หลายคนอาจกำลังประสบปัญหา ‘ท้องผูก’ หลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม หรือ แคลเซียมคาร์บอเนต ที่เป็นเม็ดสำหรับใช้เสริมแคลเซียมในผู้ที่ขาดแคลเซียม เช่น ผู้ป่วยพาราไทรอยด์ต่ำชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ผู้หญิงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน และ มีความผิดปกติของกระดูก ซึ่งปัญหาท้องผูกหลังจากรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตไปแล้วระยะหนึ่งนั้น อาจเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ทั้งหมด ทำให้เกิดการตกค้างในลำไส้มากขึ้น และรบกวนระบบทางเดินอาหารจนรู้สึกไม่สบายตัว ท้องอืด หรือ มีอาการแน่นท้อง ท้องผูกได้นั่นเอง ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหานี้ สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงรู้จักวิธีรับประทานแคลเซียมที่ถูกต้อง
รู้จัก แคลเซียมคาร์บอเนต คืออะไร
แคลเซียมคาร์บอเนต หรือ Calcium Carbonate คือ ยาเม็ดที่ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาภาวะขาดแคลเซียมหรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนหรือบำรุงกระดูก โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ คุณแม่ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
อ่านต่อ : แคลเซียม กับประโยชน์ที่ควรรู้
แคลเซียมคาร์บอเนต ทำให้ท้องผูกได้อย่างไร
เนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์ของแคลเซียมคาร์บอเนตนั้น หลังรับประทานแล้วจะไปทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหารและเกิดเป็นสารประกอบแคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride) ที่ละลายน้ำได้ดีก่อนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งร่างกายของเรานั้นสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ประมาณ 10% ในขณะที่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดแคลเซียมคาร์บอเนตนั้นส่วนใหญ่มีแคลเซียมอยู่ประมาณ 40% โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร เช่น ผู้สูงอายุที่มีกรดในกระเพาะอาหารน้อยหรือผู้ที่รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารเป็นประจำ จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีเท่าที่ควรและตกค้างในลำไส้ หากปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือมีอาการท้องผูกได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูก ท้องอืด หรือแน่นท้องที่ไม่รุนแรงจากการรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตนั้นไม่จำเป็นต้องหยุดรับประทาน แต่สามารถปรับเปลี่ยนการรับประทานและการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันให้สามารถขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
วิธีรับประทานแคลเซียม ให้ดูดซึมง่าย ได้ประโยชน์เยอะ
หลายคนที่รับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตอาจมีอาการท้องผูกตามมา สามารถแก้ปัญหาได้ง่ายๆ ดังนี้
- ปริมาณแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
หากเสริมแคลเซียมในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดเม็ด จะมีปริมาณแคลเซียมประมาณ 40% เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต 1,000 มิลลิกรัม จะมีแร่ธาตุแคลเซียม 400 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะกับความต้องการในแต่ละวัน ได้แก่
– เด็กที่อายุไม่เกิน 3 ปี ต้องการแคลเซียม 400-800 มิลลิกรัม/วัน
– เด็กอายุระหว่าง 3-10 ปี ต้องการแคลเซียม 800 มิลลิกรัม/วัน
– วัยรุ่นและผู้ใหญ่ ต้องการแคลเซียม 800-1,000 มิลลิกรัม/วัน
– คุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่หลังคลอดหรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ต้องการแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัม/วัน
– ผู้หญิงวัยทอง/วัยหมดประจำเดือน ต้องการแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัม/วัน
– ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน ต้องการแคลเซียม 1,000-1,200 มิลลิกรัม/วัน
– ผู้ชายอายุ 55 ปีขึ้นไปที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ต้องการแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
– ผู้ที่แพ้กลูเตน ต้องการแคลเซียมอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
โดยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมนั้น ควรแบ่งรับประทานครั้งละ 600-800 มิลลิกรัม ร่างกายจะดูดซึมได้ดีกว่ารับประทานปริมาณมากในครั้งเดียว
- ลดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารรสจัด เครื่องปรุงรส เครื่องจิ้ม เนื้อสัตว์อาหารแปรรูป ของหมักดอง รวมถึงอาหารที่ใช้ผงฟูหรือสารกันบูดเป็นส่วนประกอบ เช่น เบเกอรี่ ซาลาเปา อาหารกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูป เพราะอาจทำให้สูญเสียแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
- เสริมวิตามินดี (Vitamin D) เพื่อให้สามารถดูดซึมแคลเซียมผ่านลำไส้เล็กได้มากขึ้น โดยแหล่งวิตามินดีส่วนใหญ่มาจากแสงแดดอ่อนๆ และ การรับประทานอาหาร เช่น ปลาทะเลน้ำลึก น้ำมันตับปลา ไข่แดง ตับ หรือ วิตามินดีในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
- รับประทานใยอาหารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณของเสียและเคลื่อนตัวไปตามลำไส้ได้ง่ายขึ้น ช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ง่ายต่อการขับถ่าย รวมถึงทำให้การทำงานของลำไส้และการขับถ่ายเป็นปกติ
- รับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดเม็ด พร้อมกับน้ำหรือน้ำผลไม้หนึ่งแก้วเต็ม เพื่อช่วยในการละลายและการดูดซึม รวมถึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน หรืออย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อลดอาการท้องผูกและช่วยให้การขับถ่ายง่ายขึ้น
- รับประทานแคลเซียมพร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหาร 1-1.5 ชั่วโมง เนื่องจากกระเพาะอาหารจะมีสภาพเป็นกรด จึงช่วยทำให้แคลเซียมคาร์บอเนตแตกตัว ละลายน้ำได้ดีและสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์
คำแนะนำสำหรับการรับประทานแคลเซียม
การรับประทานแคลเซียมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรลดปัจจัยที่อาจขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมด้วย ได้แก่
- ไม่ควรรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาชนิดอื่นใน 1–2 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ยาอื่นออกฤทธิ์ไม่ได้เต็มที่
- ไม่ควรรับประทานยาหรืออาหารเสริม ที่มีปริมาณแคลเซียม ฟอสเฟต แมกนีเซียม หรือ วิตามินดีที่มีปริมาณสูง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน
- หากลืมรับประทานแคลเซียม ให้รับประทานทันที หรือ ข้ามไปรับประทานครั้งต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณทดแทน
- การรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนตในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรคำนึงถึงปริมาณและชนิดของแคลเซียมในผลิตภัณฑ์ หากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนรับประทาน
.
การรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) มีประโยชน์ในการบำรุงกระดูกและชดเชยแคลเซียมในผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในร่างกายต่ำ ซึ่งอาการท้องผูกที่ตามมานั้นสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการรับประทานแคลเซียมอย่างถูกวิธีในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งนี้ควรเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียมคาร์บอเนตที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์การอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย โดยก่อนรับประทานควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร