Search

โรคตับ ปัญหาสุขภาพที่ต้องใส่ใจ

โรคตับ
โรคตับ

ตับ (Liver) คือหนึ่งในอวัยวะภายในร่างกายที่มีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวม เพราะนอกจากจะเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายแล้ว ยังทำหน้าที่ขจัดสารพิษออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค และกำจัดเชื้อโรคต่างๆ ออกจากเลือด นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว ตลอดจนสร้างน้ำดีที่ช่วยการดูดซึมไขมันและวิตามินชนิดละลายในน้ำมันควบคุมสภาพร่างกายให้เป็นปกติ

สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคตับ

การเกิด โรคตับ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็สามารถพัฒนาไปสู่โรคร้ายที่เกิดกับตับได้ เช่น

1. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ

สารพิษที่อยู่ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ หากดื่มในปริมาณมากเป็นประจำมีโอกาสทำให้ตับอักเสบ และเรื้อรังจนเป็นตับแข็งโดยสาเหตุของโรคตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ผู้เชี่ยวชาญสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 : ไขมันสะสมในตับ (Alcoholic Fatty Liver) ระยะนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ การตรวจร่างกายอาจพบว่าตับมีขนาดใหญ่ ผิวเรียบ แต่กดไม่เจ็บ การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย หากหยุดดื่มสุราตับจะสามารถกลับเป็นปกติได้
  • ระยะที่ 2 : ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Hepatitis) ระยะนี้จะเริ่มมีอาการจุกแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา หรือมีอาการดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง) การตรวจร่างกายมักพบว่าตับมีขนาดใหญ่ กดเจ็บ เนื้อของตับเริ่มจะแข็งขึ้น เมื่อตรวจเลือดจะพบความผิดปกติของตับอย่างชัดเจน
  • ระยะที่ 3 : ตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Cirrhosis) ในระยะนี้จะเกิดพังผืดในเนื้อตับ ทำให้ตับมีลักษณะผิวไม่เรียบ ขรุขระ เป็นก้อน มีอาการดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง) ท้องมาน หรืออาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก และมีโอกาสที่ตับจะมีการเสียหายอย่างถาวรไม่สามารถกลับเป็นตับปกติได้อีก

2. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีเรื้อรัง

การติดเชื้อและไม่ได้ทำการรักษา เสี่ยงทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับ โดยโรคตับอักเสบที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสพบได้บ่อย รองจากสาเหตุของการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยมีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบที่พบบ่อยคือ เชื้อไวรัสชนิดเอ และชนิดบี

  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากการรับเชื้อเข้าไปทางปากผ่านการรับประทานอาหาร เช่น อาหาร ผัดสด ผลไม้ น้ำดื่มที่ปนเปื้อน
  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อจากคนสู่คน พบเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม เป็นต้น ติดต่อผ่านทางทางเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะ หรือทารกติดจากมารดาระหว่างคลอด ระยะฟักตัวของเชื้อนี้อยู่ที่ 60-90 วัน และ 90% ของคนที่ป่วยจากตับอักเสบเฉียบพลันที่มาจากไวรัสชนิดนี้มีโอกาสที่จะหายเป็นปกติ แต่ส่วนหนึ่งก็มีโอกาสป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ และคนที่เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่า

3. ไขมันที่สะสมในตับ

สาเหตุนี้เกิดจากภาวะที่มีไขมันสะสมที่ตับเป็นจำนวนมาก อาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็งได้ ซึ่งอาจพบร่วมกับโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคอ้วน หรือในคนปกติก็ได้ ซึ่งเป็นภาวะของโรคตับที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของภาวะไขมันพอกตับ โดยเป็นภาวะที่มีไขมันไปสะสมแทรกอยู่ในเซลล์ตับ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไขมันสะสมในตับก็คือ ภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไตรกลีเซอร์ไรด์ (triglyceride) และเบาหวาน จากสถิติทางการแพทย์ระบุว่า 5-8% ของคนที่เป็นโรคไขมันพอกตับมีโอกาสจะกลายเป็นตับอักเสบ และตับแข็งได้ในอนาคต

4. การรับประทานยาบางชนิดเป็นระยะเวลานาน

โดยเฉพาะยาแก้ปวดพาราเซตามอล ที่มีส่วนกระตุ้นทำให้ตับทำงานหนัก และมีโอกาสเกิดการอักเสบ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการกำจัดยาออกจากร่างกาย โดยปกติเมื่อได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ตับจะทำหน้าที่ผลิตเอ็นไซม์ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับยา และกำจัดส่วนที่เหลือออกจากร่างกาย แต่หากร่างกายได้รับยาบางชนิดในปริมาณสูง หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ตับก็จะไม่สามารถกำจัดได้ทันจนเหลือเป็นส่วนเกินและเข้าไปทำลายเนื้อตับ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับจนกลายเป็นภาวะตับวายได้

5. การได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ

เมื่อร่างกายได้รับสารเคมีบางชนิด เช่น สารหนู ยาฆ่าแมลง สารพิษ (อัลฟ่าทอกซิน) มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ เนื่องจากตับต้องทำงานหนักในการขับสารพิษเหล่านี้ออกจากร่างกาย ซึ่งคนในยุคปัจจุบันมีโอกาสได้รับสารพิษเหล่านี้มาจากการปนเปื้อนในผักผลไม้ พริกป่น หรือถั่วลิสง และรับประทานเข้าไป

วิธีป้องกันการเกิด โรคตับ

  1. จำกัดปริมาณในการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสูบบุหรี่
  2. ไม่กินยามากเกินจำเป็น เพื่อเป็นการลดผลข้างเคียงที่จะเกิดกับตับ และก่อนจะกินยาใดๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
  3. งดรับประทานปลาดิบ (โดยเฉพาะปลาน้ำจืด) เพื่อป้องกันพยาธิใบไม้ในตับ หรือลดปริมาณในการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ และหลีกเลี่ยงอาหารซึ่งจะมีโอกาสปนเปื้อนของสารพิษ เช่น พริกป่น ถั่วลิสง รวมทั้งล้างผักผลไม้ก่อนรับประทานให้สะอาด
  4. ลดการรับประทานอาหารทอด อาหารมัน เพื่อป้องกันโรคอ้วน เพื่อเป็นการลดการสะสมของไขมันในตับ
  5. สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ

การดูแลตับให้แข็งแรงด้วยสารอาหารที่สำคัญ

นอกจากวิธีการดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคตับแล้ว ในปัจจุบันการเสริมสารอาหารสำคัญที่ช่วยดูแลและบำรุงตับให้แข็งแรงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งสารอาหารที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิตามิน และอาหารเสริมแนะนำเพื่อใช้ในการดูแลตับ ได้แก่

1. สารสกัดจากรากต้นแดนดีเลี่ยน (Dandelion Root Extract)      

เป็นสารอาหารที่ช่วยขจัดสารพิษจากตับและถุงน้ำดี ลดผลข้างเคียงจากยาที่ถูกทำลายที่ตับ เพิ่มการไหลเวียนของน้ำดี เสริมการทำงานของตับให้หลั่งน้ำดีได้มากขึ้น และยังช่วยให้การย่อยอาหารประเภทไขมันได้ดีขึ้น

2. สารสกัดจากแอปเปิ้ล (Apple Vinegar)       

ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นหลายชนิด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาผลาญสารอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน และยังช่วยปรับสมดุลกรดด่างในลำไส้

3. แอล-เมทไธไอนีน (L-methionine) 

เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถจับกับโลหะหนักที่เป็นพิษต่อตับได้ดี ช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดกับตับจากการใช้ยาบางชนิดได้ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน และสารที่จำเป็นต่อกระบวนการขจัดพิษของตับ เช่น กลูตาไธโอน

4. ซีลีเนียม (Selenium)       

อีกหนึ่งสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพในการต้านพิษจากโลหะหนัก มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง และต้านภาวะไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือดได้ และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอ็นไซม์ขจัดสารพิษของตับได้

5. บริเวอร์ยีสต์ (Brewer’s Yeast Extract)

อุดมไปด้วยสารอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินบี โครเมียม และซีลีเนียม ที่มีประโยชนต่อกระบวนการเผาผลาญที่ตับ

6. น้ำมันอีฟนิ่งพรีมโรส (Evening Primrose Oil)              

น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสเป็นสารต้านอักเสบ ช่วยลดไขมันในเลือด สารสำคัญ (EPO) GLA ใน EPO ยังช่วยจับกับแอลกอฮอล์ จึงช่วยลดภาระ และป้องกันความเสียหายของตับได้

7. อิโนซิทอล (Inositol)         

มีฤทธิ์ในการจับกับไขมัน จึงช่วยนำไขมันออกจากตับได้ ทำให้การทำงานของตับ และท่อน้ำดีทำงานดีขึ้นส่งผลดีต่อผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ และโรคตับแข็ง

8.  โคลีน (Choline)

ช่วยป้องกันความเสียหายของตับ และช่วยในขบวนการขนส่งไขมันออกจากตับ รวมถึงช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลที่ลำไส้ จึงช่วยลดความรุนแรงของภาวะไขมันพอกตับได้

9.  เลซิติน (Lecithin)                            

สารประกอบระหว่างกรดไขมันจำเป็น ฟอสฟอรัส และวิตามินบี 2 ตัว ได้แก่ โคลีน (Choline) และอิโนซิทอล (Inositol) ช่วยควบคุมกระบวนการต่างๆ ภายในเซลล์ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานดีขึ้น โดยเฉพาะ เซลล์ตับ ซึ่งสารสำคัญในเลซิตินจะช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดความผิดปกติของตับ ทั้งจากการดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาเกินความจำเป็น การได้รับสารเคมีหรือสารพิษต่างๆ ที่เข้าสู่ตับ และช่วยป้องกันตับถูกทำลาย

10.   วิตามินอี (Vitamin E) 

เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์มาเป็นเวลานาน ช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ ไม่ให้ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังช่วยกำจัดไขมันชนิดร้ายออกจากร่างกาย จึงลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันพอกตับ และความเสียหายของตับจากการได้รับสารพิษหรืออนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกาย

อ้างอิง

-

อัลบั้มภาพ

ข่าวสุขภาพอื่นๆ

โรคตับ

ดูแลสุขภาพ ‘ตับ’ ให้แข็งแรงด้วยสารอาหารที่สำคัญ

บำรุงตับ

เสริมสร้างความแข็งแรงให้ 'ตับ' เพื่อสุขภาพที่ดี

บำรุงตับ

อ่านแล้วรู้ทันที... อะไรคือสารอาหารที่ดีสำหรับตับของคุณ