าย ไม่ถ่ายหลายวัน อาจส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้หลายคนรู้สึกเครียด ไม่สดชื่น เบื่ออาหาร ผิวพรรณไม่สดใส เป็นต้น
  • ท้องผูกบ่อยๆ อาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือมีแผลปริรอบทวารหนัก จากการที่ต้องเบ่งอุจจาระที่แห้งแข็งจนทำให้หลอดเลือดฉีกขาดและรู้สึกเจ็บปวดขณะขับถ่ายได้
  • ปัญหาท้องผูกส่งผลให้มีความเสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อนได้ เนื่องจากอาการท้องผูก อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก ซึ่งต้องใช้แรงเบ่งมากขึ้นอาจทำให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้น จนเป็นสาเหตุของโรคไส้เลื่อนได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ จากการที่อาการท้องผูกหลายวัน ส่งผลให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังอาจทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดตาและหูได้
  • การปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรัง ไม่ถ่ายหลายวัน หรือขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจทำให้มีอาการของลำไส้อุดตัน เช่น อึดอัดแน่นท้อง มีอาการปวดท้องมาก ไม่ผายลม และไม่ขับถ่ายจนอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งลำไส้ได้ในที่สุด

วิธีแก้ปัญหาขับถ่ายไม่ออก ไม่ถ่ายหลายวัน 

การแก้ปัญหาขับถ่ายไม่ออก ไม่ถ่ายหลายวัน สามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

1. การปรับพฤติกรรม 

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็น การไม่ขยับร่างกาย การดื่มน้ำน้อย การกลั้นอุจจาระ ฯลฯ ล้วนส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกจนไม่ขับถ่ายเป็นเวลาหลายวัน การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันจะแก้ปัญหาท้องผูกให้ดีขึ้นได้ ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตรต่อวัน เพื่อให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  • การขยับร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน คนป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายอาจมีอาการท้องผูก ขับถ่ายยาก จึงควรหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถหรือทำกายบริหารบ่อยๆ ระหว่างวัน จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้ดีขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้เคลื่อนไหวดีขึ้น ฮอร์โมนมีความสมดุล และระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้นด้วย
  • ขับถ่ายให้เป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายจดจำ และกระตุ้นการขับถ่ายให้เกิดขึ้นเป็นกระจำ ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูกและปัญหาการไม่ขับถ่ายหลายวันได้
  • หลีกเลี่ยงการกลั้นอุจจาระ เพราะจะทำให้อุจจาระแห้งและแข็งขึ้น อีกทั้งการรีบร้อนเบ่งอุจจาระแรงๆ อาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้อีกด้วย

2. การรักษาด้วยยา 

ในกรณีที่ท้องผูกเรื้อรัง โรคลำไส้อุดตัน หรือ รับประทานยาที่อาจส่งผลให้ท้องผูก หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว แต่ยังมีอาการท้องผูกอยู่ แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาระบายเพื่อแก้ปัญหาระบบขับถ่าย โดยยาระบายสามารถแบ่งออกได้หลายกลุ่ม ได้แก่

  • ยาระบายที่ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ (Bulk-forming Laxatives) ซึ่งตัวยาจะช่วยให้อุจจาระเป็นก้อนและนิ่มขึ้น แต่อาจก่อให้เกิดอาการท้องอืดและถ่ายยากตามมา หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ  
  • ยาที่ออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำกลับเข้ามาในลำไส้ (Osmotic Laxatives) เช่น แลคตูโลส (Lactulose) หรือ Milk of Magnesia (MOM) ซึ่งทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น แต่อาจทำให้ท้องอืดได้เช่นกัน
  • ยาที่ช่วยให้อุจจาระนิ่ม (Stool Softener Laxatives) โดยมีส่วนประกอบของน้ำมัน เช่น Arachis Oil ซึ่งจะทำให้อุจจาระนิ่ม ลื่น และ เคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น
  • ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant Laxatives) ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น เช่น มะขามแขก, Bisacodyl แต่หากใช้บ่อยๆ อาจจะก่อให้เกิดอาการดื้อยาหรือท้องผูกเรื้อรัง รวมถึงอาจทำให้โครงสร้างและการทำงานของลำไส้เปลี่ยนไป 
  • ยาระบายแบบสวน เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และทำให้อุจจาระนิ่ม โดยตัวยาชนิดนี้มีส่วนประกอบของน้ำเกลือเข้มข้นที่อาจทำลายเยื่อบุผิวลำไส้ และบางชนิดมีส่วนผสมของโซเดียมฟอสเฟต (Sodium Phosphate) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไต จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังและควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • ยากระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ (Prokinetic drugs) และยาที่กระตุ้นการขับน้ำเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาเป็นรายบุคคล

3. ลดการรับประทานอาหารที่ทำให้ท้องผูก

อาหารที่รับประทานในแต่ละวันเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อระบบขับถ่าย หากรับประทานอาหารประเภท แป้ง ไขมัน รวมถึงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง อาจทำให้ย่อยได้ยากและเกิดอาการท้องผูกได้ เช่น ช็อกโกแลต เนื้อแดง กล้วยดิบ คาเฟอีน ของหวาน ของทอด และ อาหารแปรรูปต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยได้ยากและมีใยอาหารน้อย จึงส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ขับถ่ายยาก และเกิดอาการท้องผูกได้ จึงควรรับประทานแต่พอดีและเพิ่มการรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีใยอาหารสูง และมีจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้เพื่อช่วยให้การย่อยอาหารและการขับถ่ายดียิ่งขึ้น 

ไม่ถ่ายหลายวัน ท้องผูก รักษาด้วยการปรับพฤติกรรม

ท้องผูก ไม่ถ่ายหลายวัน ควรรับประทานอะไรดี?

การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงและช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้จะช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น ขับถ่ายง่าย และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้ดียิ่งขึ้น 

  1. ผักและผลไม้ เป็นอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง จึงควรรับประทานใยอาหารอย่างน้อย 20 – 30 กรัมต่อวัน หรือ ผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม เพื่อช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น โดยผักและผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูง เช่น ผักคะน้า บรอกโคลี ผักกวางตุ้ง ผักโขม รวมถึงผลไม้ที่มีใยอาหารสูงอย่าง ส้ม มะละกอ อโวคาโด ลูกพรุน เบอร์รี แก้วมังกร แอปเปิล (มีเปลือก) เป็นต้น โดยแนะนำให้รับประทานผลไม้แทนการดื่มน้ำผักผลไม้แยกกาก
  2. ธัญพืช การรับประทานธัญพืชและข้าวไม่ขัดสีต่างๆ จะช่วยให้ร่างกายได้รับใยอาหารในแต่ละวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วลันเตา อัลมอนด์ เป็นต้น โดยอาจเลือกรับประทานข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือแทนข้าวขาว การหันมารับประทานขนมปังโฮลวีท หรือเติมถั่วธัญพืชต่างๆ ในอาหารแต่ละมื้อ เช่น หุงข้าวผสมถั่ว หรือโรยธัญพืชลงบนเมนูอาหาร การรับประทานธัญพืชอบแห้งแทนขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
  3. พรีไบโอติก (Prebiotic) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใยอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ แต่จะถูกย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มโพรไบโอติก  พรีไบโอติกจึงเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ช่วยให้แบคทีเรียกลุ่มนี้เจริญเติบโต พบมากใน หัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ผักและผลไม้ต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพรีไบโอติกจากธรรมชาติ
  4. โพรไบโอติก (Probiotic) เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีหรือยีสต์ที่ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรค ช่วยกระตุ้นระบบการย่อยอาหารโดยการสร้างเอนไซม์หลายชนิด ซึ่งโพรไบโอติกนั้นมีด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์และมีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป สำหรับคนที่มีปัญหาท้องผูก ขับถ่ายยาก อาจเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะที่ดีต่อลำไส้ เช่น Lactobacillus acidophilus LA-5 มีหน้าที่รักษาสมดุลของระบบลำไส้และลดการเกิดโรคของระบบทางเดินอาหาร และ Bifidobacterium lactis  BB-12 เป็นโพรไบโอติกที่ทนทานต่อกรดด่างในกระเพาะอาหาร มีชีวิตอยู่ในลำไส้ได้นาน และช่วยป้องกันการเกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้ เป็นต้น โดยโพรไบโอติกมักพบในแหล่งอาหารจาก โยเกิร์ต กะหล่ำปลีดอง กิมจิ ชาหมักคอมบูชา มิโซะ เทมเป้ หรือโพรไบโอติกแบบผง แบบเม็ด หรือแบบเยลลี 

อ่านต่อ : โพรไบโอติก (Probiotics) กับการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค

อาการท้องผูก ไม่ถ่ายหลายวัน นอกจากจะทำให้รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง รวมไปถึงมีกลิ่นปากเหม็นและผิวพรรณไม่สดใสแล้ว หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจอันตรายต่อสุขภาพและนำไปสู่การเกิดโรคที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นหากไม่ถ่ายหลายวัน หรือน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก หรือรู้สึกถึงความผิดปกติในการขับถ่าย ควรเริ่มปรับพฤติกรรมทั้งการรับประทานอาหาร โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง โพรโบโอติก และพรีไบโอติก รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม แล้วสังเกตตนเองว่าปัญหาท้องผูกหรือขับถ่ายยากดีขึ้นหรือไม่ หากยังท้องผูกเรื้อรัง รู้สึกเจ็บปวดขณะขับถ่าย อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน ขนาดของของอุจจาระมีขนาดเล็กผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างตรงจุดต่อไป 

อ้างอิง
  1. https://www.vimut.com/article/Constipation-symptoms-treatments
  2. https://www.vejthani.com/th/2019/10/3-สาเหตุหลักของอาการท้อง/
  3. https://www.nakornthon.com/article/detail/ท้องผูกเรื้อรังลำไส้พังไม่รู้ตัว
  4. https://www.hfocus.org/content/2023/03/27349https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/
  5. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/constipation-treatment
  6. https://www.gpoplanet.com/th/blog/15281/probiotic
อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

ล้างพิษ

โพรไบโอติก (Probiotic) มิตรแท้ระบบทางเดินอาหาร

ระบบย่อยอาหาร

‘โปรไบโอติกส์’ (Probiotics) จุลินทรีย์ชนิดดีกับการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค

ทั้งหมด

'ท้องอืด' บรรเทาด้วย 3 สมุนไพรจากธรรมชาติ